อาลัย "ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม"อดีต รมช.สธ. ผู้ปลุกกระแสวิ่งเพื่อสุขภาพ

14 มิ.ย. 2566 | 02:54 น.

แวดวงสุขภาพอาลัยการจากไปของ “ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม” ที่ปรึกษา สสส. และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา ขณะอายุ 81 ปี  

 

14 มิ.ย.2566 มีการแจ้งข่าวผ่านทางเฟซบุ๊กของคุณแพรวไพลิน (นาว) ศรีแสงนาม บุตรสาวของ ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ข้อความระบุว่า “สวัสดีค่ะ ขออนุญาตแจ้งข่าว คุณพ่อของนาว ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม Udomsil Srisangnam ได้จากไปอย่างสงบเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 13 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ทางครอบครัวได้จัดให้มีงานบำเพ็ญกุศล และสวดอภิธรรม เป็นเวลา 5 คืนด้วยกันค่ะ”

ก่อนหน้านี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ที่ปรึกษาคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย) ได้เสียชีวิตอย่างสงบเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับสาเหตุการเสียชีวิต

ทั้งนี้ ครอบครัวได้แจ้งกำหนดการบำเพ็ญกุศล และ สวดพระอภิธรรม อุทิศ ณ ศาลา สิทธิสยามการ (ศาลา 4) วัดธาตุทอง พระอารามหลวง ถ.สุขุมวิท เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร ในวันพฤหัสบดี 15 มิถุนายน 2566 เวลา 13.00 น. เป็นพิธีรดน้ำศพ และ พิธีฌาปนกิจศพ (ดำเนินการภายในครอบครัว)

วันที่ 16-18 มิถุนายน 2566 เวลา 18.30 น. แสดงธรรมเทศนา และ พิธีสวดพระอภิธรรม

วันจันทร์ 19 มิถุนายน 2566 เวลา 10.00 น. แสดงธรรมเทศนา เวลา 11.00 น.สวดพระพุทธมนต์ และ ถวายภัตตาหารเพล เวลา 18.30 น. สวดพระอภิธรรม ครั้งที่ 1 เวลา 19.30 น. สวดพระอภิธรรม ครั้งที่ 2

กำหนดสวดพระอภิธรรม

กำหนดสวดพระอภิธรรม

สำหรับ ประวัติของ ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม นั้น ท่านเกิดเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2485 เป็นบุตรของนายประชา กับนางพาณี ศรีแสงนาม จบการศึกษาจากโรงเรียนเทพศิรินทร์ และสำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิตจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี พ.ศ. 2511, Fellowship of the Royal College of Physicians, มหาวิทยาลัยเอดินบะระ (University of Edinburgh)

ด้านชีวิตครอบครัวสมรสกับนางมรกต ศรีแสงนาม (สกุลเดิม ดวงพัตรา) มีบุตร-ธิดา 4 คน

บนเส้นทางการทำงาน

ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม เป็นอดีตรองคณบดีฝ่ายพัฒนาบุคลากร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และอดีตเลขาธิการพรรคพลังธรรม เคยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร สังกัดพรรคพลังธรรม เขตเลือกตั้งที่ 5 เขตห้วยขวาง และเขตพระโขนง (บางส่วน) ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปี พ.ศ. 2531 และปี 2535 (ซึ่งปี 2535 มีการเลือกตั้งถึงสองครั้ง)

ท่านได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2535 ถึง 13 ตุลาคม พ.ศ. 2537 (เป็นการลาออกจากตำแหน่ง)

ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม คุณหมอผู้จุดประกายกระแสการวิ่งเพื่อสุขภาพ (ขอบคุณภาพจากเพจUdomsil Srisangnam )

ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม เป็นบุคคลริเริ่มผลักดันจนสามารถตั้งสถาบันสุขภาพจิต (กรมสุขภาพจิต) และ สถาบันแพทย์แผนไทย (กรมแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก) นอกจากนี้ ท่านยังเป็นผู้ก่อตั้งและนายกสมาคมสะมาริตันส์ แห่ง ประเทศไทย (Samaritans Thailand) เมื่อ พ.ศ. 2521 ซึ่งเป็นสมาคมที่ให้บริการเป็นเพื่อนพูดคุยทางโทรศัพท์ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย

คุณหมอยังเป็น ผู้จุดประกายกระแสการวิ่งเพื่อสุขภาพ มีผลงานการเขียนหนังสือสร้างแรงบันดาลใจเรื่อง "วิ่งสู่ชีวิตใหม่" (พ.ศ. 2539) จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน ถือเป็นคัมภีร์ที่นักวิ่งต้องอ่าน ท่านมีบทบาทสำคัญในการรณรงค์ "วิ่งสู่ชีวิตใหม่" โดยการสร้างความตระหนักให้คนหันมาออกกำลังกายมากขึ้น

ศ.นพ.อุดมศิลป์ เข้าร่วมงานกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในตำแหน่งรองผู้จัดการ และตำแหน่งที่ปรึกษาคณะกรรมการ ท่านเคยได้รับรางวัลมากมายจากผลงานด้านการส่งเสริมสุขภาพประชาชน อาทิ

  • รางวัล "สังข์เงิน" ผลงานดีเด่นด้านส่งเสริมสุขภาพพลานามัย
  • รางวัลบุคคลตัวอย่างแห่งปี 2541
  • รางวัลบุคคลยอดเยี่ยมด้านการบำบัดฟื้นฟูและพัฒนาผู้ติดยาเสพติด
  • และรางวัล "มหิดลทยากร" ปี 2551

นอกจากนี้ คุณหมอยังเป็นประธานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าและเครือข่ายลดอุบัติเหตุ และจัดรายการวิทยุคลื่น FM 96.5 MHz คลื่นความคิด "รายการดนตรีและชีวิต"

เมื่อปี 2559 คุณหมออุดมศิลป์เคยเล่าประสบการณ์ “เฉียด” เกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยจากโรคเส้นเลือดหัวใจตีบของท่านเองว่า ขณะที่ชีวิตแขวนอยู่บนเส้นด้าย ท่านพลิกอ่านนิตยสาร Asia Runner และเจอบทความที่เปลี่ยนชีวิตของท่านอย่างสิ้นเชิง

ในบทความนั้นเล่าว่า ชายคนหนึ่งชื่อจอห์น เป็นโรคหัวใจ และหมอบอกว่าเขาจะต้องตายในไม่ช้า แต่จอห์นเชื่อในร่างกายตัวเอง เขาใช้การออกวิ่งเยียวยาโรคร้ายจนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เมื่ออ่านจบ คุณหมอเกิดความประทับใจมาก และตัดสินใจที่จะรักษาตัวเองด้วยการวิ่งเหมือนเรื่องราวที่ท่านได้อ่านมา

"ผมน่าจะเป็นคนไทยคนแรก ที่ไปวิ่งที่ฮอนโนลูลูมาราธอนที่ฮาวาย ระยะทางกว่า 42 กิโลเมตร กลับมา ผมก็คุยลั่นศิริราช จนศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี ชวนมาเขียนคอลัมน์เรื่องการวิ่งในนิตยสารหมอชาวบ้าน ชื่อคอลัมน์วิ่งสู่วิถีชีวิตใหม่ และกลายเป็นวิ่งสู่ชีวิตใหม่ในตอนหลัง"

"3-5 กิโลเมตรคือการวิ่งเพื่อสุขภาพ มากกว่านั้นคือมาราธอน และเป็นชัยชนะส่วนบุคคล เวลาถึงเส้นชัย เราได้รู้ว่าเรายืนบนสองขาได้แน่นอน”

“ฐานเศรษฐกิจ” ขอร่วมแสดงความเสียใจมายังครอบครัวของ ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม มา ณ โอกาสนี้