“ไซยาไนด์” และ 4 สารพิษอันตรายที่คนร้ายนิยมใช้วางยา  

26 เม.ย. 2566 | 03:51 น.

มาทำความรู้จัก 5 ยาพิษอันตรายที่คนร้ายนิยมใช้ “วางยา” ซึ่งรวมถึง “ไซยาไนด์” ที่กำลังปรากฏเป็นข่าวดังในขณะนี้ ทั้งหมดอาจพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง รู้เอาไว้ ได้ใช้ป้องกันตัวเองและคนที่คุณรัก  

 

ไซยาไนด์” กลายเป็น ยาพิษอันตราย ที่สร้างความหวาดหวั่นในสังคม หลังพบเป็นของกลางชิ้นสำคัญในคดีฆาตกรรมเท้าแชร์ที่จังหวัดกาณจนบุรี สารพิษดังกล่าวตรวจพบในเลือดของผู้เสียชีวิต มี ฤทธิ์ทำให้ถึงตาย แต่ความจริง นอกจาก “ไซยาไนด์” แล้ว ประวัติศาสตร์โลกเคยปรากฏ “สารพิษ” ตัวอื่นๆ ที่ถูกนำมาใช้เป็น “ยาพิษ” ทำให้เกิดคดีที่คนในอดีตต้องประหวั่นพรั่นพรึงมาแล้ว

5 ยาพิษอันตรายที่กล่าวมานี้ มีชนิดใดบ้าง เรามาทำความรู้จักและสร้างความตระหนักเพื่อป้องกันภัยให้ตัวเองและคนรอบข้างไปด้วยกัน เริ่มจาก....

1) ไซยาไนด์ ยาพิษชนิดที่ได้รับความนิยมสูง สารไซยาไนด์หาได้ง่ายและสามารถพบได้ในชีวิตประจำวันเพราะมีสารชนิดนี้อยู่ในผัก ผลไม้ เช่น ข้าวเจ้า ข้าวสาลี พีช มะม่วง ส่วนในทางอุตสาหกรรม ไซยาไนด์ใช้ในการผลิตไนล่อน และพบมากที่สุดใน ยาฆ่าแมลง

บทบาทของไซยาไนด์ในการคร่าชีวิตผู้คน เป็นที่กล่าวขวัญถึงมากที่สุดในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อกองทัพนาซีเยอรมันนำไซยาไนด์มาใช้ในห้องรมแก๊ส เพื่อสังหารเหยื่อได้คราวละหลายร้อยคนภายในพริบตาเดียว นับเป็นการสังหารหมู่ที่โหดร้ายและไร้มนุษยธรรมมากที่สุด

ไซยาไนด์มีพิษร้ายแรงมาก เมื่อรับสารพิษเข้าไปแม้เพียงนิดเดียว อวัยวะในระบบประสาทส่วนกลาง ตับ ไตและระบบหัวใจจะได้รับผลกระทบทันที อาการแรกที่ปรากฏหลังได้รับสารนี้เข้าไป คือ หายใจติดขัด ตามด้วยอาการชักและหมดสติ ซึ่งอันตรายมาก อาจเสียชีวิตในทันทีถ้ารับสารพิษนี้เข้าไปเป็นเวลานานติดต่อกันตั้งแต่ 1-15 นาที

2) สารหนู หรือ อาร์เซนิก เป็นยาพิษที่พบได้จากธรรมชาติ เช่นถ่านหิน ดินและแร่ รวมทั้งในภาคอุตสาหกรรม เช่นการทำเหมืองแร่ถ่านหิน การทำยาฆ่าแมลง และยาปราบศัตรูพืช บ่อยครั้งที่มนุษย์สูดดมหรือสัมผัสสารหนูเข้าไปโดยไม่รู้ตัวเลย

ในอดีตมีบุคคลสำคัญที่ถูกวางยาด้วยสารหนูวางยาเพื่อมุ่งผลในการสังหารมาแล้ว เช่น กษัตริย์นโปเลียน โบนาปาร์ต พระเจ้าจอร์จที่สามแห่งราชวงศ์อังกฤษ และซีมอง โบลีวาร์ ผู้นำทางการเมืองของประเทศเวเนซูเอลา บุคคลทั้งสามไม่ได้เสียชีวิตในทันที แต่ดูเหมือนพวกเขาจะถูกวางยาวันละนิดละน้อย ทำให้สารพิษดังกล่าวสะสมอยู่ในเลือดเป็นระยะเวลานาน

