แถลงการณ์ "พรรคเพื่อไทย" ค้าน "ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน"

15 ต.ค. 2563 | 06:50 น.

พรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์ ค้านการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่สลายการชุมนุม ของม็อบ 14 ตุลา ของกลุ่มคณะราษฎร

วันที่ 15 ตุลาคม 2563 หลังปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ "สลายการชุมนุม" ของม็อบ 14 ตุลา หรือ กลุ่มคณะราษฎร 2563 เมื่อช่วงเช้ามืดที่ผ่านมา

 

ล่าสุด พรรคเพื่อไทย ได้ออกแถลงการณ์ถึงกรณีดังกล่าว ระบุว่า 

 

ตามที่กลุ่มนักศึกษาและประชาชนในนามของ “คณะราษฎร 2563” ได้จัดการชุมนุมขึ้นเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ณ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แล้วเคลื่อนขบวนมาตามถนนราชดำเนิน จนกระทั่ง ได้รวมตัวกันชุมนุมบริเวณโดยรอบของทำเนียบรัฐบาล 

 

ตลอดระยะเวลาการชุมนุมจะเห็นได้ว่า เป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งเวลาประมาณ 01.00 น. ของวันที่ 15 ตุลาคม 2563 แกนนำผู้ชุมนุมได้ประกาศยุติการชุมนุมและขอให้ผู้ชุมนุมแยกย้ายกลับภูมิลำเนาในเวลา 06.00 น. ระหว่างนั้นผู้ชุมนุมก็มิได้มีการก่อความวุ่นวายหรือกระทำการใดอันเป็นการก่อความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นภายในราชอาณาจักร 

 

แต่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับใช้อำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ต่อมาไม่นานเจ้าหน้าที่ได้ใช้กำลังเข้าสลายการณ์ชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร 2563 และจับกุมผู้ร่วมชุมนุมไปจำนวนมากนั้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เกาะติด "ม็อบ 14 ตุลา" ชุมนุม คณะราษฎร 2563 ได้ที่นี่

นายกฯ "ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ" ในพื้นที่กทม.

แถลงการณ์ คณะก้าวหน้า

“ก้าวไกล” ออกแถลงการณ์ “ชาติ คือ ประชาชน”

 

พรรคเพื่อไทย เห็นว่า การออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง จึงไม่ได้ดำเนินการด้วยความเป็นธรรมเสมอภาค ทั้งข้ออ้างในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมีความร้ายแรงของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมดังกล่าว ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ชอบธรรม กล่าวคือ

แถลงการณ์ "พรรคเพื่อไทย" ค้าน "ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน"

1. การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น จะต้องมีสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการก่อการร้าย การใช้กำลังประทุษร้ายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน หรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรง กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐ หรือบุคคลและมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้ยุติอย่างมีประสิทธิภาพ และทันท่วงที แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ว่า ไม่มีสถานการณ์ใดที่จะเข้าเหตุของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงใดๆ เลย

 

2. ข้ออ้างที่ว่า มีการปลุกระดมให้มีการชุมนุมสาธารณะโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะนั้น คงหมายถึงการไม่ได้ขออนุญาตจัดชุมนุมและการชุมนุมในบริเวณทำเนียบรัฐบาลซึ่งเป็นสถานที่ต้องห้ามเท่านั้น หากจะมีความผิดก็เป็นความผิดอาญาตามกฎหมายปกติ ซึ่งมีกำหนดโทษเล็กน้อย และเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปกติของการจัดชุมนุม และการจัดชุมนุมก็ไม่ได้ก่อให้เกิดความปั่นป่วน วุ่นวาย และความไม่สงบเรียบร้อยของประชาชน ไม่มีการกระทำใดที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐ หรือประชาชน อีกทั้งได้มีการประกาศยุติการชุมนุมไปแล้ว

3. ข้ออ้างเรื่องผลกระทบต่อสัมฤทธิผลของมาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 นั้น เป็นข้ออ้างที่ไม่สมเหตุสมผล เพราะการชุมนุมได้เกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้ว ผู้ชุมนุมแต่ละคนต่างก็ป้องกันตนเอง และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการติดเชื้อโควิด-19 จากในที่ชุมนุม หากจะใช้มาตรการบังคับก็มีกฎหมายควบคุมโรคติดต่ออยู่แล้ว

 

4. การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม ไม่ว่าจะเรียกว่าอย่างไร ก็ถือเป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบธรรมและเป็นไปโดยไม่สุจริต และเกินสมควรแก่เหตุ เพราะผู้ชุมนุมได้ประกาศให้ยุติการชุมนุมแล้ว เพียงแต่เป็นเวลาวิกาลจึงนอนพักเพื่อรอรุ่งสางก็จะแยกย้ายกลับภูมิลำเนาเท่านั้น

 

ดังนั้น พรรคเพื่อไทยจึงขอแถลงการณ์เรียกร้องมายังพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และเจ้าหน้าที่ ของรัฐให้ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และหยุดการใช้อำนาจคุกคามประชาชน ในทุกรูปแบบ และปล่อยตัวผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมทันที

 

จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

พรรคเพื่อไทย

15 ตุลาคม 2563

แถลงการณ์พรรคเพื่อไทย