เปิดประวัติ "ครูยุ่น" ในวันที่พ่อพระของเด็ก กลายเป็นผู้ต้องหา 8 กระทง

24 พ.ค. 2566 | 10:55 น.

แสงสปอตไลท์พลันสาดส่องมาที่ "ครูยุ่น" มนตรี สินทวิชัย เมื่อ“บิ๊กโจ๊ก” รอง ผบ.ตร. แถลงปิดคดีมูลนิธิคุ้มครองเด็กพร้อมสั่งดำเนินคดีครูยุ่นและภรรยาด้วย 8 ข้อกล่าวหา  ชีวิตอดีตพ่อพระของเด็กเกิดจุดหักเหได้อย่างไร

 

วันนี้ (24 พ.ค.) เวลา 11.00 น. ที่สมาคมพนักงานสอบสวนสโมสรตำรวจ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. กล่าว แถลงปิดคดีมูลนิธิคุ้มครองเด็ก หรือ บ้านพักเด็กครูยุ่น ที่มีผู้ยื่นร้องเรียน พร้อมสั่งดำเนินคดี “ครูยุ่น” นายมนตรี สินทวิชัย และภรรยา ข้อหาทำร้ายเด็ก และบังคับใช้แรงงาน รวมเบ็ดเสร็จ 8 ข้อกล่าวหา หลังสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานพบมีเด็กตกเป็นเหยื่อ 8 ราย จ่อขยายผลผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมีกรณีทางมูลนิธิวางตู้บริจาคเพื่อเรี่ยไรเงินนำมาใช้จ่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย

ข้อมูลจากตำรวจน่าตกใจ จากการสอบสวนเด็กที่เป็นผู้เสียหายร่วมกับสหวิชาชีพ พบว่ามีเด็กทั้งหมด 33 คน เคยถูกครูยุ่น ผู้ก่อตั้ง “มูลนิธิคุ้มครองเด็ก” (Child Protection Foundation) หรือที่รู้จักในนาม “บ้านคุ้มครองเด็กครูยุ่น” ลงโทษด้วยการทุบตีหลายครั้ง โดยถูกตีด้วยเหล็กหรือไม้ไผ่ ตบศีรษะ บีบคอ หรือแม้กระทั่งถูกลากไปกดน้ำที่อ่างน้ำจนสำลัก แม้เจ้าตัวจะเคยออกมาอธิบายว่า เป็นการตี “เพื่อสั่งสอนและไม่ได้ใช้แรงงานเด็ก” แต่การรวบรมพยานหลักฐานของตำรวจ ก็ออกมาเป็นการสั่งดำเนินคดีครูยุ่นและภรรยา ดังกล่าวมาข้างต้น

ย้อนรอยประวัติ "ครูยุ่น"

เรามาดูกันว่า “ครูยุ่น” วัย 61 ปี อดีตพ่อพระของเด็กและเยาวชน ที่มีบทบาทในการช่วยเหลือเด็กกว่า 400 คดีและทำงานด้านการพัฒนาเด็ก-เยาวชนมากว่า 30 ปี มีประวัติความเป็นมาอย่างไร และเขาเดินมาถึงจุดที่ตกเป็นผู้ต้องหาในวันนี้ ได้อย่างไร

นายมนตรี สินทวิชัย หรือที่ใครๆเรียกขานว่า "ครูยุ่น" จบการศึกษาคว้าวุฒิศึกษาบัณฑิต จากมศว. ประสานมิตร เขาก้าวเข้าสู่เส้นทางการเป็นอาสาช่วยเหลือเด็กเร่รอนมาอย่างต่อเนื่องจนทำให้ผู้คนที่พบเจอเรียกเขาอย่างคุ้นปากในเวลาต่อมาว่า "ครูยุ่น" ผู้เป็นทั้งนักสังคมสงเคราะห์และนักพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน

ในช่วงของวัยรุ่นอายุ 20 ต้นๆ ครูยุ่นได้ไปเห็นเด็กเร่ร่อนที่สนามหลวงอันเป็นแหล่งรวมตัวของผู้คนไร้บ้านในเมืองใหญ่กรุงเทพมหานคร เขาจึงได้รวบรวมกลุ่มแก๊งเพื่อนไปสอนหนังสือพร้อมกับช่วยกันระดมทุนส่วนตัวออกมาซื้ออาหารเลี้ยงเด็กๆ