อาการหลังสารหนูเข้าสู่ร่างกาย คือ การอาเจียนเป็นอันดับแรก ตามมาด้วยปวดท้อง ท้องเสีย กล้ามเนื้อเกิดอาการเกร็ง และมักมีภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับการทำงานของหัวใจ พบว่าเหยื่อมักเสียชีวิตด้วยอาการภาวะหัวใจล้มเหลว

3) สารปรอท หรือ เมอร์คิวรี นี่คือสารพิษที่พบได้ในอุตสาหกรรมเป็นหลัก เช่น การทำสวิตช์กระแสไฟฟ้า การเผาไหม้อุตสาหกรรมถ่านหิน แบตเตอรี่ต่างๆ ตลอดจนเครื่องมือทดลองทางวิทยาศาสตร์ อาทิ ปรอทวัดอุณหภูมิ นอกจากนี้ เรายังอาจพบสารปรอทปะปนอยู่ในอาหารได้ด้วย เช่น ในอาหารทะเล

สารปรอทเข้าสู่ร่างกายได้ด้วยการรับประทานหรือสูดดม เพราะมีคุณสมบัติเป็นของเหลวที่ระเหยเป็นไอน้ำได้ นอกจากนี้ ยาบางชนิดใช้สารปรอทเป็นส่วนประกอบ เช่น ยารักษาโรคซิฟิลิส ที่แพทย์ในยุคโบราณเคยนำมาใช้กับ “โมสาร์ท” นักแต่งเพลงชื่อก้องโลก น่าเสียดายที่โมสาร์ทรักษาไม่หายและเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งทุกวันนี้ ก็ยังไม่มีข้อสรุปว่า แท้จริงแล้ว สาเหตุที่โมสาร์ทตายนั้น เป็นเพราะโรคซิฟิลิส หรือเพราะสารปรอทที่ถูกนำมาใช้รักษากันแน่

อาการที่เกิดจากสารปรอท มีทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง โดยอาการเริ่มแรกคือ อาเจียน ปากพองแดงไหม้ อักเสบและเนื้อเนื้อเยื่ออาจหลุดออกมาเป็นชิ้น ต่อด้วยอาการเลือดอออก ปวดท้องอย่างรุนแรง จากการถูกสารชนิดนี้กัดระบบทางเดินอาหาร อาการท้องร่วง อุจจาระเป็นเลือด เป็นลมหมดสติ และเมื่อสารเข้าสู่ระบบหมุนเวียนเลือด ก็จะไปทำลายไต จนปัสสาวะไม่ออก หรือไม่ก็ปัสสาวะเป็นเลือด และสุดท้ายก็เสียชีวิตในที่สุด

4) สตริกนิน เป็นสารพิษที่อยู่ในเมล็ดของต้น “แสลงใจ” (Strychnos nuxvomica) จุดเริ่มต้นของสารนี้ มาจากทวีปยุโรปช่วงศตวรรษที่ 16 ซึ่งมีการนำสารชนิดนี้มาใช้กำจัดหนูและสัตว์อื่นๆ ส่วนในประเทศไทย นิยมนำสารชนิดนี้มาใช้ทำยาเบื่อสุนัข หน้าตาของสตริกนินนั้นดูไปก็คล้ายเม็ดยา มีสีเขียวหรือสีแดง บางครั้งมาในรูปแบบผงแป้งก็มี คุณสมบัติคือไม่มีสี ไม่มีกลิ่น รสชาติขม เหมาะสำหรับฆาตกรผู้อยากให้เหยื่อขมคอก่อนตาย

ในยุคสมัยใหม่มีการนำสตริกนินไปผสมกับเฮโรอีน แทนคลินิดีน หรือผสมในโคเคน เพื่อให้ได้ปริมาณยาที่มากขึ้น เนื่องจากสตริกนินมีลักษณะเป็นผงสีขาวคล้ายๆกัน และมีรสชาติคล้ายกัน แต่หากกินเข้าไปก็มีฤทธิ์ถึงตาย

อาการเมื่อรับสตริกนินเข้าร่างกายไปราว 10 – 20 นาที จะเริ่มมีอาการกระตุกและเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ อาจมีอาการชักร่วมด้วย ในรายที่อาการไม่รุนแรงมากผู้รับสารจะยังรู้สึกตัวดี มีสติสัมปชัญญะครบถ้วน แต่ถ้ารุนแรงมากจนเกิดภาวะแทรกซ้อน ระบบหายใจล้มเหลว อาจเกิดภาวะกล้ามเนื้อสลายตัว มักจะตามด้วยอาการไตวาย และเสียชีวิตในภายหลัง

5) โบทูลินั่ม ท็อกซิน ชื่อนี้คุ้นหูเพราะโบทูลินั่ม ท็อกซิน รู้จักกันดีในอีกชื่อว่า “โบท็อกซ์” ที่สถาบันความงามต่างๆ นิยมนำมาฉีดเพื่อลดริ้วรอยให้บรรดาลูกค้าที่ชื่นชอบความเต่งตึงของผิวพรรณ

ปัจจุบัน เริ่มมีการนำสารนี้มาใช้แทนยารักษาโรคต่างๆ (แต่ต้องอยู่ในความควบคุมของแพทย์) เช่นออฟฟิศซินโดรม และอาการปัสสาวะกะปริดกะปรอย

แต่ในอีกด้านหนึ่ง เจ้าโบทูลินั่ม ท็อกซิน เป็นโปรตีนมีที่มาจากการสกัดแบคทีเรีย คลอสตริเดียม โบทูลินั่ม ที่เป็นตระกูลเดียวกับพวกเชื้อบาดทะยัก พบในอาหารกระป๋อง รวมทั้งหน่อไม้บรรจุปี๊บ หากมีการปนเปื้อนในอาหารและมีคนรับประทานเข้าไป  ก็อาจจะเกิดอาการไม่พึงประสงค์ ขึ้นอยู่กับปริมาณที่ได้รับ

กรณีที่ได้รับเพียงเล็กน้อย ก็อาจจะแค่ท้องเสียหรืออาหารเป็นพิษ แต่ถ้าหากได้รับในปริมาณมากๆ จะเกิดอาการรุนแรง ได้แก่ กล้ามเนื้อเป็นอัมพาตขยับไม่ได้ เวียนหัว การมองเห็นแย่ลง หายใจติดขัด ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบทางเดินหายใจ จนกระทั่งเสียชีวิตในที่สุด

ก่อนจบขอแถมอีกชนิด เพราะตัวนี้เป็นข่าวบ่อยในต่างประเทศ คือ แอนแทรกซ์ (Anthrax) มักปรากฏเป็นข่าวว่าสปอร์แอนแทรกซ์ถูกส่งใส่ซองเป็นจดหมายหรือพัสดุให้เหยื่อ สามารถออกฤทธิ์ได้ทันทีเมื่อสัมผัส

อาการของพิษหากโดนที่ผิวหนัง จะเกิดตุ่มแดงๆตรงที่รับเชื้อ ซึ่งส่วนมากจะอยู่นอกร่มผ้า เช่น มือ แขน ขา แต่อาจพบที่ลำตัวหรือกลางหลังได้ ตุ่มที่พบตอนแรกนี้จะเปลี่ยนเป็นตุ่มน้ำใส แล้วเข้มขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นตุ่มหนองแล้วแตกออกเป็นแผลยกขอบตรงกลางบุ๋มมีสีดำ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้

หากยังไม่ได้รับการรักษาก็จะมีตุ่มใหม่เกิดขึ้นรอบๆ แผลเดิมขยายวงกว้างไปเรื่อยๆ บางครั้งรอบๆแผลจะบวมแดง แต่ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บ ยกเว้นที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณข้างเคียง ปกติแผลที่เกิดจากเชื้อแอนแทรกซ์จะหายยากถ้าได้รับการรักษาช้า เพราะเป็นแผลเนื้อตายซึ่งเชื่อกันว่าน่าจะเกิดจากพิษ(toxin) ของตัวเชื้อ อัตราป่วยตายกรณีไม่ได้รับการรักษาไม่สูงนัก 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรีสารพัดสารพิษ dek-d.com