รัฐบาล คลอดมาตรการคุมอาวุธปืน สั่งด่วนผู้ว่าฯ-นายทะเบียน เลิกออกใบอนุญาต

05 ต.ค. 2566 | 06:41 น.

รัฐบาล คลอดมาตรการคุมอาวุธปืน ระยะสั้น และ ระยะยาว สั่งด่วนผู้ว่าฯ-นายทะเบียน งดการออกใบอนุญาต ทั้งนำเข้า การค้า และงดออกใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว เช็ครายละเอียดทั้งหมดรวมไว้ที่นี่

วันนี้ (5 ตุลาคม 2566) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ในการประชุมร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อพิจารณาแนวทางจำกัดการออกใบอนุญาตพกปืนแก่บุคคลทั่วไป ได้ออกมาตรการคุมเข้มอาวุธปืน โดยออกมาเป็นมาตรการระยะสั้น และมาตรการระยะยาว มีสาระสำคัญ คือ จะงดการออกใบอนุญาต ทั้งนำเข้า การค้า และงดออกใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว

 

การประชุมร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อพิจารณาแนวทางจำกัดการออกใบอนุญาตพกปืนแก่บุคคลทั่วไป

 

มาตรการระยะสั้น

สำหรับมาตรการระยะสั้น มีด้วยกัน 8 เรื่องประกอบด้วย

1.ให้นายทะเบียนอาวุธปืนทั่วประเทศ (นายอำเภอในต่างจังหวัด/อธิบดีกรมการปกครองใน กทม.) งดการออกใบอนุญาตให้สั่ง นำเข้า หรือค้า ซึ่งสิ่งเทียมอาวุธปืนทุกชนิด (สำหรับผู้รับใบอนุญาตรายเดิมที่จะสั่งนำเข้าเพิ่มเติม) และไม่อนุญาตให้รายใหม่ขออนุญาตเป็นผู้ค้า สั่งนำเข้าสิ่งเทียมอาวุธปืนเพิ่มอีก

2.ขอให้ผู้ครอบครองแบลงค์กัน บีบีกัน หรือสิ่งเทียมอาวุธปืน ที่อาจจะตัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้ให้นำแบลงค์กัน บีบีกัน หรือสิ่งเทียมอาวุธปืนของตนที่ครอบครองอยู่ ไปแสดงและทำบันทึกต่อนายทะเบียนอาวุธปืนตามภูมิลำเนาซึ่งตนมีทะเบียนบ้านอยู่

3.ให้กรมศุลกากรตรวจสอบการนำเข้าสิ่งเทียมอาวุธปืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แบลงค์กันและบีบีกัน ที่สามารถดัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้อย่างเข้มงวด

4. ให้การกีฬาแห่งประเทศไทย ซึ่งกำกับดูแลสนามยิงปืนที่ได้จดทะเบียนเป็นสมาคมกีฬาทั่วประเทศให้มีการกวดขัน ตรวจสอบทั่วประเทศ มีรายละเอียดดังนี้

  • ห้ามผู้มีอายุไม่เกิน 20 ปี เข้าสนามยิงปืน ยกเว้น ได้รับการอนุญาตตามระเบียบการกีฬาแห่งประเทศไทย เช่น นักกีฬายิงปืนทีมชาติ
  • อาวุธปืนที่ใช้ต้องมีทะเบียนถูกต้อง และตรงตัวกับผู้มาใช้บริการ
  • ห้ามนำกระสุนปืนออกภายนอกสนามเด็ดขาด
  • สำหรับกรณีสนามยิงปืนในการกำกับดูแลของส่วนราชการ ขอให้ดำเนินการกวดขัน ตรวจสอบ ให้ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการและข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัดเช่นเดียวกัน

 

การประชุมร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อพิจารณาแนวทางจำกัดการออกใบอนุญาตพกปืนแก่บุคคลทั่วไป

 

5. ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ งดออกใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว 

6. กระทรวงมหาดไทยไม่มีนโยบายดำเนินการโครงการอาวุธปืน คนละ 1 กระบอก

7. ให้นายทะเบียนงดการออกใบอนุญาตสั่งนำเข้าอาวุธปืนของร้านค้าอาวุธปืนตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

8. ขอความร่วมมือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี/บช.สอท.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมปราบปราม และปิดเว็บไซต์ เพจออนไลน์ซื้อขายอาวุธปืนเถื่อน และสิ่งเทียมอาวุธปืนดัดแปลงเป็นอาวุธปืน โดยขอให้รายงานผลการปฏิบัติให้กระทรวงมหาดไทยทราบทุก 15 วัน

 

การประชุมร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อพิจารณาแนวทางจำกัดการออกใบอนุญาตพกปืนแก่บุคคลทั่วไป

มาตรการระยะยาว

ส่วนมาตรการระยะยาว จะมีการแก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ดังนี้

  • ต้องมีเอกสารใบรับรองแพทย์ที่รับรองเรื่องสุขภาพจิต ภาวะทางจิตใจ ที่ผู้ขออนุญาตซื้ออาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนต้องใช้ประกอบในการยื่นคำขอ
  • กำหนดความหมาย บทนิยาม ของคำว่า "สิ่งเทียมอาวุธปืน" ไม่ให้หมายความรวมถึงแบลงค์กัน บีบีกัน หรือสิ่งเทียมอาวุธปีนอื่น ที่สามารถดัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้ง่าย
  • กำหนดให้ผู้ที่จะซื้อสิ่งเทียมอาวุธปืนที่สามารถตัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้ ต้องยื่นคำขอต่อนายทะเบียนอาวุธปืน
  • ผู้ครอบครองอาวุธปืนทั่วประเทศทั้งรายเดิมที่มีอยู่แล้ว และรายใหม่ ที่อาจจะมีเพิ่มขึ้นจะต้องนำอาวุธปืน มายิงทดสอบเก็บข้อมูลหัวกระสุนทุกกระบอก ทุกราย
  • ให้ใบอนุญาตมีและใช้อาวุธปืน (ป.4) มีอายุของใบอนุญาต ซึ่งผู้ที่ได้รับใบอนุญาตไปแล้วจะต้องนำอาวุธปืนมารายงานตัว กับนายทะเบียน ในทุก 5-10 ปี เพื่อพิจารณาต่ออายุใบอนุญาตเช่นเดียวกับใบขับขี่รถยนต์

นายอนุทิน กล่าวว่า การหารือกับหน่วยงานต่าง ๆ ครั้งนี้ พยายามที่จะใช้กฎหมายที่กระทรวงมหาดไทยกำกับดูแลอยู่ และบังคับใช้อย่างเต็มที่ โดยมาตรการที่ออกมานั้น กรมการปกครองจะรีบไปออกหนังสือสั่งการเพื่อให้มีผลบังคับใช้ทันที ส่วนที่อยู่นอกเหนืออำนาจ และได้มีข้อเสนอมายังกระทรวงมหาดไทย เช่น ความปลอดภัย หรือการเปลี่ยนมือ จะรวบรวมเพื่อรายงานต่อนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง