เชื่อรัฐมีสูตรปรองดองในใจ ‘จตุพร’ไม่เกี่ยงทำข้อตกลง

02 ก.พ. 2560 | 03:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. แสดงความพร้อมในการเข้าร่วมหารือกับคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง ชุดที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน มั่นใจการปรองดองครั้งนี้สำเร็จ เพราะต่างจาก 9 ครั้งที่ผ่านมา และเชื่อว่าทุกฝ่ายจะให้ความร่วมมือ

  มั่นใจปรองดองสำเร็จ

แกนนำ นปช.แสดงความมั่นใจว่า การปรองดองครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของความสงบในชาติ เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รับพระกระแสรับสั่งทุกคนรู้ว่าการปรองดองครั้งนี้จะไม่เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ซึ่งเหมือนเรื่องเล่าสู่กันฟังแล้วก็จบไป แต่ครั้งนี้จะเห็นผลและประเทศไทยจะเดินหน้าต่อไปได้ เพราะลำพังคนการเมือง จะโดยเลือกตั้งหรือโดยการยึดอำนาจก็ตาม ชัดเจนว่าเรื่องปรองดองไม่เชื่อกันอยู่แล้ว แต่ที่ทุกคนต้องเชื่อเพราะไม่ได้ออกมาจากผู้มีอำนาจ

ความจริงแล้วความขัดแย้งในประเทศไทย ความแตกต่าง มาจาก 1.ความคิด 2.การเลือกตั้ง ที่ไม่ตรงกับใจคนเลือกตั้ง ความไม่เคารพการตัดสินใจของประชาชนมันเป็นปัญหารากลึก ฝ่ายชนะก็ชนะอยู่อย่างนั้น ฝ่ายแพ้ก็ยืนพื้น เพราะฉะนั้นมันก็จบลงตรงที่กลางถนน ผมไม่ต้องการให้บ้านเมืองเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นการตั้งต้นของประเทศไทยในทางที่ถูกต้องมันก็จะได้กี่อย่าง เช่น พล.อ.ประยุทธ์ เสนอข้อแรกมาเลยยกตัวอย่างเช่น หนึ่งต้องไม่มีการขัดขวางการเลือกตั้ง เราก็เห็นด้วยเพราะเราสนับสนุนให้มีเลือกตั้ง

 ยุติสังคมอยู่ด้วยความชิงชัง

ขณะนี้จุดใหญ่ที่ นปช.คุยกันในกลุ่มคือต้องใช้ความระมัดระวังที่จะพูดเรื่องปรองดอง เพราะไม่ต้องการให้เกิดปัญหาและเป็นอุปสรรค เพราะฉะนั้นถ้าไม่สำเร็จไม่ใช่เพราะ นปช. เรามีหน้าที่ให้ความร่วมมือทั้งที่ฝ่ายตนเป็นฝ่ายตายมากที่สุด คือ ตายเป็นร้อย บาดเจ็บ 2,000 คน ติดคุกก็มากที่สุด ถึงขนาดตายในคุกก็มี เรามีความเจ็บช้ำมากมาย แต่เรายินดีเรื่องปรองดอง เพราะไม่ต้องการให้สังคมอยู่ด้วยความชิงชัง เกลียดกัน ผมเชื่อว่าครั้งนี้ความแตกต่างคือการปรองดองในประเทศไทยเกิดขึ้นเพราะปราบปรามประชาชน เพราะยึดอำนาจ ผมเชื่อว่ารัฐบาลต้องทำและเชื่อว่าทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือ

เราต้องยอมรับความจริงว่า ลำพังนักการเมือง ลำพังบุคคลธรรมดาด้วยกันไม่มีใครเชื่อเรื่องปรองดองอีกแล้วเพราะที่ผ่านมามันคือการหลอกลวงไม่เคยทำจริงแม้ว่าจะได้คนที่มีภาพลักษณ์ที่ดีมาทำแต่ปลายทางไม่ได้รับการปฏิบัติ คำว่าปรองดองสมานฉัท์ทุกคนรู้ดีว่าพอพูดคำนี้ก็รู้ว่าเริ่มหลอกกันเหมือนกับพูดว่าป่วยการเมือง คือป่วยไม่จริง เวลาพูดเท็จคนบอกว่าการเมืองหรือเปล่า นี่คือที่ผ่านมา ซึ่งทุกคนต่างก็ได้ยินว่าจะใช้เวลาเพียง 3 เดือนเท่านั้น ที่มีการตั้งคณะกรรมการปรองดองชุดต่างๆมากถึง 9 ชุดเป็นเพียงพิธีกรรม เรามาตื่นเต้นเรื่องนี้แต่ผมไม่ตื่นเต้นแล้ว

