เลือกตั้งอบต. 2564 กับการหาเสียงโดยใช้โซเชียลมีเดีย เช็คเลย

15 ต.ค. 2564 | 00:00 น.

เลือกตั้งอบต. 2564 เปิดวิธีหาเสียงผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย "ผู้สมัคร ส.อบต-นายก อบต." ไม่ผิดกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นต้องทำอย่างไร ที่นี่มีคำตอบ

ฐานเศรษฐกิจ เกาะติดการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นต่อเนื่องโดยระหว่างวันที่ 11-15 ตุลาคม 2564 กกต.เปิดรับสมัครผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล และ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ก่อนจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564  

สำหรับวันนี้จะพาไปดูขั้นตอนและวิธีการหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นในส่วนของการหาเสียงโดยใช้สื่อโซเชียลมีเดีย หรือ วิธีการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์กัน   

จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เผยแพร่วิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเอาไว้ มีเนื้อหาสรุปได้ ดังนี้ 

การหาเสียงเลือกตั้ง หมายถึง การแสวงหาคะแนนนิยมจากประชาชนหรือสมาชิกจากชุมชนเพื่อให้ลงคะแนนให้แก่ตนเอง หรือผู้สมัครอื่น 

การหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ คือ การหาเสียงเลือกตั้งที่กระทำขึ้นโดยผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด หรือแต่บางส่วน หรือการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ หรือเพื่อหาเสียงเลือกตั้งตามที่กฎหมายกำหนดโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่แก่ประชาชนโดยทั่วไป 

ผู้ช่วยหาเสียง

หมายความว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้รับการว่าจ้างจากผู้สมัครให้เข้าร่วมกิจกรรมในการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้ง ตลอดระยะเวลาหรือช่วงระยะเวลาหนึ่งและเป็นบุคคล ที่ได้แจ้งรายละเอียด หน้าที่และค่าตอบแทนต่อ สนง.กกต.จว. ยกเว้น บุคคลในครอบครัว ได้แก่ สามี ภริยา หรือบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย 

ทั้งนี้ ผู้สมัครที่ประสงค์จะมีผู้ช่วยหาเสียง ให้ผู้สมัครแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ช่วยหาเสียง หน้าที่และค่าตอบแทนผู้ช่วยหาเสียง รวมทั้งหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง ตามแบบที่กำหนด โดยแจ้งให้ ผอ.สนง.กกต.จว.ทราบก่อนวันดำเนินการ

นอกจากนี้ผู้สมัครสามารถจัดหา เสื้อผ้า สิ่งของ เลี้ยงอาหารหรือเครื่องดื่ม สำหรับผู้ช่วยหาเสียงและให้ผู้สมัครต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้ช่วยหาเสียงที่ได้ช่วยเหลือในการหาเสียงเลือกตั้งตามอัตรค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 

การแจ้งเปลี่ยนตัวผู้ช่วยหาเสียงให้ผู้สมัครแจ้งได้ไม่เกิน 3 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 1 ใน 3 ของจำนวนผู้ช่วยหาเสียงในการเลือกตั้งนั้น 

ผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใด สามารถใช้วิธีการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ด้วยตนเองหรือมอบ หรือว่าจ้างบุคคลดำเนินการแทนด้วยวิธีการ ดังต่อไปนี้ 

  • เว็บไซต์
  • โซเชียลมีเดีย
  • ยูทูป
  • แอปพลิเคชัน
  • อีเมล
  • เอสเอ็มเอส
  • ไลน์
  • เฟซบุ๊ก
  • ทริตเตอร์
  • อินสตราแกรม
  • สื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ทุกประเภท 

การหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์

1.ผู้สมัคร พรรคการเมือง ผู้ใด สามารถระบุชื่อ รูปถ่าย หมายเลขประจำตัวผู้สมัคร สัญลักษณ์ นโยบาย คติพจน์ คำขวัญ ข้อมูลประวัติ พร้อมระบุ ชื่อสกุล ที่อยู่ของผู้ว่าจ้าง ผู้ผลิต จำนวน และวัน เดือน ปี ที่ผลิตไว้บริเวณที่เห็นชัดเจน 

 

2.ให้ผู้สมัครแจ้งวิธีการ รายละเอียด ช่องทางระยะเวลาในการหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องตามแบบที่กำหนดให้ ผอ.สนง.กกต.จว.ทราบก่อนดำเนินการหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์

3.บุคคลที่มิใช่ผู้สมัครใช้จ่ายในการหาเสียงโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เกิน 5,000 บาท ให้ผู้นั้นแจ้งให้ผู้สมัครทราบเพื่อรวมเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง

4.ผู้สมัครผู้ใดยินยอมหรือไม่คัดค้านการใช้จ่ายในการหาเสียงโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ของบุคคคที่มิได้เป็นผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง ให้นับรวมรายการใช้จ่ายดังกล่าว เป็นค่าใช้จ่ายของผู้สมัครนั้นด้วย 

เลือกตั้งอบต. 2564 กับการหาเสียงโดยใช้โซเชียลมีเดีย เช็คเลย