เปิดกฎหมาย ควบคุมทนายความ หลังทนายนิด้า สวนหมัด ทนายตั้ม

27 มี.ค. 2566 | 23:45 น.

เปิดกฎหมายมรรยาททนายความ ควบคุมทนาย วางแนวปฏิบัติ หลังทนายนิด้า สวนหมัด ทนายตั้ม ปมกล่าวพาดพิงเรียกรับเงินค่าพาออกรายการทีวีดัง

หลายครั้งที่ปรากฏเป็นข่าวว่า ทนายความชื่อดังมักตอบโต้ซึ่งกันและกัน หรือเปิดประเด็นตั้งโต๊ะแถลงข่าวอย่างดุเดือดในคดีความต่างๆ กรณีล่าสุด ทนายตั้ม ษิทรา เบี้ยบังเกิด ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าว (27 มีนาคม 2566) ตอบโต้กรณีที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ นำใบเสนอราคาของทนายตั้ม ภายใต้ชื่อสำนักงานกฎหมาย “ษิทราลอว์เฟิร์ม” ระบุค่าแถลงข่าวเป็นเงิน 300,000 บาท

การชี้แจงของทนายตั้ม ช่วงตอนหนึ่งได้ยืนยันความบริสุทธิ์ของตนเอง ในการเรียกเก็บค่าแถลงข่าว จากลูกความที่มีกำลังจ่าย และเป็นคดีที่ตนเองสุ่มเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้อง ไม่เป็นการผิดมรรยาททนายความ พร้อมกล่าวพาดพิงถึงทนายความหญิง ว่ามีการเรียกเก็บค่าพาไปออกรายการดัง นำมาสู่การโพสต์ข้อความจากทนายนิด้า ศรันยา หวังสุขเจริญ ว่าไม่มีความเป็นลูกผู้ชาย ที่แถลงข่าวพาดพิงถึงตนเอง แม้จะไม่ได้ระบุชื่อออกสื่อ แต่ได้รับข้อมูลจากหลังบ้านว่าพาดพิงตนเอง

เมื่อทนายเปิดฉากโต้ตอบกันเอง ด้วยประเด็นการเรียกเก็บเงิน ที่นอกเหนือไปจากค่าว่าความ ทำให้ประชาชนอาจมีข้อกังขาต่อวิชาชีพทนายความว่า กรอบในการปฏิบัติวิชาชีพทนายความนั้นเป็นอย่างไร อะไรทำได้ หรือทำไม่ได้บ้าง ฐานเศรษฐกิจ เปิดกฎหมาย ที่ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติของอาชีพทนายความ

สภาทนายความ

พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 หมวด มรรยาททนายความ

มาตรา 51 ระบุให้ ทนายความต้องประพฤติตนตามข้อบังคับว่าด้วยมรรยาททนายความ ที่กำหนดขึ้นโดยสภาทนายความ หากทนายความผู้ใดฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามให้ถือว่าประพฤติผิดมรรยาททนายความ

มาตรา 52 ระบุโทษของการผิดมรรยาททนายความ ได้แก่

  • ภาคทัณฑ์
  • ห้ามเป็นทนายความ มีกำหนดไม่เกิน 3ปี
  • ลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ

ในกรณีทำผิดมรรยาททนายความเล็กน้อย และเป็นความผิดครั้งแรก ถ้าผู้มีอำนาจสั่งลงโทษ เห็นว่ามีเหตุอันควรงดโทษ อาจว่ากล่าวตักเตือน หรือให้ทำทัณฑ์บนเป็นหนังสือไว้ก่อนก็ได้

ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 ได้ระบุถึงมรรยาทที่ทนายความ ต้องปฏิบัติในด้านต่างๆ ดังนี้

มรรยาทต่อศาลและในศาล

  • ห้ามทนายปฏิเสธเมื่อผู้พิพากษาได้ขอแรงให้เป็นทนายความแก้ต่างในคดีอาญาเว้น แต่จะมีข้อแก้ตัวโดยสมควร
  • ห้ามทนายไม่เคารพยำเกรงอำนาจศาล หรือกระทำการใดอันเป็นการดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในศาลหรือนอกศาล ทำให้เสื่อมเสียอำนาจศาลหรือผู้พิพากษา
  • ห้ามกล่าวความ หรือทำเอกสารหรือหลักฐานเท็จ หรือใช้กลอุบายลวงให้ศาลหลง หรือกระทำการใดเพื่อทราบคำสั่ง หรือคำพิพากษาของศาลที่ยังไม่เปิดเผย
  • ห้ามสมรู้เป็นใจ โดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อทำพยานหลักฐานเท็จ หรือเสี้ยมสอนพยานให้เบิกความเท็จ หรือโดยปกปิดซ่อนงำอำพรางพยานหลักฐานใด ๆ ซึ่งควรนำมายื่นต่อศาล หรือสัญญาจะให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน หรือสมรู้เป็นใจในการให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน

 

มรรยาทต่อตัวความ (ลูกความ)

  • ห้ามกระทำการใดอันเป็นการยุยงส่งเสริมให้มีการฟ้องร้องคดีกันในกรณีที่ไม่มีมูล 
  • ห้ามใช้อุบาย เช่น หลอกลวงให้หลงว่าคดีนั้นจะชนะ เมื่อทนายรู้สึกแก่ใจว่าจะแพ้, อวดอ้างว่าตนมีความรู้มากกว่าทนายความคนอื่น หรือ อวดอ้างว่ามีสมัครพรรคพวกสามารถจะทำให้ได้รับผลเป็นพิเศษนอกจากการว่าความ หรืออ้างว่าช่วยเหลือทางคดีได้ หรือข่มขู่ว่าหากไม่ให้ตนว่าคดี จะใช้เส้นสายที่มีทำให้ผู้นั้นแพ้คดี
  • ห้ามเปิดเผยความลับของลูกความที่ได้รู้จากการเป็ฯทนายความ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากลูกความนั้นแล้ว หรือโดยอำนาจศาล
  • ห้ามกระทำการที่จะทำให้ลูกความเสียประโยชน์ ได้แก่ จงใจขาดนัด หรือทอดทิ้งคดี หรือ จงใจละเว้นหน้าที่ที่ควรกระทำ เกี่ยวกับการดำเนินคดีแห่งลูกความของตน หรือปิดบังข้อความที่ควรแจ้งให้ลูกความทราบ
  • ห้ามรับปรึกษาหารือ หรือได้รู้เรื่องกรณีแห่งคดีของฝ่ายหนึ่ง แล้วภายหลังไปรับเป็นทนายความ หรือช่วยเหลือทางคดีให้อีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นปรปักษ์ในคดีต่อกัน 
  • ห้ามใช้อุบายเพื่อจะให้ตนได้รับประโยชน์นอกเหนือจากที่ได้ตกลงกันไว้กับลูกความ เมื่อได้รับเป็นทนายความแล้ว 
  • ห้ามฉ้อโกง ยักยอก หรือครอบครอง หน่วงเหนี่ยว เงินหรือทรัพย์สินของลูกความไว้นานเกินกว่าเหตุ โดยลูกความไม่ได้ยินยอม

มรรยาทต่อทนายความด้วยกัน ต่อประชาชนผู้มีอรรถคดี และอื่น ๆ

  • แย่งคดีที่มีทนายความอื่นว่าต่างแก้ต่างอยู่แล้ว มาว่าความ หรือสัญญาว่าความให้เอง เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากทนายความเดิม หรือ ตัวความ(ลูกความ)ได้ถอนทนายความคนก่อนจากการเป็นทนายความของเขาแล้ว หรือ ทนายความผู้ว่าความในเรื่องนั้นไม่สมัครใจที่จะว่าความในคดีนั้นต่อไปแล้ว
  • ประกาศโฆษณา หรือยอมให้ผู้อื่นประกาศโฆษณาเกี่ยวกับ อัตราค่าจ้างว่าความ หรือแจ้งว่าไม่เรียกร้องค่าจ้างว่าความ เว้นแต่การประกาศของสภาทนายความเอง หรือโดยสถาบัน สมาคม องค์การ หรือส่วนราชการใดที่เกี่ยวข้อง 
  • หรือ ประกาศ ชื่อ คุณวุฒิ ตำแหน่ง ถิ่นที่อยู่ หรือสำนักงาน ในทางโอ้อวด เพื่อชักชวนให้ผู้มีอรรถคดีมาว่าจ้าง เว้นแต่การแสดงชื่อ คุณวุฒิ หรืออื่น ๆ ดังกล่าวตามสมควรโดยสุภาพ
  • ห้ามทนายความ ประกอบอาชีพ ดำเนินธุรกิจ หรือประพฤติตนอันเป็นการฝ่าฝืนต่อศีลธรรมอันดี หรือเป็นการเสื่อมเสียต่อศักดิ์ศรีและเกียรติคุณของทนายความ 
  • ห้ามให้ค่านายหน้าแก่ผู้ที่หาคดีความหรือนำคดีความมาให้ หรือคิดส่วนลดค่าจ้างให้ หรือให้เงินเดือน หรือประโยชน์อื่นใด แก่ผู้ที่หาคดีความมาให้ แม้จะเป็นเสมียนหรือลูกจ้างประจำสำนักงานของทนายความผู้นั้นก็ตาม


นอกจากนั้น ยังมีมรรยาทในการแต่งกาย และมรรยาทในการปฏิบัติตามคำสั่งตามกฎหมายและข้อบังคับ ซึ่งหากทนายความกระทำการที่ผิดมรรยาททนายความ ประชาชนสามารถร้องเรียนได้ที่สภาทนายความฯ โดยผู้ร้องจะต้องเตรียมคำกล่าวหา หลักฐานการถูกกระทำ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะรับเรื่อง เข้าสู่การกลั่นกรอง หากพบว่าคดีมีมูล จะส่งขึ้นมายังประธานคณะกรรมการมรรยาททนายความ เพื่อพิจารณาต่อไป