สตช.เปิดสถิติอายัดเงินแก๊งมิจฉาชีพสูงขึ้น 6 เท่า ยอด 1,789 ล้านบาท

12 ม.ค. 2567 | 07:05 น.

สตช.เปิดสถิติอายัดเงินจากแก๊งมิจฉาชีพ สูงขึ้น 6 เท่า ยอดรวม 1,789 ล้านบาท หลัง พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 มีผลบังคับใช้

วันนี้ (12 ม.ค. 2567) พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ได้มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาจได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งนับตั้งแต่วันที่ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยการออกกฎหมายดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน จากการถูกหลอกลวงจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 

ทั้งนี้กฎหมายได้ให้อำนาจธนาคารในการอายัดเงินชั่วคราวเป็นระยะเวลา 72 ชั่วโมง ทันทีที่มีผู้เสียหายแจ้งว่า ถูกหลอกลวงจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ก่อนที่ผู้เสียหายจะไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีและพนักงานสอบสวน จะแจ้งให้ธนาคารทราบเพื่ออายัดเงินจำนวนดังกล่าวต่อไป ซึ่งปัจจุบันผู้เสียหายสามารถแจ้งเหตุเบื้องต้นเพื่อให้ดำเนินการอายัดบัญชีชั่วคราวได้ที่สายด่วน 1441 นั้น

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) พบว่า สถิติการอายัดเงินที่ผู้เสียหายโอนให้กับกลุ่มมิจฉาชีพสูงขึ้นจากเดิมกว่า 6 เท่า โดยก่อนหน้าที่ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 มีผลบังคับใช้ (ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.- 16 มี.ค.66) สถิติการขออายัดเงินรวม 1,346 ล้านบาท อายัดเงินได้ทันเพียง 53 ล้านบาท “คิดเป็นร้อยละ 3.9” ของจำนวนเงินที่ขออายัด

ส่วนสถิติหลังจากที่ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 มีผลบังคับใช้ (ระหว่างวันที่ 17 มี.ค.- 31 ธ.ค.2566) มีสถิติการขออายัดเงินรวม 7,496 ล้านบาท อายัดเงินได้ทัน 1,789 ล้านบาท “คิดเป็นร้อยละ 23.9” ของจำนวนเงินที่ขออายัด ซึ่งสูงกว่าเดิมถึง 6 เท่า

อย่างไรก็ตาม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอเรียนว่า แม้ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 จะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถอายัดเงิน ที่ผู้เสียหายโอนให้กลุ่มมิจฉาชีพได้มากขึ้น แต่ก็ยังมีเงินอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถอายัดได้ทัน จึงขอให้พี่น้องประชาชนระมัดระวังไม่หลงเชื่อสิ่งที่เห็น หรือได้ยินบนโลกออนไลน์ ตามหลัก “ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน” เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

สุดท้ายนี้ หากพี่น้องประชาชนได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่ศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ บนเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.go.th หรือสายด่วน 1441 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง