เปิดประวัติครูเพลง “ชลธี ธารทอง" ศิลปินแห่งชาติปี42 เจ้าของฉายา"เทวดาเพลง"

21 ก.ค. 2566 | 23:36 น.

นับเป็นข่าวเศร้าอย่างยิ่งสำหรับวงการเพลงลูกทุ่งเมื่อยอดครูเพลง “ชลธี ธารทอง” ศิลปินแห่งชาติปี 2542  เจ้าของฉายา "เทวดาเพลง" ลาลับดับแสงเมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2566 เหลือไว้เพียงผลงานเพลงและความอาลัย

 

ครูชลธี ธารทอง นามเดิม "สมนึก ทองมา" เกิดเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2480 จบการศึกษาชั้นประถม 1-3 ที่โรงเรียนวัดแก้วศิลาราม จ.ชลบุรี ชั้นประถม 4-6 ที่โรงเรียนวัดโคกขี้หนอน จ.ชลบุรี ชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนประชาสงเคราะห์ อ.พานทอง จ.ชลบุรี จากนั้นก็ย้ายมาอยู่กับญาติที่จังหวัดราชบุรี ชีวิตวัยเด็กของครูชลธีนับว่าฝ่าฟันความยากลำบาก ผ่านงานมาหลากหลายอาชีพ ตั้งแต่งานในไร่นา ขุดดิน เผาถ่าน ช่างไม้ ก่อสร้าง กรรมกร กระทั่งเป็นนักมวย ลิเก นักพากย์หนัง หางเครื่อง จนมาเป็นนักร้องเพลงลูกทุ่ง

"ครูชลธี" หลงใหลในมนต์เสน่ห์ของ เพลงลูกทุ่ง มาตั้งแต่วัยเยาว์ เคยเป็นนักร้องเพลงเชียร์รำวงของวงดาวทอง ต่อมาสมัครเป็นนักร้องในวงดนตรีของสุรพล สมบัติเจริญ และได้ขึ้นเวทีในวันที่สมัคร แต่ครูชลธีไม่มีที่พักในกรุงเทพฯ ต้องเดินทางไป-กลับระหว่างกรุงเทพฯ และจ.ราชบุรี อีกทั้งไม่ชำนาญเส้นทางในกรุงเทพฯ ทำให้เข้าวงสายตลอด 3 วัน จนกระทั่งถูกไล่ออก แต่หลังจากนั้นก็มีผู้ชักชวนมาอยู่วงลิเกและพากย์หนัง พอบวชและสึกแล้วก็มาเป็นหางเครื่องวงของเทียนชัย สมญาประเสริฐ ซึ่งมี ผ่องศรี วรนุช นักร้องดัง รวมอยู่ด้วย แต่อยู่ได้ไม่นานครูต้องลาออกจากวง เพราะถูกกล่าวหาว่าขโมยทองของนักร้องในวงระหว่างที่รถของคณะเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำ

ครูชลธี ธารทอง ในวัยหนุ่ม (ขอบคุณภาพจากเพจศศิวิมล ครูปุ้ม รัตนอำพันธุ์)

ที่มาของชื่อในวงการ และการพบกับ "พี่เป้า" โดยบังเอิญ

ชีวิตยังต้องเดินหน้าต่อ ครูชลธีสมัครเข้าประกวดร้องเพลงซึ่งจัดโดยวงรวมดาวกระจายของครูสำเนียง ม่วงทอง โดยใช้เพลงที่เขาแต่งขึ้นและได้รางวัลชนะเลิศ ครูสำเนียงจึงรับมาอยู่ร่วมคณะ แต่ถึงกระนั้น ครูชลธีก็ยังไม่ได้ขึ้นร้องเพราะนักร้องของวงมีเต็มแล้ว

ครูสำเนียงผู้นี้เอง ที่เป็นคนตั้งชื่อให้ครูชลธี ซึ่งเดิมชื่อ “สมนึก ทองมา” ว่า “ชลธี ธารทอง” เพราะเป็นคนจังหวัดชลบุรีนั่นเอง

ครูชลธีได้ขึ้นร้องเพลงหลังจากอยู่วงมาปีครึ่ง ต่อมาได้อัดแผ่นเสียงรวม 4 เพลงแต่ไม่ดัง ช่วงนั้นเขาศึกษาวิชาแต่งเพลงจากครูสำเนียง และนำความรู้ความสามารถในการเขียนโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน มาใช้ในการแต่งเพลง นั่นเป็นจุดเริ่มต้นการเป็นนักแต่งเพลงซึ่งบนเส้นทางนี้ มีเรื่องเล่าและความทรงจำมากมาย หนึ่งในนั้นคือเรื่องของครูชลธี กับ “พี่เป้า” สายัณห์ สัญญา

