ศธ.พับนโยบาย "แจกแท็บเล็ตนักเรียน" เปลี่ยนเป็นแจก "โน้ตบุ๊ก" แทน

16 พ.ย. 2566 | 10:28 น.

"สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล" รมช.ศึกษาธิการ มอบนโยบายสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประกาศพับนโยบาย "แจกแท็บเล็ตนักเรียน" แต่เปลี่ยนเป็นแจก "แล็ปท็อป-โน๊ตบุ๊ก" แทน เริ่มลอตแรกสำหรับนักเรียนม.ต้น และครูเริ่มปี 67

วันที่ 16 พ.ย. 66 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยความคืบหน้า "นโยบายแจกแท็บเล็ตนักเรียน" ล่าสุดว่าอาจมีการปรับรูปแบบที่ไม่แจกเป็นแท็บเล็ตแล้ว 

โดย รมช.สุรศักดิ์ กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธานประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.)  ที่ โรงแรมเทวราช จ.น่านว่า นโยบายการแจกแท็บเล็ตนักเรียน ขณะนี้อาจมีการปรับรูปแบบที่ไม่แจกเป็นแท็บเล็ตแล้ว แต่จะแจกเป็นแล็ปท็อป หรือโน้ตบุ๊กแทน ต้องการให้เกิดความคุ้มค่า

"โดยการปรับเปลี่ยนครั้งนี้เกิดจากการฟังเสียงสะท้อนของครูและนักเรียนว่าแล็ปท็อปจะเกิดประโยชน์ต่อการใช้งานมากกว่า เพราะหากเป็นแท็บเล็ตจะตกรุ่นเร็ว"นายสุรศักดิ์ กล่าว 

นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

"การดำเนินการเรื่องการแจกแล็ปท็อปนั้นจะจัดทำในรูปแบบการเช่าที่มาพร้อมแพ็กเกจสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยจะเริ่มแจกแล็ปท็อปของงบประมาณปี 67 ในกลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นก่อน เพราะงบประมาณมีจำนวนจำกัด หลังจากนั้นจะขยายแจกเพิ่มเติมต่อไป ซึ่งในจำนวนนี้ครูจะได้รับแจกด้วยเช่นกัน เพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการจัดการเรียนการสอน"

รมช.ศึกษา กล่าวด้วยว่า จะดำเนินการเรื่องแจกแล็ปท็อปจนทุกคนต้องร้องว้าว เคยมีข้อครหาว่าการซื้อของหลวงมีราคาแพงกว่าท้องตลาด แต่ครั้งนี้จะมีราคาอย่างสมเหตุสมผลแน่นอน เพราะการเช่าดูแลสินค้ามีครบวงจรกว่า โดยจะเกิดความเหมาะสมทั้งสเปก คุณภาพ และการใช้งาน ทั้งนี้เราคาดหวังว่าความเท่าเทียมการศึกษาจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ย้อนคำแถลงนโยบายรัฐบาลของ "นายกฯเศรษฐา"

ฐานเศรษฐกิจ ตรวจสอบคำแถลงนโยบาย ของคณะรัฐมนตรี ของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ถึงนโยบายด้านการศึกษาแบบคำต่อคำว่า 

"ในด้านการศึกษา รัฐบาลจะดำเนินนโยบายปฏิรูปการศึกษาและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต มุ่งส่งเสริมให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพของผู้เรียนตามความถนัด เพื่อสร้างอนาคต สร้างรายได้กระจายอำนาจการศึกษาให้ผู้เรียนได้เข้าถึงการเรียนรู้อย่างทั่วถึง มีอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสมต่อผู้เรียนแต่ละวัย 

และใช้ระบบเทคโนโลยีการศึกษาสมัยใหม่ จัดทำหลักสูตรและให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับความรู้ความสนใจของผู้เรียน ส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาทั้งในด้านสังคม ด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (Applied Science) และการวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) 

ศธ.พับนโยบาย \"แจกแท็บเล็ตนักเรียน\" เปลี่ยนเป็นแจก \"โน้ตบุ๊ก\" แทน

เพื่อต่อยอดให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยไม่ละเลยการศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของประเทศและการปลูกฝังความรักในสถาบันหลักของชาติ เพื่อให้มีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคม และการเมืองของโลกสมัยใหม่อย่างมีคุณธรรมและจริยธรรม

รัฐบาลจะให้ความสำคัญต่อความมีคุณภาพของครูทั้งประเทศ รวมไปถึงครูแนะแนวเพื่อช่วยให้นักเรียนได้รับคำแนะนำด้านเนื้อหาของวิชาการและการเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจเลือกเรียนและประกอบอาชีพ รวมไปถึงการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจของนักเรียนทุกคน นอกจากนี้รัฐบาลจะส่งเสริมการสร้างรายได้ให้แก่นักเรียน นักศึกษา 

ทั้งสายวิชาการและสายอาชีพให้มีรายได้จากวิชาที่เรียน โอกาสฝึกงานระหว่างเรียน เพื่อสร้างบุคลากรที่มีทักษะและความสามารถตรงต่อความต้องการของการจ้างงาน และที่สำคัญที่สุด รัฐบาลจะดำเนินการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เป็นรากฐานสำคัญของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

 

ย้อนนโยบายการศึกษาพรรคเพื่อไทยในการหาเสียงเลือกตั้ง

นอกจากนี้ ฐานเศรษฐกิจ ยังตรวจสอบนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นนโยบายด้านการศึกษา โดยมีรายละเอียดนโยบาย

  • ส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านขั้นตอน Learn to Earn เพื่อ “เรียนรู้มีรายได้ เรียนรู้ง่ายตลอดชีวิต” ทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้ทุกช่วงทุกวัย สามารถโอนหน่วยกิตที่สะสมไว้ หางานได้ในทุกช่วงของชีวิต 
  • จบปริญญาตรีอายุ 18 ปรับระบบการศึกษาจาก 6-6-4 ไปสู่ระบบการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อสนับสนุนคนเข้าตลาดแรงงานเร็วขึ้น 
  • “Free tablet for all” โครงการ 1 นักเรียน 1 แท็บเล็ต และ โครงการ 1 ครู 1 แท็บเล็ต เพื่อเปิดโอกาสทางการศึกษาผ่านออนไลน์
  • โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน (ODOS) เพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาให้กับประชาชน
  • เรียนฟรีต้องฟรีจริง เพิ่มงบอาหารกลางวันและบริการรถรับส่งนักเรียนฟรี
  • เรียนอาชีวะฟรีมีอยู่จริง ปั้นสถานอาชีวะเป็นศูนย์สร้างสรรค์สร้างตัวได้
  • โรงเรียน 2 ภาษาในทุกท้องถิ่น สอนภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษและภาษาจีน ตั้งแต่ ป.1 ใช้ครูต่างประเทศสอนเสริมร่วมกับครูไทย ทั้งในห้องเรียนและออนไลน์
  • มีศูนย์การเรียนรู้แบบ TCDC และ TK Park ให้ครบทุกจังหวัด