การเข้าไปคลุกคลีกับเด็กๆ ด้อยโอกาสเหล่านี้เป็นระยะเวลากว่า 6 ปี ครูยุ่นเล่าว่า เขาได้รับรู้ถึงปัญหาของเยาวชนที่ถูกรังแกอย่างลึกซึ้ง ดังนั้น ในปีพ.ศ. 2534 ครูยุ่นจึงขยับขยายการช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรมอีกขั้นโดยการจัดตั้ง "บ้านคุ้มครองเด็ก" และจากนั้นก็จดทะเบียนเป็น "มูลนิธิคุ้มครองเด็ก" ด้วยการเช่าอาคารพาณิชย์ในซอยลาดพร้าว 106 ก่อนที่ในอีก 3 ปีถัดมา อาคารดังกล่าวได้กลายเป็นเรือนรับรองบ้านที่คุ้มครองหลังแรกของเด็กและเยาวชนที่ประสบปัญหาถูกทอดทิ้ง ถูกทำร้าย ถูกทารุณ ถูกล่วงละเมิดทางเพศหรือนำไปค้าประเวณี และบังคับขอทาน เพื่อให้พวกเขาได้พักพิงและเยียวยาจิตใจ

ครูยุ่นไม่เพียงทำหน้าที่ดูแลเด็กและเยาวชน แต่เขายังดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสมุทรสงครามในระหว่างทำงานด้านสิทธิเด็ก ช่วยเหลือเยาวชนและย้ายมูลนิธิคุ้มครองเด็กจากป่าคอนกรีตใจกลางกรุงเทพมหานคร เข้าสู่ป่าสวนอัมพวาในปีพ.ศ. 2543 โดยใช้ชื่อ "บ้านอัมพวา" มีด้วยกันทั้ง 2 หลังบนเนื้อที่ 1.5 ไร่

ทั้งนี้ มูลนิธิบ้านครูยุ่นได้จัดตั้งมูลนิธิเป็นนิติบุคลตามกฎหมาย เป็นองค์กรสาธารณะกุศลที่ไม่แสวงหากำไรและดำเนินงานจากเงินบริจาคในความดูแลของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.สมุทรสงคราม โดยมีนายแก้วสรร อติโพธิ ดำรงตำแหน่งเป็นประธานมูลนิธิ และครูยุ่นเป็นเลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองเด็ก

ทุกๆ 6 เดือนจะมีการตรวจในเรื่องสภาพแวดล้อม สุขอนามัย รายรับรายจ่าย และความปลอดภัยของเด็ก เพื่อประเมินต่อใบอนุญาตในแต่ละปี จากการทำงานมากว่า 30 ปี ช่วยเหลือเด็กกว่า 400 คดีด้วยกันและเป็นกระบอกเสียงให้กับเด็กๆในประเด็นต่างๆที่สำคัญ อาทิ การแก้ไขปัญหาเด็กแว้น (เยาวชนขี่รถซิ่ง) การแนะให้ใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก และการให้สื่อระวังการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับเด็ก ฯลฯ

ภายใต้ชายคาบ้านอัมพวาทั้ง 2 หลังนี้เอง ที่ก่อนเกิดคดีมีเด็กๆ อยู่ในความดูแลของครูยุ่นทั้งสิ้นจำนวน 56 ราย ได้เกิดการแจ้งเหตุเมื่อวันที่ 29 ต.ค.2565 โดยมูลนิธิเส้นด้ายได้เข้าแจ้งขอความช่วยเหลือจาก สภ.อัมพวา หลังพบเด็กซึ่งอยู่ในความดูแลของมูลนิธิคุ้มครองเด็กของครูยุ่นถูกทำร้ายร่างกาย โดยมีภาพถ่ายวิดีโอเป็นหลักฐานว่า เด็กจำนวนหนึ่งถูกครูยุ่นใช้ไม้ตี

ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.อัมพวา และ กก.5 บก.ปคม. พร้อมด้วย พม.จ.สมุทรสงคราม และมูลนิธิเส้นด้าย ได้เข้าตรวจสอบที่มูลนิธิคุ้มครองเด็ก (บ้านครูยุ่น) ณ บ้านเลขที่ 56 หมู่ 1 ต.สวนหลวง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม พบเด็กอายุตั้งแต่ 1 ปีเศษ ถึง 18 ปี รวมจำนวน 56 ราย จึงได้ร่วมกันคัดแยกเหยื่อ เบื้องต้นพบผู้ตกเป็นเหยื่อจำนวน 8 ราย จึงได้นำไปดูแลคุ้มครอง

ครูยุ่นโดนข้อกล่าวหาอะไรบ้าง

ครูยุ่นโดนข้อกล่าวหาอะไรบ้าง

การสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีกับครูยุ่น รวมทั้งสืบสวนขยายผลดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งเร่งให้การพิจารณาช่วยเหลือเยียวยาเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุดังกล่าว  ตำรวจเปิดเผยว่า มีเด็กทั้งหมด 33 คน เคยถูกครูยุ่นลงโทษด้วยการทุบตีหลายครั้ง โดยถูกตีด้วยเหล็กหรือไม้ไผ่ ตบศีรษะ บีบคอ หรือแม้กระทั่งถูกลากไปกดน้ำที่อ่างน้ำจนสำลัก

