อัยการแจงขั้นตอนตามตัว“ทายาทกระทิงแดง”อายุความฟ้องได้ถึง ก.ย. 70

27 มิ.ย. 2563 | 10:25 น.

“รองโฆษกอัยการ”แจงยิบขั้นตอนตามตัว “ทายาทกระทิงแดง” ซิ่งเฟอร์รารี่ชนตำรวจ ดับปี 55 อายุความฟ้องได้ถึง ก.ย.70 เหลือเวลาอีก 7 ปี

“ทายาทกระทิงแดง” นายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา อายุ 35 ปี ทายาทผู้บริหารกิจการเครื่องดื่มชูกำลังชื่อดัง ผู้ต้องหาที่อัยการสั่งฟ้อง เมื่อปี 2558 ในคดีขับรถสปอร์ตเฟอร์รารี่ โดยประมาททำให้ผู้อื่น (ดาบตำรวจทองหล่อ) ถึงแก่ความตาย เหตุเกิดบนสุขุมวิท) หลังจากที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้มีมติวันที่ 26 มิ.ย.63 ชี้มูลความผิดวินัยไม่ร้ายแรงและประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ 7 คน ไม่ดำเนินการตามขั้นตอนคดีให้ครบถ้วน เป็นเหตุให้ผู้ต้องหาหลบหนีนั้น

อัยการแจงขั้นตอนตามตัว“ทายาทกระทิงแดง”อายุความฟ้องได้ถึง ก.ย. 70

วันนี้(27 มิ.ย.63) นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงขั้นตอนการติดตามตัวนายวรยุทธ ว่า  สำนวนคดีของ นายวรยุทธ อัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ ได้มีคำสั่งฟ้องในข้อหา ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ซึ่งตามกฎหมายจะมีอายุความในการติดตามตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดีเพื่อยื่นฟ้องศาลภายใน 15 ปี นับตั้งแต่วันเกิดเหตุ เมื่อวันที่ 3 ก.ย.55 ดังนั้นคดีจึงจะครบกำหนดที่จะขาดอายุความในวันที่ 3 ก.ย.2570 เท่ากับนับจากนี้ จึงมีเวลา 7 ปี ที่จะติดตามตัวผู้ต้องหา มายื่นฟ้องต่อศาลตามคำสั่งฟ้องของอัยการดังกล่าว
 
นายประยุทธ  อธิบายขั้นตอนการติดตามตัวว่า เมื่ออัยการได้มีคำสั่งฟ้องแล้ว แต่ตัวของนายวรยุทธ ได้หลบหนี ขณะที่คดีมีหมายจับที่ศาลได้ออกไว้แล้ว หากพบว่า นายวรยุทธ อยู่ในประเทศไทย เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ ถ้าเจอตัวที่ไหนก็สามารถจับกุมตัวมาส่งให้อัยการยื่นฟ้องต่อศาลได้ทันที แต่ปัจจุบันเท่าที่ทราบจากสื่อ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายวรยุทธ ได้หลบหนีอยู่ต่างประเทศ ดังนั้น เมื่อตัวผู้ต้องหาอยู่ต่างประเทศ ก็ต้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งประเทศไทยเองก็มีหลักเกณฑ์นี้อยู่ใน พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ.2551 คือ 

1.การจะขอให้ต่างประเทศที่ได้พบตัวนายวรยุทธ ผู้ต้องหา ที่เราต้องการนำกลับมาดำเนินคดีนั้น ประเทศไทยจะเป็นผู้ร้องขอ 
2.ความผิดที่จะร้องขอให้ส่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดนได้ จะต้องเป็นลักษณะความผิดอาญาของทั้ง 2 ประเทศ ไม่ใช่ว่าประเทศไทยระบุเป็นความผิด แต่ประเทศที่ผู้ต้องหาไปพำนักอยู่นั้น ไม่ถือเป็นความผิด เช่นนี้เขาก็จะไม่ส่งให้ 
อย่างไรก็ดี สำหรับความผิดฐาน “ขับรถประมาทชนคนตาย” เป็นความผิดอาญาของกฎหมายทุกประเทศทั่วโลก ดังนั้น ในประเด็นนี้จึงไม่มีปัญหา และความผิดที่จะร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้น จะต้องมีอัตราโทษประหารชีวิต หรือจำคุกมีกำหนดอย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป ซึ่งความผิดที่ได้สั่งฟ้องนายวรยุทธ ฐานขับรถประมาทฯ กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีอยู่แล้ว ก็ถือเป็นอัตราโทษที่เข้าเกณฑ์
3.ความผิดที่ร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้นจะต้องไม่ใช่คดีความผิดเกี่ยวกับการเมือง หรือความผิดเกี่ยวกับทหาร ที่เขาจะไม่ส่งให้กัน ซึ่งคดีของนายวรยุทธ ก็ไม่เข้าทั้ง 2 กรณีนี้จึงผ่าน สามารถร้องขอให้ส่งตัวได้ 