ผมเห็นการปรองดองมาหลายรอบ ทุกครั้งเมื่อเวลาจะก่อตัวตั้งเป็นองค์กรเราก็จะเรียกร้องหาคนดีคนเป็นกลาง หานักวิชาการ และเราก็ได้มาทุกครั้ง แต่ท้ายที่สุดก็เห็นแล้วว่าคนดี เป็นกลางก็ได้แค่ผลการศึกษา ผมจึงไม่เข้าไปสู่วังวนนี้ ทุกครั้งที่ผ่านมาก็ได้ยินว่าทำไมไม่ตั้งคนนั้นคนนี้ ท้ายที่สุดก็ศึกษาแล้วเสร็จผลลัพท์ก็ไปอยู่ในลิ้นชัก ผมจึงไม่สนใจพิธีกรรมเหล่านี้

วันนี้ทาง คสช.จะตั้งทหารเป็นกรรมการ 100% ก็ว่าไปครั้งนี้ในแต่ละส่วนจะไปพูดกับใครที่จะมาเป็นกรรมการๆครั้งนี้ก็เป็นนายไปรษณีย์ทั้งนั้น เพราะท้ายที่สุดก็อยู่ที่ผู้มีอำนาจคือพล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้นเราต้องอยู่ในโลกของความเป็นจริง ถ้ายังล่องลอยกันอยู่จะต้องมองด้วยโลกสวย แล้วเราก็ได้โลกสวยทุกครั้งแล้วก็จบลงด้วยความว่างเปล่า เราผ่านกันมาถึงขนาดนี้คงไม่ต้องไปบอกว่าต้องแต่งตัวแบบนี้ เหมือนหัดขี่จักรยานใหม่ๆต้องหน้าเชิดตัวตรงเมื่อขี่เป็นแล้วจะเอาหน้ามุดก็ขี่ได้

 เชื่อรัฐมีสูตรปรองดองในใจ

นายจตุพร ยังเชื่ออีกว่า ทางรัฐบาลมีอำนาจคิดแล้วว่าจะทำอย่างไร รัฐบาลมีสูตรสำเร็จอยู่แล้ว เมื่อประกาศว่าจะทำภายใน 3 เดือนกับการเริ่มต้นของคำว่าสัจจวาจาที่นายกรัฐมนตรีพูด รูปแบบต่างๆและผลสัมฤทธิ์คงคิดสำเร็จแล้ว ดังนั้นจึงเหลือแต่ขั้นตอนต่างๆที่จะนำไปสู่ระยะเวลา 3 เดือนนี้ ไม่ได้ใช้เวลามากมายถ้าบริหารจัดการดี รอกันมาเป็นชาติแล้ว จะรออีก 3 เดือนคงไม่เป็นไร

ส่วนการลงเอ็มโอยู การลงสัตยาบัน หรือสัตยวาจานั้น กว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ต้องตกผลึกกันทุกฝ่าย เป็นที่ยุติแล้วว่าทุกคนได้ยอมรับผลของการตกลงกันที่มีต่อคณะกรรมการชุดที่พล.อ.ประวิตร เป็นประธานซึ่งชุดนี้จะส่งให้ผู้มีอำนาจต่อไป ไม่ใช่อยู่ดีๆจะไปเซ็นเหมือนชาวนากู้ธ.ก.ส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) เพราะทุกคนที่เข้าไปต่างก็รู้ว่าแต่ละคนมีเขี้ยวเล็บ แต่ทุกคนต่างก็รู้ว่าครั้งนี้จะแตกต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา

