'โรดแมปเลือกตั้ง' ป่วนซํ้า! ร่างกฎหมาย ส.ว. ส่อขัด รธน.

04 ก.พ. 2561 | 11:58 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

1852

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบวาระ 3 ร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับสุดท้ายแล้ว เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ 213 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง เมื่อค่ำวันพฤหัสบดีที่ 25 ม.ค. 2561 หลังอภิปรายยืดเยื้อในการพิจารณารายมาตราในวาระ 2 กว่า 12 ชั่วโมง และวันรุ่งขึ้นได้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ด้วยคะแนนเอกฉันท์ 197 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง หลังใช้เวลาอภิปรายเกือบ 11 ชั่วโมงเช่นกัน

การผ่านร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับ ของ สนช. ครั้งนี้ มีผลให้เลื่อน ‘โรดแมปการเลือกตั้ง’ ออกไปอีก 3 เดือน โดยปริยาย เมื่อ สนช. เห็นชอบตามที่กรรมาธิการวิสามัญฯ เสียงข้างมาก ให้ปรับแก้มาตรา 2 ให้กฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้หลังพ้น 90 วัน นับแต่ประกาศในราชกิจจานุกเบกษา จากเดิมที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ร่างไว้ ที่ให้มีผลบังคับใช้หลังวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา


เทคนิคทาง ก.ม. ยื้อเลือกตั้ง
ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากแกนนำพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่เห็นว่า เป็นการใช้เทคนิคทางกฎหมายเพื่อยื้อการเลือกตั้ง เอื้อ ‘พรรคทหาร’ ให้มีเวลาจัดทัพ ดึงนักการเมืองจากพรรคอื่น จากเดิมที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศต่อประชาคมโลกในการเยือนสหรัฐฯ ว่า จะประกาศการเลือกตั้งได้ในเดือน มิ.ย. และจัดการเลือกตั้งเดือน พ.ย. ปีนี้

ขณะที่ แกนนำรัฐบาล คสช. และ สนช. แก้ต่างว่า ที่ต้องยืดการบังคับใช้ออกไปอีก 90 วัน เพื่อให้สอดคล้องกับคำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 ที่กำหนดกรอบการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของพรรคการเมือง จึงต้องขยายเวลาออกไป เพื่อให้พรรคได้มีเวลาเตรียมความพร้อมได้ทัน และไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ

กระแสเลื่อน ‘โรดแมปเลือกตั้ง’ ลุกลามออกไปนอกเวที สนช. - พรรคการเมือง เมื่อกลุ่มนักศึกษา - เครือข่ายประชาสังคมคัดค้านการรัฐประหาร จัดตั้งกลุ่ม Start Up People นัดชุมนุมทุกวันเสาร์ที่ถนนราชดำเนิน


สนช. รื้อกฎหมายของ กรธ.
อีกประเด็นที่ สนช. ปรับแก้ต่างจาก กรธ. ในกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. คือ มาตรา 75 เกี่ยวกับข้อห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้ตนเองหรือผู้อื่น ซึ่งร่างเดิมระบุห้ามการจัดแสดงมหรสพรื่นเริง แต่ กมธ.วิฯ ตัดข้อความนี้ออกไป โดยให้เหตุผลว่า เพื่อกระตุ้นประชาชนให้มารับฟังการหาเสียง เป็นการย้อนหลังกลับไปหลายสิบปีที่ได้ห้ามการแสดงมหรสพในการหาเสียงกันมา เพราะเคยมีปัญหาเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกันในหมู่ผู้สมัคร เมื่อ สนช. เห็นชอบตาม กมธ. คือ ให้มีมหรสพในการหาเสียงได้

ส่วนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. นั้น กมธ. ได้ปรับแก้จากร่างของ กรธ. ในหลายประเด็นเช่นกัน โดยเมื่อเริ่มการประชุมมีผู้เสนอว่า เมื่อกฎหมายลูกว่าด้วย ส.ส. ให้เลื่อนการบังคับใช้ไป 90 วัน หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา ควรแก้ในร่างกฎหมาย ส.ว. ให้สอดคล้องกันด้วย แต่ท้ายที่สุด สนช. ให้คงไว้ตามเดิม คือ มีผลบังคับใช้หลังวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ซึ่งผลต่อการเลื่อน ‘โรดแมปเลือกตั้ง’ ยังเหมือนเดิม เพราะตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ระบุ ให้จัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน นับแต่กฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้ง 4 ฉบับ ได้บังคับใช้เป็นกฎหมายแล้ว คือ นอกจากกฎหมายลูกว่าด้วย ส.ส. และ ส.ว. แล้ว อีก 2 ฉบับ คือ กฎหมายลูกว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง ดังนั้น แม้เพียงกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ฉบับเดียว ต้องเลื่อนออกไป ก็มีผลให้การนับหนึ่งเริ่มกระบวนการเลือกตั้งภายใน 150 วัน ยังทำไม่ได้ จนกว่ากฎหมายจะมีผลบังคับใช้ครบทั้ง 4 ฉบับดังกล่าว


