ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหา"จักรทิพย์"คดีรถยนต์ไฟฟ้าตรวจการณ์900ล้าน

14 มี.ค. 2566 | 08:58 น.

เลขาฯ ป.ป.ช. รับ บอร์ดชุดใหญ่มีมติแจ้งข้อกล่าวหา“จักรทิพย์” กับพวกรวม 46 ราย คดีรถยนต์ไฟฟ้าตรวจการณ์อัจฉริยะ 260 คัน วงเงิน 900 ล้านบาท หลัง “บิ๊กโจ๊ก” ร้องสอบ

จากกระแสข่าวที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ มีมติแจ้งข้อกล่าวหาพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กับพวก รวม 46 ราย ในคดีจัดซื้อรถยนต์ไฟฟ้าตรวจการณ์อัจริยะ 260 คัน วงเงิน 900 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2561-2562 

วันที่ 14 มี.ค.2566 นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยืนยันแล้วว่า ที่ประชุมบอร์ดป.ป.ช.ชุดใหญ่ มีมติเรื่องดังกล่าวแล้วจริง โดยการแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย

ขั้นตอนหลังจากนี้จะเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาเข้ามาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาตามกฎหมาย กำหนดระยะเวลาภายใน 15 วันภายหลังได้รับแจ้งข้อกล่าวหา และสามารถยื่นหนังสือเข้ามาขอเลื่อนชี้แจงได้ โดยเป็นดุลพินิจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่าจะอนุญาตให้เลื่อนชี้แจงหรือไม่

ที่มาของคดีดังกล่าวคือ เมื่อเดือน พ.ค. 2565 ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ มีมติเห็นชอบตามที่คณะอนุกรรมการกลั่นกรองเรื่องกล่าวหาประจำสำนักไต่สวนการทุจริตภาครัฐ 1 เสนอให้มีการแต่งตั้งองค์คณะไต่สวน  โดยมี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ เป็นกรรมการผู้รับผิดชอบสำนวน

ในการไต่สวนโครงการรถยนต์ไฟฟ้าตรวจการณ์อัจฉริยะ (SMART PATROL CAR : SPC) จำนวน 260 คัน  ตั้ง 4 ประเด็น    คือ  การอนุมัติให้ใช้วิธีจัดซื้อโดยวิธีการคัดเลือกชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560  และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 หรือไม่    

การจัดซื้อโดยวิธีคัดเลือกเป็นเหตุให้ไม่มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมหรือไม่ การกำหนดราคากลางชอบหรือไม่ และการจัดซื้อรถยนต์ไฟฟ้าตรวจการณ์อัจฉริยะ จำนวน 260 คัน มีราคาแพงเกินจริงหรือไม่   และการไม่คิดค่าปรับและแก้ไขสัญญาเพิ่มเติมเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ บริษัท จีเนียส ทราฟฟิค ซิสเต็ม (คู่สัญญา) หรือไม่ 

สำหรับกลุ่มผู้เกี่ยวข้องที่อยู่ในข่ายถูกไต่สวนคดีนี้ เบื้องต้นมีจำนวน 46 ราย แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก   คือ  กลุ่มผู้บริหารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ   5 ราย    กลุ่มคณะกรรมการพิจารณาคุณลักษณะเฉพาะพัสดุ  7 ราย     กลุ่มคณะกรรมการร่างขอบเขตของงานกำหนดราคากลาง รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอ และคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีการคัดเลือก 3 ราย    และกลุ่มบริษัทเอกชน  31 ราย

โครงการนี้มีบริษัท จีเนียส ทราฟฟิค ซิสเต็ม จำกัด เป็นคู่สัญญา โดยเป็นโครงการที่ 2 ต่อจากโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจพิสูจน์บุคคลโดยเทคโนโลยี Biometrics ระยะที่ 1 วงเงิน 2.1 พันล้านบาท ที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปรึกษาพิเศษ สำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาเปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ถูกคนร้ายลอบยิงรถยนต์ เมื่อคืนวันที่ 7 ม.ค. 2562

โดยเชื่อว่าเกิดจากสมัยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) และสั่งการให้มีการตรวจสอบโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจพิสูจน์บุคคลโดยเทคโนโลยี Biometrics ระยะที่ 1 พร้อมกับมีหนังสือถึง ผบ.ตร.ยุคนั้นคือ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ให้ยกเลิกโครงการดังกล่าว เนื่องจากเกิดความล่าช้า และส่งงานไม่ทัน พร้อมกับยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบ