จาก "เพลงธาตุทองซาวด์" เปิดประวัติ วัดธาตุทอง ตามเพลง

12 เม.ย. 2566 | 07:04 น.

เปิดประวัติ วัดธาตุทอง ในเพลงดัง "เพลงธาตุทองซาวด์" จากแรปเปอร์ ยังโอม (YOUNGOHM) ศิษย์เก่าโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง สร้างความภาคภูมิใจให้กับโรงเรียน แชร์เพลง พร้อมระบุ So proud of you YOUNGOHM

แรงไม่หยุด สำหรับ "เพลงธาตุทองซาวด์" จากแรปเปอร์ชื่อดัง ยังโอม (YOUNGOHM) ที่เปิดตัวมิวสิควีดีโอไปเพียง 5วัน ก็ทำยอดวิวทะลุ 10ล้านไปแล้ว ทั้งยังมีกระแสจาก "อีกี้" แสดงโดย “หลิน - มชณต สุวรรณมาศ” มารับบทสก๊อยยุค Hi5 ทำเอาโลกโซเชียลพากันโพสต์รูปยุค Y2K กันสนั่นโซเชียล

จากชื่อเพลง "ธาตุทองซาวด์" และยังมีเนื้อร้องหนุ่มยังโอม ได้กล่าวถึงวัดธาตุทอง อยู่ในเนื้อเพลงหลายท่อน เพื่อจะสื่อสารตัวตนของเขา ที่เป็นอดีตเด็กโรงเรียนวัดธาตุทองมาก่อน เช่น
 "Yo และนี้คือเสียงจากเด็กวัด
แข็งแรงเหมือนกับมึงเอาเหล็กงัด
พูดเบาเบาแต่ไกลไปเจ็ดวัด
มึงตั้งใจฟังนะ"

"และนี้คือ Thatthong Sound ของแท้
พวกกูนั่งมองดาว
ถึงไม่มีเครื่องเพชรแวววาว
แต่กูทำให้ Thatthong proud" 

วัดธาตุทอง จึงเป็นสถานที่ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของเพลงนี้ ยังโอมเริ่มมีความฝันอยากเป็นแรปเปอร์ และเริ่มแต่งเพลงตั้งแต่ชั้นมัธยม และจริงจังกับการแข่งแรปมากขึ้นในช่วงม.ปลาย และล่าสุด เพจโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง ได้แชร์เพลง "ธาตุทองซาวด์" พร้อมระบุข้อความแสดงความภาคภูมิใน ในตัวยังโอม ซึ่งเป็นศิษย์เก่าอีกด้วย

ธาตุทองซาวด์

ประวัติของ  “วัดธาตุทอง”

วัดธาตุทอง เป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ ถูกตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2481 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2483 เดิมทีเป็นพื้นที่ตั้งของ 2 วัด คือ วัดหน้าพระธาตุ และวัดทองล่าง 

โดย "วัดหน้าพระธาตุ" ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างขึ้นในสมัยอโยธยา ส่วนวัดทองล่างนั้นเดิมทีเป็นสวนผลไม้ที่มีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่อยู่กลางสวน เจ้าของเห็นว่าต้นโพธิ์นั้นเป็นต้นไม้ในวัด ไม่สมควรปลูกไว้ในบ้าน จึงบริจาคพื้นที่ตรงส่วนนั้นสร้างเป็นวัดขนาดเล็ก และตั้งชื่อว่าวัดโพธิ์สุวรรณาราม หรือวัดโพธิ์ทอง และด้วยริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามีวัดทองอยู่หลายวัด ทั้งด้านบนและด้านล่างของแม่น้ำ ชาวบ้านจึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วัดทองล่าง

วัดธาตุทอง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2480 ได้มีการขอเวนคืนพื้นที่วัดหน้าพระธาตุและวัดทองล่าง เพราะต้องการสร้างท่าเรือกรุงเทพฯ โดยรัฐบาลได้ชดเชยเงินให้ทั้ง 2 วัด เพื่อไปรวมกับวัดอื่นหรือสร้างวัดใหม่ขึ้นมา ทำให้คณะสงฆ์มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้น และมีความเห็นพ้องต้องกันในการซื้อที่ดินปัจจุบัน และย้ายเสนาสนะถาวรวัตถุของทั้ง 2 วัดมาปลูกสร้างรวมกันที่ ต.คลองบ้านกล้วย 

โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารเป็นองค์อุปถัมภ์ และตั้งชื่อว่า “วัดธาตุทอง” ที่มาจากชื่อของทั้ง 2 วัดรวมเข้าด้วยกัน เมื่อปี พ.ศ.2481

ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงพระกรุณารับวัดธาตุทองไว้ในพระอุปถัมภ์ และประทานตราสัญลักษณ์ใหม่ให้แก่วัด จากนั้นในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกให้วัดธาตุทองเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ มาจนถึงปัจจุบัน

ประวัติของ  “โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง”

“โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง” เปิดเรียนครั้งแรกวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2494 โดยเริ่มก่อตั้งโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง จากการที่พระญาณดิลก(สมณศักดิ์ของพระธรรมปาโมกข์ขณะนั้น) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดธาตุทองได้ทราบถึงความยากลำบากของนักเรียนที่ต้องเดิน ทางไกล เพื่อไปเรียนต่างอำเภอ เนื่องจากขณะนั้นอำเภอพระโขนงยังไม่มีโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา จึงได้ปรารภกับคุณสอาดและคุณมะลิ ธรรมสโรช ถึงเรื่องดังกล่าว

คุณสอาดและคุณมะลิ มีจิตศรัทธา จึงได้ถวายเงิน จำนวนเงิน 50,000 บาท เพื่อสร้างโรงเรียนมัธยมขึ้น โดยพระญาณดิลกได้อนุญาตให้ใช้ที่ดินของวัด 560 ตารางวา ก่อสร้าง โรงเรียนเป็นเรือนไม้ 2 ชั้น สร้างเมื่อ พ.ศ. 2511

นายผ่อง อนันตกุล เป็นครูใหญ่คนแรกของโรงเรียน โรงเรียนได้พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ จากจำนวนนักเรียนที่ไม่ถึง 300 คน มาจนกระทั่งมีนักเรียนประมาณ 2,000 คน อาคารเรือนไม้เดิมได้ถูกรื้อทิ้งและสร้างเป็นอาคารใหม่ คืออาคารคอนกรีตประกอบไม้ จำนวน 3 หลัง ต่อมา เนื่องจากจำนวนนักเรียนเพิ่มมากขึ้น พระเทพญาณกวี (สมณศักดิ์ของพระธรรมปาโมกข์ขณะนั้น) ได้อนุญาตให้ใช้เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ เพื่อสร้างเป็นอาคารเป็นที่เรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ในปี พ.ศ.2521 

ปัจจุบัน "โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง" เป็นโรงเรียนประเภทสหศึกษาขนาดใหญ่ สังกัด
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 2 (สพม.กท2) มีเนื้อที่รวม 4 ไร่ 396 ตารางวา มีสีเหลือง - ดำ เป็นสีประจำโรงเรียน โดยสีเหลือง หมายถึง สีของผ้ากาสสาวพัสตร์ อันเป็นสีของผู้ทรงศีล ผู้บริสุทธิ์ถึงพร้อมด้วยคุณธรรม จริยธรรม อีกทั้งเป็นผู้ประพฤติชอบ สีดำ หมายถึง สีแห่งศอพระศิวะ อันเป็นสัญลักษณ์ของความอดทนและความเสียสละ