TP14-3336-1B

ที่มา ส.ว. จาก 20 เหลือ 10 กลุ่ม
แต่ สนช. ก็ได้เห็นชอบการปรับแก้ร่างกฎหมายลูกว่าด้วย ส.ว. รวม 30 มาตรา โดยประเด็นหลัก คือ ปรับลดการแบ่งกลุ่มอาชีพหรือความเชี่ยวชาญ จากเดิม กรธ. ร่างไว้ให้มี 20 กลุ่ม แต่ในชั้นการพิจารณาของ กมธ. เสียงข้างมาก ให้ลดจำนวนกลุ่มลงเหลือ 15 กลุ่ม และเมื่อเสนอเข้าที่ประชุม สนช. ได้อภิปรายแล้ว ให้ปรับลดลงอีกเหลือเป็น 10 กลุ่ม

รวมทั้งให้เปลี่ยนวิธีการลงคะแนน จากร่าง กรธ. ให้ใช้วิธีการเลือกแบบไขว้ คือ ให้ลงคะแนนเลือกผู้สมควรได้รับเลือกเป็น ส.ว. กลุ่มอื่น และห้ามลงคะแนนให้ตนเอง ก็เปลี่ยนกลับมาให้เลือกกันเองภายในกลุ่ม

นอกจากนี้แล้ว สนช. ยังเปลี่ยนเรื่องช่องทางการสมัครของผู้สมัครเข้ารับเลือกเป็น ส.ว. ใหม่ จากเดิมให้สมัครตามกลุ่มอาชีพและความเชี่ยวชาญ ปรับปรุงใหม่เป็นที่มา 2 ช่องทาง คือ 1.ผู้สมัครอิสระ และ 2.ตัวแทนขององค์กรวิชาชีพ สนช. ได้ลงมติเห็นชอบร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับ ในวาระ 3 ผ่านพ้นไปแล้ว ขั้นตอนจากนี้ ประธาน สนช. จะส่งร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ให้ กรธ. และ กกต. พิจารณาภายใน 5 วัน ว่า มีประเด็นใดที่ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากมีความเห็นแย้งต้องส่งคืน สนช. ภายใน 10 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างกฎหมาย เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย พิจารณาอีกครั้ง หากไม่มีความเห็นแย้ง ประธาน สนช. จะส่งร่างกฎหมายดังกล่าวให้นายกรัฐมนตรี เพื่อดำเนินการนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ต่อไป

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายลูกว่าด้วย ส.ส. ที่มีการปรับแก้ให้กฎหมายมีผลบังคับใช้หลัง 90 วัน นับแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษานั้น แม้จะเป็นประเด็นที่ถูกวิจารณ์ร้อนแรง แต่ทำได้ในแง่ของเทคนิคทางกฎหมาย ขึ้นอยู่กับ กรธ. และ กกต. ว่า จะเห็นว่า ขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและมีความเห็นแย้งหรือไม่ เพื่อตั้ง กมธ.ร่วม 3 ฝ่าย มาพิจารณาซ้ำอีกครั้ง


728x90-03-3-503x62-3-503x62

หวั่นที่มา ส.ว. ขัด รธน.
แต่ร่างกฎหมายลูกว่าด้วย ส.ว. ที่มีการปรับแก้ร่าง กรธ. มากเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีการเลือก ส.ว. กำลังเป็นที่จับตาว่า จะเข้าเงื่อนไขไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดย นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า เบื้องต้น ต้องรอให้ สนช. ส่งร่างฉบับสมบูรณ์ทั้ง 2 ฉบับมาก่อน กรธ. จึงจะพิจารณาในรายละเอียดได้

แต่ยอมรับว่า กังวลใจ ในประเด็นการแก้ไขให้แบ่งประเภทวิธีการสมัคร ส.ว. เป็น 2 ส่วน คือ 1.ประเภทสมัครโดยอิสระ 100 คน และ 2.ประเภทที่ต้องได้รับการเสนอชื่อจากองค์กรต่าง ๆ นั้น ค่อนข้างเป็นเรื่องใหญ่ ดูพิลึก เท่ากับแยก ส.ว. ออกเป็น 2 ส่วน ส่วนละ 100 คน ต่างจากที่ กรธ. ร่าง กำหนดให้มี ส.ว. 200 คน มีที่มาอิสระ แล้วให้เลือกกันเองระหว่างผู้สมัคร การแก้ไขดังกล่าวจะทำให้ผู้สมัครถูกจำกัดโดยวิธีการสมัคร การแบ่งประเภทของ สนช. นั่นเอง จึงกังวลใจว่า จะไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และมีแนวโน้มจะนำไปสู่การโต้แย้งเนื้อหา เพื่อตั้งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย แต่ทั้งนี้ ต้องรอให้ที่ประชุม กรธ. อภิปรายหาข้อยุติกันอีกครั้งก่อน

เช่นเดียวกับ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ที่รับว่า เรื่อง ส.ว. ตนยังสงสัย และไม่สามารถตอบได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงมีเยอะ ดังนั้น ขอรอฟัง กรธ. และคณะกรรมาธิการฯ ก่อน ซึ่งเรื่องขัดรัฐธรรมนูญนั้น มีคนออกมาพูดเยอะ แต่ตนไม่ใช้ผู้วินิจฉัย เพราะผู้วินิจฉัย คือ ศาลรัฐธรรมนูญ

ส่วนประเด็นนี้จะไปถึงขั้นคว่ำร่างกฎหมายหรือไม่นั้น ประธาน สนช. กล่าวว่า “ผมก็กลัว ถึงบอกว่า ให้กรรมาธิการฯ กับ กรธ. ไปคุยกันดี ๆ แต่เขาก็บอกว่า ไม่เป็นไร ความจริงเขาต้องคุยกันให้เคลียร์”

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3

ทั้งนี้ หาก กรธ. เห็นว่า ร่างที่ สนช. ปรับแก้ไปนั้น ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มีการส่งความเห็นแย้งจะนำไปสู่การตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย คือ กรธ., สนช. และ กกต. ขึ้นมา ทบทวนอีกครั้ง แต่หากเห็นว่า เนื้อหาขัดรัฐธรรมนูญ กรธ. อาจส่งความเห็นให้ สนช. จำนวน 1 ใน 10 หรือ 25 คนขึ้นไป เข้าชื่อกันยื่นเรื่องผ่านประธาน สนช. เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป ดังเช่น กรณีร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการปราบปรามการทุจริต หรือ ร่างกฎหมายลูก ป.ป.ช. ที่ล่าสุด ศาลรัฐธรรมนูญรับไว้พิจารณาแล้ว

โดยที่หากร่างกฎหมายลูกว่าด้วย ส.ว. ต้องผ่านกระบวนการตามกลไกของรัฐธรรมนูญ อาทิ การตั้ง กมธ. ร่วม 3 ฝ่าย เพื่อปรับแก้และให้ สนช. ลงมติอีกครั้ง หรือให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หากวินิจฉัยว่า ไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ และมีผลให้ร่างกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ในที่สุด ก็ยังอยู่ในกรอบ ‘โรดแมปการเลือกตั้ง’ เดิม ที่ถูกยืดออกไปอีก 90 วัน ตามร่างกฎหมายลูกว่าด้วย ส.ส.

แต่หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างกฎหมายลูกว่าด้วย ส.ว. ขัดรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถใช้บังคับได้ กรณีนี้จะเป็นเรื่องใหญ่ เพราะต้องมาเริ่มนับหนึ่งกระบวนการร่างกฎหมายลูกว่าด้วยที่มา ส.ว. กันใหม่อีกรอบ ซึ่งยังมีความไม่ชัดเจนอีกมาก เนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุกระบวนการในกรณีนี้ไว้

อาจทำให้การเลือกตั้งตามโรดแมปใหม่ที่เลื่อนเป็นภายใน ก.พ. 2562 ต้องขยับอีกรอบ และเป็นคลื่นใหญ่อีกระลอกที่จะกระแทกรัฐบาล คสช.


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,336 วันที่ 1-3 ก.พ. 2561 หน้า 14

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9