"เสื้อแดง" แถลงการณ์ ฟ้อง UN-EU ยุบ "ทษช." สร้างความขัดแย้ง

15 ก.พ. 2562 | 01:11 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

แกนนำกลุ่มประชาชนอยากเลือกตั้ง ออกแถลงการณ์คัดค้านการยุบพรรคไทยรักษาชาติ ชี้! พิจารณาอย่างไม่เป็นธรรม จี้! กกต. และศาลรัฐธรรมนูญอธิบาย เตรียมยื่นหนังสือต่อสหประชาชาติและสหภาพยุโรป 

วันที่ 14 ก.พ. 2562 เวลา 10.17 น. นายอนุรักษ์ เจนตวานิชย์ แกนนำกลุ่มประชาชนอยากเลือกตั้ง ได้ออกแถลงการณ์ถึงกรณีที่ กกต. ได้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคไทยรักษาชาติ หรือ ทษช. โดยโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กชื่อ Anurak Jeantawanich โดยระบุว่า

" ...

แถลงการณ์ คัดค้านการยุบพรรคไทยรักษาชาติ

เรียน สื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศ

แถลงการณ์ฉบับนี้จะได้รับการยื่นต่อประธานศาลรัฐธรรมนูญในเช้าวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเป็นวันแห่งความรัก จากนั้นจะได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษเพื่อยื่นให้กับตัวแทนของสหประชาชาติ และสหภาพยุโรปในประเทศไทย โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้

ตามที่ กกต. ได้มีมติส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคไทยรักษาชาติ โดยให้เหตุผลว่า การเสนอชื่อแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีของพรรคเข้าข่ายผิด พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 (2) กระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามที่ทราบกันนั้น

กลุ่มประชาชนอยากเลือกตั้ง ซึ่งเป็นกลุ่มกิจกรรมภาคประชาชน ซึ่งได้ออกรณรงค์เลือกตั้งอย่างสันติภายใต้กรอบกฎหมายตั้งแต่เดือนกันยายน 2561 ขอคัดค้านการยุบพรรคไทยรักษาชาติ ดังมีเหตุผลต่อไปนี้ ประการแรก การเสนอชื่อทูลกระหม่อมฟ้าหญิงอุบลรัตน์ ซึ่งตามกฎหมายเป็นสามัญชนตั้งแต่ปี 2515 ด้วยความสมัครใจของทูลกระหม่อมเองที่อาสาตนมารับใช้ประเทศชาติ โดยให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ ย่อมได้ชื่อว่าเป็นการส่งเสริมระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถึงแม้ว่าต่อมาจะมีพระราชโองการเห็นว่า ทูลกระหม่อมอยู่เหนือการเมืองทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ก็สมควรยุติการดำเนินการที่จะนำไปสู่ความแตกแยกของคนในชาติ การที่ กกต. มีมติให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคไทยรักษาชาติย่อมจะก่อให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นมารอบใหม่ แทนที่จะให้การเลือกตั้งดำเนินไปอย่างเรียบร้อยเป็นทางออกในการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำเนินมาอย่างยาวนานนับแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ประการที่สอง กกต. พิจารณาอย่างไม่เป็นธรรมสองมาตรฐาน พรรคการเมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นพรรคการเมืองคู่แข่งอย่างพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งได้เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธฺ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นนายกรัฐมนตรี ได้จัดโต๊ะจีนระดมทุนเข้าพรรคโดยผิดกฏหมาย มีผู้ยื่นให้ กกต. ตรวจสอบตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2561 บัดนี้ผ่านไป 55 วันแล้ว ไม่มีความคืบหน้า เปรียบเทียบกับกรณีของพรรคไทยรักษาชาติ กกต. ใช้เวลาพิจารณาเพียง 5 วันนับจากวันยื่นรายชื่อแคนดิเดท รวบรัดยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคไทยรักษาชาติ โดยไม่รับฟังความเห็นและข้อเท็จจริงจากพรรคไทยรักษาชาติ ประการที่สาม หากพรรคไทยรักษาชาติต้องถูกยุบพรรค เหตุเพราะเสนอชื่อทูลกระหม่อมที่เป็นพระเชษฐภคินีของพระมหากษัตริย์แล้วเป็นความผิดร้ายแรงถึงขั้นต้องถูกยุบพรรค แล้วสังคมไทยมีความเห็นอย่างไรกับกรณีที่พรรคประชาชนปฏิรูป โดย นายไพบูลย์ นิติตะวัน ชูภาพของพระพุทธเจ้ามาใช้ในการหาเสียง แน่นอนว่า สถาบันกษัตริย์และการเมืองมีความเกี่ยวพันกันอย่างแน่นแฟ้น แต่ศาสนาและการเมืองสมควรแยกออกจากกัน การแอบอ้างพระพุทธเจ้าของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่? สมควรถูกยุบพรรคมากกว่าพรรคไทยรักษาไทยรักษาชาติหรือไม่? กรณีพรรคไทยรักษาชาติทูลกระหม่อมได้ให้ความยินยอม แต่กรณีของพรรคประชาชนปฏิรูปพระพุทธเจ้าได้ให้การยินยอมหรือไม่? เหล่านี้คือ สิ่งที่ กกต. และศาลรัฐธรรมนูญจะต้องมีคำอธิบายให้กับประชาชน

ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและความแตกแยกของคนในชาติของประเทศไทย แท้จริงแล้วหาใช่เรื่องของประชาธิปไตยไม่ หากแต่เป็นเรื่องของความยุติธรรมที่เลือกปฏิบัติ พรรคการเมืองตัวแทนของฝ่ายอนุรักษ์นิยมทำอะไรไม่เคยผิด เป็นรัฐบาลที่จัดตั้งในค่ายทหารที่สังหารประชาชนที่มาเรียกร้องการเลือกตั้งไม่เคยมีความผิด กกต. ไม่เคยสั่งยุบพรรค นายกฯ ที่ไม่เคยชนะเลือกตั้งได้รับการปกป้องจากกระบวนการยุติธรรม รองนายกฯ ที่มาจากรัฐประหารได้รับสินบนเป็นนาฬิกาหรูหลายสิบเรือนมูลค่าหลายสิบล้านได้รับการปกป้องจาก ปปช. ไม่เคยกระทำผิด แต่นายกรัฐมนตรีที่เป็นสุภาพสตรีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมีนโยบายช่วยเหลือชาวนา ซึ่งเป็นคนยากจนและเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศกลับถูก ปปช. ตรวจสอบ ถูกศาลรัฐธรรมนูญขับไล่ออกจากตำแหน่ง ถูกกองทัพทำรัฐประหาร ครั้งหนึ่ง ผู้นำของประชาชนที่ถูกรัฐประหารเคยถูกกล่าวหาว่าล้มเจ้า เมื่อเสนอชื่อทูลกระหม่อมพระเชษฐภคินีของพระมหากษัตริย์พรรคการเมืองที่เสนอก็จะถูกยุบพรรค การกล่าวอ้างไม่ว่าจะล้มเจ้าหรือใกล้ชิดเจ้าล้วนเป็นถ้อยคำที่สร้างขึ้นเพื่อทำลายนักการเมืองที่เป็นความหวังของประชาชน กีดกันผู้นำของประชาชนมิให้ใกล้ชิดกับสถาบันกษัตริย์ ผูกขาดความจงรักภักดีเพื่อใช้เป็นเหตุผลในการทำลายนักการเมืองของประชาชนหรือไม่? นี่เป็นคำถามที่ชาวไทยและชาวโลกได้รับคำตอบอย่างถ่องแท้ในวันนี้

การเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 จะถือเป็นการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ของชาติ เป็นความหวังที่จะให้ประชาชนในฐานะเจ้าของประเทศได้เลือกอนาคตผู้ปกครองของเขาเอง ได้หาทางออกให้กับประเทศจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำเนินมาต่อเนื่อง 12 ปี หากพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของประชาชนต้องถูกยุบพรรคโดยยังมิได้หาเสียงจะถือได้ว่าเป็นการร่วมสมคบคิดกันโกงเลือกตั้งจากผู้กุมอำนาจในประเทศนี้หรือไม่ สังคมไทยจะให้คำตอบเองในวันที่ 24 มีนาคม 2562 หากในวันนั้นยังมีการเลือกตั้ง

(นายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ และเพื่อนๆ)
นักเคลื่อนไหวในกลุ่มประชาชนอยากเลือกตั้ง

... "
347592

[caption id="attachment_389416" align="aligncenter" width="69"] ©FB/Anurak Jeantawanich ภาพเต็ม : https://goo.gl/DnTV3J ©FB/Anurak Jeantawanich
ภาพเต็ม : https://goo.gl/DnTV3J[/caption]

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว