โหวตแก้รัฐธรรมนุญ วาระสาม 84 เสียงส.ว.ชี้ขาดเลือกตั้งบัตร 2 ใบ

10 ก.ย. 2564 | 00:09 น.

โหวตแก้รธน.วาระ3 84 เสียงส.ว.ชี้ขาด เลือกตั้งบัตร 2 ใบ : รายงาน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,712 หน้า 10 วันที่ 9 - 11 กันยายน 2564

ในวันศุกร์ที่ 10 ก.ย. 2564 เวลา 09.00 น. นี้ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้นัดประชุมร่วมระหว่าง ส.ส.กับ ส.ว. (สมาชิกวุฒิสภา) เพื่อโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในประเด็นเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบ

 

ตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม. 83 และ ม. 91 ดังกล่าว กำหนดให้มี ส.ส. 500 คน มาจาก ส.ส. เขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน จากเดิมที่ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว เลือกส.ส.เขต 350 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน 

 

ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ฝ่ายรัฐบาล โดยพรรคใหญ่ทั้ง พลังประชารัฐ (118 เสียง) ประชาธิปัตย์ (48 เสียง) สนับสนุนเลือกตั้งบัตร 2 ใบ ขณะที่พรรคใหญ่สุดของฝ่ายค้านคือ พรรคเพื่อไทย (134 เสียง) ก็เอาด้วย ทำให้คาดว่า “เสียง ส.ส.” คงไม่มีปัญหาในการโหวตผ่าน วาระ 3 

 

แต่ที่ต้องลุ้นเสียง ของ “ส.ว.” จะโหวตให้ผ่านหรือไม่ แม้ในวาระแรกจะให้การสนับสนุนก็ตาม

 

สำหรับเงื่อนไขการโหวตผ่านวาระ 3 ตามรัฐธรรมนูญ  มาตรา 256 กำหนด ให้ต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกของรัฐสภา ซึ่งปัจจุบันมีรวมกัน 732 คน (ส.ส.482 + ส.ว.250) คือ 367 เสียง

 

โดยจำนวนเสียงเห็นชอบยังต้องประกอบด้วย เสียงส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว.ที่มี หรือ 84 เสียง

 

ขณะเดียวกัน ยังต้องมีเสียงเห็นชอบจาก ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน และพรรคที่ไม่มีบุคคลดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี หรือประมุขของสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่า 20% ของสมาชิกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน หรือ 45 คน

 

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.ในฐานะอดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2558 ออกมาตั้งข้อสังเกตต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยระบบเลือกตั้งครั้งนี้ว่า  พันธมิตรใหญ่ระหว่างพรรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน กำลังปรองดองเพื่อกินรวบประเทศหรืออย่างไร เพราะไม่กี่วันจะลงมติวาระ 3  แก้รัฐธรรมนูญให้กลับไปใช้ระบบที่ก่อวิกฤติิเมื่อ 16 ปีที่แล้ว 

 

ร่างรัฐธรรมนูญที่มีโอกาสร่วมยกร่างกับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มี นายบวรศักดิ์อุวรรณโณ เป็นประธาน ที่กำหนดให้มีระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วน ผสม มีบัตร 2 ใบ เลือกส.ส.เขต 300 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150-170 คน หรือที่รู้จักกันว่าเป็นระบบ MMP : Mixed-member proportional ซึ่งถูกสภาปฏิรูปแห่งชาติลงมติให้ตกไป ไม่มีโอกาสนำมาใช้ เพื่อแก้วิกฤติิอันเกิดจากระบบเลือกตั้งสมนาคุณพรรคใหญ่ที่ใช้ในรัฐธรรมนูญ 2540

 

โหวตแก้รัฐธรรมนุญ วาระสาม  84 เสียงส.ว.ชี้ขาดเลือกตั้งบัตร 2 ใบ

 

“ในอีกไม่กี่วันนี้ กลับจะมีการลงมติวาระ 3 แก้รัฐธรรมนูญกลับไปใช้ระบบที่ก่อให้เกิดวิกฤติิมาเมื่อ 16 ปีที่แล้วอีก พันธมิตรใหม่ระหว่างพรรคใหญ่ฟากรัฐบาลกับฟากพรรคฝ่ายค้าน จะนำบ้านเมืองไปสู่ทิศใด หลังเลือกตั้งระบบเหล้าเก่าในขวดใหม่ ปรองดองกัน กินรวบประเทศหรืออย่างไร” นายคำนูณ ระบุ

 

ขณะที่สมาชิกวุฒิสภาอีกคน นายวันชัย สอนศิริ กล่าวถึงการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวาระ 3 ว่า หลังโหวตวาระ 2 ส.ว. ได้หารือกันโดยตลอด เห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นเรื่องของพรรคการเมือง นักการเมืองล้วนๆ ในมุมความได้เปรียบทางการเมืองและอำนาจ โดยไม่ได้เป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งมีการหารือระหว่างส.ว.จำนวนมาก ในทำนองว่าจะ “รับ-ไม่รับร่าง” โดยในวันที่ 9 กันยายน จะมี ส.ว.บางกลุ่มหารือเพื่อให้ได้ความชัดเจน 

 

“มีสัญญาณบางอย่างที่บ่งชี้ว่า อาจจะไม่รับร่างฯ ก็ได้ ซึ่งต้องดูต่อไป เพราะแต่ละวันมีความเปลี่ยนแปลงได้ จนถึงเวลาโหวต” นายวันชัย ระบุ และยํ้าว่า มีสัญญาณไม่ปกติของกลุ่ม ส.ว. จึงไม่ขอยืนยันว่าวาระ 3 จะผ่านหรือไม่ แต่เชื่อว่า ส.ว.จะตัดสินใจยืนข้างประชาชน

 

ส.ว.ผู้นี้ ระบุด้วยว่า การโหวตไว้วางใจ หรือ ไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ของสภาผู้แทนราษฎร หรือ ปัญหาคลื่นใต้นํ้าในพรรคพลังประชารัฐนั้น ไม่เกี่ยวกับการโหวตแก้รัฐธรรมนูญ เพียงแต่สะท้อนบางสิ่งที่เกิดแรงกะเพื่อม ทางการเมือง และเชื่อว่าการแก้รัฐธรรมนูญของพรรคการเมือง มีผลเปลี่ยนแปลงต่อการโหวต

 

นายวันชัย ยังปฏิเสธข้อสังเกตสัญญาณสั่งควํ่ารัฐธรรมนูญวาระ 3 จากฝ่ายการเมือง แต่เป็นสัญญาณชัดจาก ส.ว.ที่คุยกัน และหาก ส.ว.ที่ให้ความเห็นชอบวาระ 2 มาแล้ว หากวาระ 3 เปลี่ยนใจไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จะตอบคำถามสังคมได้ แต่จะตอบแบบไหนอย่างไร เป็นเรื่องของแต่ละคน 

 

“แม้รัฐสภาจะผ่านร่างรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ไปได้ แต่อาจจะไม่ได้ทันใช้ เพราะมีกระบวนการทูลเกล้าฯ การยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ การทำกฎหมายลูกใช้เวลา 60 วัน และการเมืองเปลี่ยนช่วงนี้แรงพอสมควร” นายวันชัย ต้องข้อสังเกต

 

ระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบ จะเกิดขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ 84 เสียงของ ส.ว. 

 

และการลงมติของส.ว.สัญญาณจาก “นายกฯ” มีผลต่อการตัดสินใจแน่นอน 

 

ว่าแต่จะ “ให้ผ่าน” หรือ “ควํ่า” เท่านั้นเอง