รัฐบาล นัดสังคายนา ออกใบอนุญาตพกปืนบุคคลทั่วไป วันนี้

04 ต.ค. 2566 | 21:44 น.

รองนายกฯ “อนุทิน” นัดหารือวันนี้ พิจารณาแนวทางจำกัดการออกใบอนุญาตพกปืนแก่บุคคลทั่วไป หลังเหตุกราดยิงบริเวณห้างพารากอน พร้อมคลอดมาตรการควบคุม ครอบครอง พกพา ใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุน สิ่งเทียมปืน

วันนี้ (5 ตุลาคม 2566) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะเป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาแนวทางจำกัดการออกใบอนุญาตพกปืนแก่บุคคลทั่วไป หลังจากเกิดกรณีการกราดยิงบริเวณห้างพารากอน จนทำให้มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บหลายราย

โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีข้อสั่งการให้อธิบดีกรมการปกครองประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรวบรวมข้อมูล และเสนอเป็นแนวทางให้กับที่ประชุมพิจารณากำหนดมาตรการควบคุมการครอบครอง การพกพา และการใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุน สิ่งเทียมปืน 

ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ขณะเดียวกันในการประชุมครั้งนี้ ยังพิจารณาแนวทางการเสนอให้มีการแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องหากมีความจำเป็นด้วย

 

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย กล่าวก่อนหน้านี้ว่า จากนี้อาจจะเปิดให้มีการขึ้นทะเบียนผู้ครอบครองปืนบีบีตลอดจนสิ่งเทียมอาวุธอื่นอย่างถูกต้อง โดยยอมรับว่า กระทรวงมหาดไทย ต้องจัดระเบียบ ไม่ให้มีการเข้าถึงหรือได้มาซึ่งปืนและอาวุธร้ายแรงเหมือนกับที่ผ่านมา 

“ได้มอบหมายให้อธิบดีกรมการปกครอง เข้าไปตรวจสอบและป้องกัน อาจเพิ่มการลงโทษไม่ให้เกิดความรุนแรง และไม่ให้คนพกปืนไปไหนมาไหนในชีวิตประจำวัน โดยมาตรการการตรวจสอบและป้องกันการครอบครองอาวุธปืนจะรวมไปถึงปืนดัดแปลงและสิ่งเทียมอาวุธ อย่างปืนบีบีกัน เพราะสามารถนำไปดัดแปลงได้ อาจถึงการจำกัดการซื้อและการเข้าถึง เพราะปืนบีบีกันมีความอันตราย หากยืนในระยะประชิดก็มีอนุภาคทำให้เกิดการบาดเจ็บสาหัสได้เช่นกัน”

จากข้อมูลของหอสมุดรัฐสภา ระบุข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการควบคุมการใช้อาวุธปืนในประเทศไทย โดยพบว่า ตามข้อมูลของ World Population Review ได้เผยแพร่ผลสำรวจประเทศที่มีกรณีการเสียชีวิตด้วยอาวุธปืนมากที่สุดในโลก ประจำปี 2565 พบว่า ประเทศไทยติดอันดับที่ 15 ของโลก โดยมีผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืน จำนวน 2,804 คน และมีอัตราการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับอาวุธปืนเฉลี่ย 3.91 คนต่อประชากร 1 แสนคน

 

รัฐบาล นัดสังคายนา ออกใบอนุญาตพกปืนบุคคลทั่วไป วันนี้

ส่วนการควบคุมนั้น ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการออกพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดและดอกไม้เพลิง พ.ศ. 2477 เพื่อกำหนดห้ามมิให้บุคคลมีอาวุธปืนและใช้เครื่องกระสุนปืนบางชนิด รวมทั้งกำหนดเกี่ยวกับการอนุญาตการใช้อาวุธปืนด้วย ซึ่งกฎหมายดังกล่าวบังคับใช้มาเป็นเวลา 13 ปี 

ก่อนจะมีการตรากฎหมายใหม่ คือ พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน 2490 มาจนถึงปัจจุบันและได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาแล้ว 9 ครั้ง โดยมีกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการตามพระราชบัญญัติดังกล่าว 

โดยให้กรมการปกครองมีหน้าที่รับผิดชอบในการบังคับใช้ ควบคุมและกำกับดูแลการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับอาวุธปืน รวมทั้งการนำเข้าการจำหน่ายอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน และ การอนุญาต อนุมัติและการจำกัดอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนให้เป็นไปตามกฎหมาย
ตามกฎหมายฉบับนี้

กำหนดให้ผู้ขอมีและใช้อาวุธปืนต้องเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติไม่ขัดต่อมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เช่น ต้องไม่เป็นบุคคลซึ่งต้องโทษจำคุกในกรณีต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด บุคคลซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ บุคคลซึ่งไม่สามารถใช้อาวุธปืนได้โดยกายพิการหรือทุพพลภาพ 

บุคคลซึ่งเป็นผู้ไร้ความสามารถ คนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ บุคคลซึ่งไม่มีอาชีพและรายได้ บุคคลซึ่งไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง บุคคลซึ่งมีความประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง โดยผู้ขอและใช้อาวุธปืนต้องมีภูมิลำเนาซึ่งบุคคลนั้นมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร และมีถิ่นที่อยู่ประจำในท้องที่ที่บุคคลนั้นขออนุญาตไม่น้อยกว่า 6 เดือน

 

รัฐบาล นัดสังคายนา ออกใบอนุญาตพกปืนบุคคลทั่วไป วันนี้

 

อย่างไรก็ตามเมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมาในสมัยรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีการประชุมเพื่อกำหนดแนวทางมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดและอาวุธปืน ได้ให้ความเห็นชอบมาตรการเร่งด่วนเกี่ยวกับอาวุธปืน คือ ให้มีการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับอาวุธปืนและกระสุนปืนอย่างเข้มงวด 

ทั้งการออกใบอนุญาต การต่อใบอนุญาตและการพกพา ผู้ยื่นคำขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืนต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมาย มีการตรวจสอบและรับรองทางจิตว่าไม่เป็นผู้วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือน โดยจะต้องได้รับการรับรองจากผู้บังคับบัญชา ผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ ว่าไม่มีพฤติการณ์ที่เป็นภัยต่อสังคม 

พร้อมมีมาตรการตรวจสอบทบทวนเพื่อพิจารณาคุณสมบัติของผู้ขออนุญาตในทุกรอบระยะเวลาที่เหมาะสม รวมถึงเพิกถอนใบอนุญาตพกพาอาวุธปืนเมื่อพบปัญหาทางจิต หรือมีการใช้ยาเสพติดและมีพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อสังคม ให้มีการกวาดล้างจับกุมอาวุธเถื่อนและการซื้อขายอาวุธปืนออนไลน์อย่างจริงจัง และทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้มีความทันสมัย