เปิดประวัติ “มูลนิธิคุ้มครองเด็ก” ที่"ครูยุ่น"ถูกกล่าวหาใช้เเรงงาน

04 พ.ย. 2565 | 03:22 น.

"ครูยุ่น" เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองเด็ก ตกเป็นข่าวดังกรณีทำร้ายร่างกายเด็กเเละใช้แรงงานเด็ก เปิดประวัติ “มูลนิธิคุ้มครองเด็ก” มีที่มาอย่างไร

ครูยุ่น หรือ นายมนตรี สินทวิชัย เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองเด็ก ตกเป็นข่าวดังกรณีทำร้ายร่างกายเด็กภายในมูลนิธิฯ จนทำให้พัฒนาสังคมเข้ามาดำเนินการรับเด็กไปดูแลและ ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อถอดถอนใบอนุญาตการก่อตั้งมูลนิธิฯ

โดย ครูยุ่น  พร้อมด้วย นายแก้วสรร อติโพธิ ประธานมูลนิธิ ได้เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน เพื่อให้ปากคำและรับทราบตามหมายเรียกใน 2 ข้อหา คือ ทำร้ายร่างกายเด็ก และใช้แรงงานเด็ก  หลังจากมีการเปิดโปงเรื่องราวของมูลนิธิบ้านครูยุ่น หรือ มูลนิธิคุ้มครองเด็กสมุทรสงครามดังกล่าว ว่ามีการทำร้ายร่างกายเด็ก ตี ใช้แรงงาน

  • มูลนิธิคุ้มครองเด็ก (บ้านครูยุ่น) หรือชื่อภาษาอังกฤษคือ Child Protection Foundation ตั้งอยู่ที่ตำบลสวนหลวง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
  • ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2537 โดยได้รับการอนุญาตและรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นมูลนิธิ แต่การดำเนินงานของมูลนิธิบ้านครูยุ่นแห่งนี้ถือเป็นองค์กรสาธารณะกุศล รูปแบบนิติบุคคล ใช้เงินบริจาคในการดำเนินงาน โดยไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐ 
  • มีวัตถุประสงค์ เพื่อป้องกัน คุ้มครอง ช่วยเหลือ ฟื้นฟูและพัฒนาเด็กไทยที่ประสบปัญหาภาวะทุกข์ยาก ถูกทอดทิ้งและ ถูกรังแกจากผู้ใหญ่ในสังคม
  • ในปี 2544 มีเงินทุนบริจาคสนับสนุนจึงย้ายเด็กมาที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ในโครงการ คืนบ้านให้เด็กหลังที่ 2 บนเนื้อที่ 1.5 ไร่ เริ่มที่บ้านอัมพวา 1 ก่อนจะขยาย บ้านอัมพวา 2 ในปี 2548
  • นายแก้วสรร อติโพธิ ดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิคุ้มครองเด็ก
  • นายมนตรี สินทวิชัย หรือ ครูยุ่น ดำรงตำแหน่งเลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองเด็ก โดยมีเด็กอยู่ในความดูแลกว่า 55 คน