จับตา“บอร์ด อสมท”นัดประชุมพรุ่งนี้

29 มิ.ย. 2563 | 10:39 น.

จับตา“บอร์ด อสมท”นัดประชุมพรุ่งนี้ (30 มิ.ย.) หลังสหภาพฯร้อง3หน่วยงานตรวจสอบผู้บริหาร อสมท เสนอแบ่งเงินเยียวยาคลื่น 2600ครึ่งหนึ่งให้เอกชน

ตัวแทนสหภาพฯ.อสมท ยื่นหนังสือที่สคร.

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุม"บอร์ด อสมท" ในประเด็นปัญหาความขัดแย้งเรื่องเงินเยียวยาคลื่น 2600 ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ ( 30 มิถุนายน  2563) ภายหลังจากที่มีกรรมการที่ไม่เห็นด้วยกับการที่นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท ได้ทำหนังสือ นร.6100/1250 ลงวันที่ 4 มิ.ย. 2563 ดังกล่าวไปถึง กสทช โดยให้เหตุผลว่าเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ ไม่เป็นไปตามข้อบังคับและระเบียบของ บมจ.อสมท และกระทำการโดยไม่ปกป้องผลประโยชน์ของบมจ.อสมทและผู้ถือหุ้น  ส่งผลให้ "บอร์ด อสมท" ยื่นหนังสือลาออกแล้ว จนถึงขณะนี้รวม 4 คน ได้แก่

 

ศาสตราจารย์ปาริชาติ สถาปิตานนท์ กรรมการอิสระ
นายพิเศษ  จียาศักดิ์ กรรมการอิสระ
นายมนตรี แสงหิรัญ กรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบ
นายธนาวัฒน์  สังข์ทอง กรรมการอิสระ ซึ่งเป็นรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

 

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัท อสมท ปัจจุบันมีจำนวนเหลืออยู่ 8 คนได้แก่ 1. พลตำรวจโทจตุพล ปานรักษาประธานกรรมการและกรรมการอิสระ
2.นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่
3.นายบุญสน เจนชัยมหกุล กรรมการ และกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดี
4.นายสมหมาย ลักขณานุรักษ์  กรรมการ
5.นางภัทรพร  วรทรัพย์  กรรมการ และกรรมการสรรหา
6.นายสุวิทย์ นาคพีระยุทธ กรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบ
7.นางรัชดาภรณ์ ราชเทวินทร์ กรรมการอิสระและประธานกรรมการตรวจสอบ
8. นายมารุต บูรณะเศรษฐกุล กรรมการอิสระ

 

มีรายงานว่าในกรรมการ อสมท 8 คนดังกล่าว ขณะนี้เหลือกรรมการเสียงข้างน้อย 2 เสียงที่ไม่เห็นด้วยกับการแบ่งเงินเยียวยาจำนวนแบ่งครึ่งเท่าๆกันระหว่างอสมท และบริษัทเพลย์เวิร์ค ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.ระบุว่ามติกสทช.มีมติรับทราบหนังสือของอสมท แต่การแบ่งเงินเยียวยาให้เอกชนอย่างไรเป็นเรื่องของอสมทเอง หากไม่เห็นด้วยกับมติเงินเยียวยา 3235 ล้านบาท ให้อสมท ฟ้องร้องศาลปกครองได้

 


 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงบ่ายวันนี้( 29 มิถุนายน 2563 )สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.อสมท เดินทางไปยื่นหนังสือ 3 หน่วยงาน คือ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาห กิจ หรือ สคร.  สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เพื่อให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของนายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท และ พลตำรวจโท จตุพล ปานรักษา ประธานกรรมการ บมจ.อสมท ที่ใช้อำนาจโดยไม่ผ่านมติคณะกรรมการ บมจ.อสมท เสนอให้ กสทช. แบ่ง"เงินเยียวยาค่าคลื่น 2600 เมกกะเฮิร์ต" ให้บริษัทเพลย์เวิร์คคู่สัญญาครึ่งหนึ่ง 

 

 

ที่ สคร. นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ สคร. ได้รับมอบหนังสือจากนายสุวิทย์ มิ่งมล ประธาน สหภาพฯ บมจ.อสมท พร้อมระบุว่าจะเร่งตรวจสอบให้ตามหนังสือที่ร้องขอมา

 

 

จับตา“บอร์ด อสมท”นัดประชุมพรุ่งนี้

 

ต่อมา ที่ สตง. นางพิมพา วภักดิ์เพชร ผู้ช่วยผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และคณะเจ้าหน้าที่ สตง. ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการรับผิดชอบตรวจสอบ บมจ.อสมท และการสอบสวนการใช้เงินแผ่นดิน รับฟังข้อมูลจากประธานสหภาพฯ อสมท โดยหลังฟังสรุป นางพิมพา กล่าวว่า ตลอดมาหวังว่าจะให้หน่วยงานในการกำกับดูแลใช้จ่ายเงินอย่างโปร่งใส ซึ่งกรณีนี้แปลกกว่ากรณีที่เคยมาร้องเรียน สตง. เพราะที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ร้องเรียนการใช้เงิน ไม่โปร่งใส แต่กรณี บมจ.อสมท เป็นเรื่องในเชิงนโยบายของผู้บริหาร โดยจะเร่งตรวจสอบอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ความจริงปรากฏ
 

 

จับตา“บอร์ด อสมท”นัดประชุมพรุ่งนี้

 

ส่วนที่ ป.ป.ช. นายวราพงษ์ อินต๊ะโมงค์ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ รับหนังสือพร้อมจะส่งดำเนินการตามกระบวนการให้เร็วที่สุด

 

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวของสหภาพฯ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. มีมติให้ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนในการเรียกคืนคลื่นความถี่ ย่าน 2500-2690 เมกกะเฮิร์ต หรือเงินเยียวยาค่าคลื่น 2600ให้ บมจ.อสมท เป็นเงิน 3,235 ล้านบาท และให้ปฏิบัติตามหนังสือของ บมจ.อสมท ที่เสนอให้แบ่งเงินดังกล่าวครึ่งหนึ่งเอง

 

หนังสือฉบับดังกล่าว ของกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท   ที่ส่งถึง กสทช. ฉบับนั้น ลงวันที่ 4 มิ.ย. อ้างประธานบอร์ด อสมท มอบอำนาจให้ตนเสนอแบ่งเงินเยียวยาค่าคลื่น ที่จะได้จาก กสทช ให้บริษัทเอกชนคู่สัญญาของ อสมท ครึ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ กสทช. ยกหนังสือฉบับนี้มาเป็นเหตุผลให้ อสมท แบ่งเงินเยียวยาครึ่งหนึ่งจากจำนวนทั้งหมด 3,235 ล้าน ให้เอกชนคู่สัญญา ตามหนังสือแจ้งความประสงค์ของ อสมท เมื่อ 10 มิถุนายน

 

บริษัทเอกชนคู่สัญญาของ บมจ.อสมท คือ บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด ทำสัญญากันเมื่อปี 2553 จะนำคลื่น MMDS  หรือคลื่น 2600 เมกกะเฮิร์ต ไปทำโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิก แต่เกิดการจัดตั้ง กสทช. ในปี 2554 จึงต้องขออนุญาตจาก กสทช. ทำให้ยังไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ มีเพียงการแถลงข่าวร่วมกัน 2 ครั้ง ที่อาคารที่ทำการของ บมจ.อสมท ระหว่างคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย โดยการเคลื่อนไหวของ สหภาพฯ ยืนยันไม่ได้ก้าวล่วงเอกชนคู่สัญญา แต่การเยียวยาต้องพิจารณาอย่างเป็นธรรมว่า เอกชนคู่สัญญาได้ลงทุนและดำเนินการอะไรไปบ้าง 
สหภาพฯ ยังยืนยันด้วยว่า เงินเยียวยาค่าคลื่นที่จะได้จาก กสทช. นั้น เป็นเงินที่ต้องนำเข้ารัฐ เพราะ บมจ.อสมท เป็นรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์