นอกจากนี้ เด็กบางคนยังถูกบังคับให้ไปทำงานที่บ้านแม่น้ำรีสอร์ต ต.บางขันแตก อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม ซึ่งเป็นของนางพิมล สินทวิชัย อายุ 61 ปี ภรรยาของครูยุ่น โดยทำหน้าที่ทำความสะอาดและเปลี่ยนผ้าปูที่นอน โดยจะให้ค่าแรงคนละ 40-60 บาท แต่หากไม่ไปทำ จะถูกหักเงินค่าขนมในแต่ละวัน

หลังพนักงานสอบสวน สภ.อัมพวา ได้สอบปากคำพยานมากกว่า 100 ปาก รวมทั้งตรวจสอบข้อมูลบุคคลที่เกี่ยวข้อง และเส้นทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับตัวครูยุ่นและมูลนิธิคุ้มครองเด็ก ได้สรุปสำนวนสั่งฟ้องผู้ต้องหาจำนวน 3 ราย ประกอบด้วย

1) นายมนตรี สินทวิชัย หรือ “ครูยุ่น” ดำเนินคดีฐาน

  • เป็นผู้ปกครองสวัสดิภาพโดยไม่ได้รับการแต่งตั้ง
  • เป็นผู้ปฏิบัติงานในสถานสงเคราะห์เด็ก ทำร้ายร่างกายหรือจิตใจหรือลงโทษเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแล โดยวิธีการรุนแรงประการอื่น กระทำอันเป็นการทารุณกรรมต่อร่างกายหรือจิตใจของเด็ก
  • ทำร้ายร่างกายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจ และทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ
  • ร่วมกันบังคับใช้แรงงาน โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อร่างกาย ขู่เข็ญด้วยประการใดๆ กระทำด้วยประการอื่นใด อันมีลักษณะคล้ายคลึงกันกับการกระทำดังกล่าวข้างต้น และได้กระทำให้ผู้ถูกกระทำนั้นอยู่ในสภาวะที่ไม่อาจขัดขืนได้
  • ร่วมกันกระทำความผิดฐาน ร่วมกันเป็นนายจ้างจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เป็นลูกจ้าง
  • ร่วมกันเป็นนายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
  • ร่วมกันเป็นนายจ้างจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเป็นลูกจ้าง โดยมิได้แจ้งการจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กนั้นต่อพนักงานตรวจแรงงานภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เด็กทำงาน
  • ร่วมกันกระทำด้วยประการใดอันเป็นการแสวงหาประโยชน์จากเด็ก  

2) นางพิมล ภรรยาครูยุ่น ดำเนินคดีฐาน

ร่วมกันบังคับใช้แรงงานโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อร่างกาย ขู่เข็ญด้วยประการใดๆ กระทำด้วยประการอื่นใด อันมีลักษณะคล้ายคลึงกันกับการกระทำดังกล่าวข้างต้น และได้กระทำให้ผู้ถูกกระทำนั้นอยู่ในสภาวะที่ไม่อาจขัดขืนได้, ร่วมกันกระทำความผิดฐาน ร่วมกันเป็นนายจ้างจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เป็นลูกจ้าง, ร่วมกันเป็นนายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ, ร่วมกันเป็นนายจ้างจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเป็นลูกจ้าง โดยมิได้แจ้งการจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กนั้นต่อพนักงานตรวจแรงงานภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เด็กทำงาน, ร่วมกันกระทำด้วยประการใดอันเป็นการแสวงหาประโยชน์จากเด็ก 

และ 3) มูลนิธิคุ้มครองเด็ก โดยมี นายแก้วสรร อติโพธิ เป็นประธานกรรมการฯ ดำเนินคดีฐาน

เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งสถานสงเคราะห์ ไม่ยื่นขอแต่งตั้งผู้ปกครองสวัสดิภาพเด็ก แต่ยังกระทำการเป็นผู้ปกครองสวัสดิภาพ

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2566 เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบพบว่า มูลนิธิคุ้มครองเด็กได้มีการวางตู้รับบริจาคที่บริเวณห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียล เวิลด์ ลาดพร้าว จึงได้ตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติม พบว่ามูลนิธิมีการวางตู้รับบริจาคหลายพื้นที่ทั่วประเทศมากกว่า 300 จุด เพื่อนำเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายของมูลนิธิ แต่มิได้มีการขออนุญาตตามกฎหมายแต่อย่างใด

จึงได้ร้องทุกข์ดำเนินคดีกับมูลนิธิคุ้มครองเด็ก พร้อมกรรมการจำนวน 6 คน ที่พื้นที่ สน.โชคชัย ในความผิดฐาน ทำการเรี่ยไรโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยออกหมายเรียกผู้ต้องหามารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 24 พ.ค.นี้ แต่ผู้ต้องหาส่งทนายมาติดต่อขอเลื่อนการเข้าพบไปอีก 2 สัปดาห์