เรื่องมีอยู่ว่า ช่วงหนึ่งของชีวิต ครูชลธีตัดสินใจหันหลังให้วงการเพลง และพาครอบครัวไปช่วยพ่อตาแม่ยายทำไร่ข้าวโพดที่แก่งเสือเต้น แต่ก่อนออกจาก กทม. เขาบังเอิญพบกับ “สายัณห์ สัญญา” ซึ่งในเวลานั้นเป็นเพียงเด็กล้างรถที่ปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งแถวบุคคโล ครูชลธีรู้สึกถูกใจในน้ำเสียงของเขา จึงได้มอบเพลง 2 เพลงที่แต่งไว้ และเดิมกะจะมอบให้ศรคีรี ศรีประจวบ นำไปร้อง แต่เนื่องจากศรคีรีประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตไปก่อน  ครูชลธีจึงมอบสองเพลงนี้ให้ “พี่เป้า” ไปโดยไม่คิดเงิน ซึ่งก็คือเพลง "ลูกสาวผู้การ" และ "แหม่มปลาร้า"

ชื่อ "ชลธี ธารทอง" ของท่าน มาจากบ้านเกิดคือจังหวัดชลบุรีนั่นเอง (ขอบคุณภาพจากเพจศศิวิมล ครูปุ้ม รัตนอำพันธุ์)

ฝากผลงานไว้มากกว่า 2,000 เพลง

ปรากฏว่า เมื่อสายัณห์ สัญญา โด่งดัง ครูชลธีจึงถูกมนต์ เมืองเหนือ เรียกตัวกลับกรุงเทพฯ เพื่อให้แต่งเพลงสร้างผลงานและปั้นนักร้องลูกทุ่งออกมาประดับวงการต่อไป โดยครูชลธีมีผลงานการประพันธ์เพลงมากกว่า 2,000 เพลง

บทเพลงของครูชลธี ซึ่งโด่งดังเป็นที่รู้จักกันดี ร้องตามกันได้ทั่วบ้านทั่วเมืองนั้น มีมากมายนับไม่ถ้วน อาทิ ไอ้หนุ่มรถไถ, ทหารอากาศขาดรัก (ขับร้องโดย “พี่เป้า” สายัณห์ สัญญา) จดหมายจากแม่, เรียกพี่ได้ไหม (เสรีย์ รุ่งสว่าง) ไอ้หนุ่มตังเก, จดหมายจากแนวหน้า, จำปาลืมต้น, ล่องเรือหารัก,ทหารอากาศขาดรัก (“พี่แอ๊ว” ยอดรัก สลักใจ) วันนี้สวยกว่าเมื่อวาน (ก๊อต จักรพันธ์) และอีกหลายต่อหลายเพลง

ทั้งนี้ จุดเด่นอันเป็นเอกลักษณ์ในบทเพลงของครูชลธี ผู้ได้รับฉายา “เทวดาเพลง” คือการเลือกสรรถ้อยคำในลักษณะของกวีนิพนธ์มาใช้ในการแต่งเพลง อีกทั้งเนื้อหายังมีสาระส่งเสริมคุณค่าวิถีชีวิตไทย ท่วงทำนองเพลงมีความไพเราะตรึงใจผู้ฟัง ผลงานเพลงล้วนแต่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของนักฟังเพลง สร้างนักร้องลูกทุ่งให้มีชื่อเสียงขึ้นมาประดับวงการเป็นจำนวนมาก อาทิ สายัณห์ สัญญา, ยอดรัก สลักใจ, ก๊อต จักรพันธ์, ศรเพชร ศรสุพรรณ, สดใส รุ่งโพธิ์ทอง, เสรี รุ่งสว่าง, ดำรง วงศ์ทอง เป็นต้น

ในปี 2542 สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ได้ยกย่องให้ "ครูชลธี ธารทอง" เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักประพันธ์เพลงลูกทุ่ง)

ครูชลธี และ "ครูปุ้ม" คู่ทุกข์คู่ยาก (ขอบคุณภาพจากเพจศศิวิมล ครูปุ้ม รัตนอำพันธุ์)

ด้านชีวิตครอบครัวนั้น  ครูชลธีแต่งงานกับภรรยาคนแรก มีลูกกัน 2 คน โดยปัจจุบันจนถึงวาระสุดท้ายใช้ชีวิตอยู่กับภรรยาคนที่สอง คือ "ครูปุ้ม” ศศิวิมล ทองมา ซึ่งแม้จะมีอายุห่างกันถึง 28 ปี แต่ก็เป็นคู่ทุกข์คู่ยากที่อยู่เคียงข้างกันและกันตราบจนวาระสุดท้าย โดยเมื่อช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา "ครูชลธี" ล้มป่วยและติดเชื้อในกระแสเลือด ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลและนอนพักรักษาตัวหลายเดือน

กระทั่งวันที่ 21 กรกฎาคม 2566 “ครูปุ้ม” ได้โพสต์เฟซบุ๊กแจ้งว่า "ครูชลธี" อาการทรุดหนัก แพทย์โทรตามญาติ จากนั้นในวันเดียวกันก็ได้แจ้งข่าวเศร้า "ครูชลธี" จากไปอย่างสงบเมื่อเวลา 17.57 น. ในวัย 86 ปี ท่ามกลางความอาลัยรักจากครอบครัว และลูกศิษย์ทั้งในและนอกวงการ ตลอดจนแฟนเพลงทั่วประเทศ

“ฐานเศรษฐกิจ” ขอแสดงความเสียใจมายังครอบครัวครูชลธี ธารทอง มา ณ โอกาสนี้