ถ้าไปถึงจุดทำข้อตกลง คือผมอย่างไรก็ได้ จะทำหรือไม่ทำข้อตกลงก็ได้ หรือว่าเป็นการประกาศยืนยันต่อที่สาธารณะ จะเป็นลายลักษณ์อักษรหรือวาจาก็ได้ เพราะถ้าพูดอย่างไรก็ปฏิบัติอย่างนั้น ไม่มีอะไรสลับซับซ้อน กว่าจะถึงวันนั้นระหว่างทางต้องทำการบ้านให้ตกผลึกกันก่อน” นายจตุพร ฝากแง่คิดทิ้งท้าย

tp14-3232-b   แนะเส้นทางสู่สันติ'แสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง'

นายจุตพร เสนอแนะขั้นตอนการปรองดองว่า แต่ละองค์กรต้องเสนอก่อน และคณะกรรมการจะประมวลสิ่งที่เหมือนกัน คล้ายกัน และต่างกัน เพราะหลายเรื่องไม่ได้ต่างกัน หลายเรื่องคล้ายกันและมีบางเรื่องแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ทั้ง 3 ส่วนนี้หลักปฏิบัติหนีกันไม่พ้น ให้แยกส่วนเหมือนและคล้ายกันแยกเป็นกองๆ ที่คล้ายกันจะแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่างอย่างไร ส่วนที่ต่างกันต่างกันขนาดไหน และจุดพอดีของความต่างกันอยู่ตรงไหน เอาผลการศึกษาเป็นตัวตั้ง และที่เหลือเป็นองค์ประกอบ

“ ทุกโมเดลในการสร้างความปรองในเวลาขณะนั้นเป็นประโยชน์ทั้งนั้น และปรับให้สอดคล้องกับเวลาขณะนี้ เมื่อโจทย์ให้ยุติความขัดแย้งสร้างความสามัคคีความสงบอย่างยั่งยืนไว้ในชาติ ทุกคนต้องเดินไปสู่สิ่งนี้และทุกคนต้องเดินไปสู่หลักความเสมอภาคและยุติธรรม ถ้าทุกส่วนมีลักษณะเช่นนี้เชื่อว่ามันเดินต่อไปได้

แต่ขณะนี้โจทย์ยังไม่มีความชัดเจน ยกตัวอย่างเรื่องมาตรา 112 ตลอดระยะเวลาที่ผ่าน มาตรา 112 จะได้รับอภัยโทษทุกคนต่างรู้กันว่า ถ้ายกเรื่องนี้มาเจรจาจะกลายเป็นปัญหา ซึ่งความจริงเส้นทางของ มาตรา 112 คือการขอพระราชทานอภัยโทษต้องเข้าประตูนั้น ทางรัฐบาล หัวหน้า คสช.และพล.อ.ประวิตร ก็ขีดเส้นไว้ว่าไม่มีนิรโทษกรรม แต่มีการหยิบมาพูดให้ดูดี ส่วนคดีทุจริตก็ตั้งต้นให้ถูก เช่นคดีที่ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ตั้งหรือคดีที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ดำเนินการ มันหลายคดีที่เป็นปัญหาค้างคาใจมากมาย

“ไม่มีใครปฏิเสธเรื่องคดีเรื่องการปราบปรามการทุจริต ไม่มีใครบอกว่าเห็นด้วยกับการโกง เพียงแต่ขบวนการมันไม่ปฏิบัติอย่างตรงไปตรงมา หลักคือใครก็โกงไม่ได้ นี่คนนี้โกงได้ แต่คนนี้โกงไม่ได้ กล่าวหาและดำเนินคดี แต่คนนี้รอดทุกที และอธิบายเหตผลที่คนฟังไม่ได้ นี่คือความเหลื่อมล้ำความอยุติธรรม สองมาตรฐาน ทำให้มีปัญหา นี่คือรากหลัก แต่เรายังไม่ได้รับโจทย์เหล่านี้ แต่เวลาคุยกันมักจะบอกคดี มาตรา 112 และคดีทุจริต ทั้งที่บอกว่าไม่มีนิรโทษ และอภัยโทษ ผมจึงอธิบายในฐานะคนติดคุกมาหลายรอบ”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,232 วันที่ 2 - 4 กุมภาพันธ์ 2560