4.การร้องขอให้ประเทศใดส่งตัวผู้ต้องหามานั้น ก็จะต้องไปสู่หลักที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งอาจจะโดยตำรวจไทยเอง หรือความร่วมมือกับตำรวจสากลหรืออินเตอร์โปล (Interpol) ก็ได้ แต่จะต้องสืบให้ได้ก่อนว่านายวรยุทธ ผู้ต้องหา พำนักอยู่ประเทศไหน เราจึงจะรู้ว่าต้องส่งคำร้องไปประเทศใด
5.เมื่อเรารู้ว่าผู้ต้องหา พำนักอยู่ประเทศใดแล้ว ต้องดูกฎหมายอีกว่าประเทศนั้นๆ กับไทยมีสนธิสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างการหรือไม่ ถัามีก็จะปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ตกลงกันไว้ตามสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน โดยให้ตำรวจรวบรวมเกี่ยวกับเรื่องนั้นทั้งหมด เช่น ข้อเท็จจริงว่ามีการชนคนตาย , มีคำสั่งฟ้องของอัยการ , มีหมายจับของศาล รวบรวมส่งให้อัยการสูงสุดของประเทศไทย ในฐานะ“ผู้ประสานงานกลาง”ตามกฎหมาย

เมื่อรับข้อมูลมาอัยการสูงสุดก็จะจ่ายงานให้กับอธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศขณะนี้คือนายชัชชม อรรฆภิญญ์ที่มีทีมงานอัยการกองต่างประเทศ ติดต่อประสานงานกับประเทศปลายทางขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน แล้วจึงเข้าสู่กระบวนการพิจารณา กระทั่งสุดท้ายจะมีคำสั่งว่าส่งหรือไม่ส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งแต่ละประเทศก็จะมีกรรมวิธีของเขา ไม่ใช่ว่าเมื่อมีการร้องขอให้ส่งแล้วจะได้มีการส่งตัวทันที ตัวอย่างประเทศไทย เมื่อมีประเทศใดร้องขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน เราก็จะมีกระบวนการไต่สวนและให้ศาลมีคำสั่ง

แต่หากเป็นกรณีที่ประเทศปลายทางไม่มีสนธิสัญญาฯ ระหว่างกันกับไทย ก็จะไปสู่การปฏิบัติ “ตามหลักการวิถีทางการทูต” ซึ่งผู้ที่จะเดินเรื่องนี้ก็คือกระทรวงการต่างประเทศของไทย ที่จะใช้หลักเกณฑ์ทางการทูต ประสานงานความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยประการสำคัญในวิธีนี้ คือ หากประเทศไทยจะดำเนินการส่งคำร้องขอไปจะต้องแสดงเจตนาให้ชัดเจนว่า ภายหน้าในอนาคตหากมีคนของประเทศนั้นหนีมาอยู่ในประเทศไทย ถ้าเขาขอมาเราก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือเช่นกันในลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัยระหว่างกัน

นายประยุทธ กล่าวย้ำว่า หลักการดำเนินการที่จะส่งใครเป็นผู้ร้ายข้ามแดน ต้องดำเนินการภายในอายุความ หากขาดอายุความแล้วก็ดำเนินการไม่ได้ ขณะที่คดีของนายวรยุทธ ระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนของตำรวจที่สืบหาว่าพำนักอยู่ที่ใด ซึ่งต้องสืบหาให้ได้ก่อนว่าสำนักอยู่ที่ใด จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการปฏิบัติตามขั้นตอนขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน

เมื่อถามว่า ปัจจุบันมีข้อมูลอัพเดทเกี่ยวกับสถานที่พำนักของนายวรยุทธ ผู้ต้องหาแล้วหรือไม่ รองโฆษกอัยการฯ กล่าวว่า เป็นเรื่องของสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะดำเนินการ ในส่วนของอัยการเราจะดำเนินขั้นตอนหลังจากที่ตำรวจส่งข้อมูลและรายละเอียดมาที่เรา แล้วอัยการสูงสุดในฐานะผู้ประสานงานกลางตามกฎหมายจะดำเนินการส่งคำร้องขอไปยังประเทศนั้นๆ ซึ่งอัยการเรามีบุคลากรของอัยการสำนักงานต่างประเทศพร้อมอยู่แล้วที่จะดำเนินการแต่ต้องมีกระบวนการที่จะได้ข้อมูลจากทางตำรวจเสียก่อน