ผลสำรวจพบมีการวางแผนดื่มแอลกอฮอล์กับเพื่อน ครอบครัวกว่า 71.6%

12 เม.ย. 2566 | 05:29 น.

ผลสำรวจพบมีการวางแผนดื่มแอลกอฮอล์กับเพื่อน ครอบครัวกว่า 71.6% ระบุส่วนใหญ่รับรู้ว่าการดื่มแล้วขับทำให้เกิดอุบัติเหตุจนทำให้ตัวเองบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้ 87.4%

นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เปิดเผยว่า ในเทศกาลสงกรานต์ประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนา มีการพบปะสังสรรค์ด้วยการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมีการดื่มแล้วขับ ซึ่งพบว่าการดื่มแล้วขับเป็นสาเหตุทำให้พิการ และเสียชีวิต และเกิดการสูญเสียมากมายจากเหตุการณ์เมาแล้วขับในช่วงเทศกาลสงกรานต์        

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพโดยกองสุขศึกษา ได้ดำเนินการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพประเด็นพฤติกรรมเสี่ยงช่วงเทศกาลสงกรานต์ระหว่างวันที่ 20 มีนาคม–7 เมษายน 2566 โดยดำเนินการร่วมกับสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และศึกษาธิการจังหวัด กลุ่มตัวอย่างจำนวน 12,305 คน จากทุกภูมิภาค 

ผลการสำรวจพฤติกรรมการวางแผนในการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เฉพาะผู้ที่คาดว่าจะฉลองเทศกาลสงกรานต์กับเพื่อนหรือคนในครอบครัวแน่นอน พบว่า ประเด็นเหตุผลที่ฉลองเทศกาลสงกรานต์ด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  มีการวางแผนฉลองเทศกาลสงกรานต์ด้วยการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับเพื่อน และคนในครอบครัวทำเป็นเรื่องปกติแทบทุกปี 71.6%

ผลสำรวจพบมีการวางแผนดื่มแอลกอฮอล์กับเพื่อน ครอบครัวกว่า 71.6%

รองลงมาเป็นช่วงเวลาที่ปลดปล่อยความเหนื่อยล้าจากการทำงานมาทั้งปี 71.2% ตามมาด้วยเป็นเครื่องดื่มที่ใช้เข้าสังคมเวลาพบปะญาติพี่น้องเพื่อนฝูง 70.3% ตามลำดับ 

สำหรับประเด็นการรับรู้ผลเสียเมื่อดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถ พบว่า กลุ่มตัวอย่างรับรู้ว่าการดื่มแล้วขับทำให้เกิดอุบัติเหตุจนทำให้ตัวเองบาดเจ็บหรือเสียชีวิต 87.4% รองลงมา รับรู้ว่าการดื่มแล้วขับทำให้ขับรถชนคนอื่นได้ 86.1% 

และรับรู้ว่าดื่มแล้วขับทำให้โดนตำรวจจับดำเนินคดีได้ 86% แนะสงกรานต์นี้ดื่มไม่ขับ สังสรรค์แบบไร้แอลกอฮอล์
 

นายแพทย์สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ แนะประชาชนปฏิบัติตามหลักสุขบัญญัติข้อ 5 งดดื่มสุรา เนื่องจากการดื่มสุราเป็นผลพวงทำให้ทำลายเซลล์ประสาทสมอง 

ในระยะแรกทำให้ขาดสติ ก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาท และเกิดอุบัติเหตุ ในระยะยาวทำให้ความจำเสื่อมเป็นแผลในกระเพาะอาหาร ตับแข็ง ความดันโลหิตสูง เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง โดยสามารถปฏิเสธการดื่ม ด้วยการใช้วิธีการปฏิเสธซ้ำ โดยไม่ต้องใช้ข้ออ้าง พร้อมทั้งบอกลา และหาทางเลี่ยงจากเหตุการณ์นั้นไป หรือต่อรองผัดผ่อน โดยการขอยืดระยะเวลาออกไป เพื่อให้ผู้ชวนเปลี่ยนความตั้งใจ