วาเลนไทน์ 2566 หัวใจสีเขียว กับวิธีบอกรัก(ษ์)โลกง่ายๆ

08 ก.พ. 2566 | 22:55 น.

วาเลนไทน์ 2566 หัวใจสีเขียว กับวิธีบอกรัก(ษ์)โลกแบบง่ายๆ เพื่อช่วยกันกู้โลกของเราจากวิกฤติการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ

วาเลนไทน์ 2566 ใกล้จะมาถึงซึ่งตรงกับ 14 กุมภาพันธ์ ของทุกปีคือ เป็นวันที่เราจะได้บอกรักหรือแสดงความกับคนรัก บอกรักพ่อแม่ เพื่อนฝูง ก็เลยอยากชวนทุกคนร่วมมอบความรักความใส่ใจแก่ผู้ที่ได้มอบทุกสิ่งทุกอย่างแก่เราอีกผู้หนึ่ง นั่นคือ "โลก" ของเรานั่นเอง

เพราะตอนนี้โลกของเรากำลังเผชิญกับภัยพิบัติต่างๆ เกิดขึ้นไม่ว่างเว้นแต่ละวัน และนับวันจะยิ่งหนักและถี่ขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งก็เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ผลพวงจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกสูงขึ้นหรือ "ภาวะโลกร้อน" นั่นเอง

เลิกใช้ถุงพลาสติก 

โลกสร้างขยะพลาสติกแบบใช้เเล้วทิ้ง 139 ล้านเมตริกตันในปี 2564 ขณะที่การรีไซเคิลไม่ได้เพิ่มขึ้นเร็วพอที่จะจัดการกับปริมาณพลาสติกที่ถูกผลิตขึ้น ผลิตภัณฑ์เหล่าหนี้แนวโน้มที่จะถูกทิ้งในหลุมฝังกลบ บนชายหาด ในแม่น้ำและมหาสมุทรมากกว่าที่จะนำมารีไซเคิล

ช่วยกันปลูกต้นไม้

ต้นไม้ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไม้ยืนต้นเพียง 1 ต้น เก็บกักคาร์บอนได้เฉลี่ย 1-1.7 ตันคาร์บอน ยังสามารถดักจับอนุภาคมลพิษบางชนิดได้ เช่น ฝุ่น ควัน ไอพิษต่างๆ ได้ถึง 1.4 กิโลกรัม/ปี 

นักวิจัยกล่าวว่า การปลูกต้นไม้ในเขตเมืองให้มากขึ้นเพื่อลดอุณหภูมิในช่วงฤดูร้อนอาจลดการเสียชีวิตโดยตรงจากอากาศร้อนและคลื่นความร้อนได้ถึง 1 ใน 3  

รายงานในวารสาร The Lancet ระบุถึงการสร้างแบบจำลองซึ่งพบว่าการเพิ่มต้นไม้ปกคลุมถึง 30 เปอร์เซ็นต์จะช่วยลดอุณหภูมิได้ 0.4 องศาเซลเซียสโดยเฉลี่ยในช่วงฤดูร้อน  

รับประทานอาหารให้หมดจาน

ประชากรเกือบ 193 ล้านคนใน 53 ประเทศ กำลังเผชิญกับปัญหาความไม่มั่นคงด้านอาหารเฉียบพลัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2021 เกือบ 40 ล้านคน 

ขณะที่ ธนาคารโลกหรือ เวิลด์แบงก์ คาดการณ์ว่า ปี 2565 วิกฤตอาหารโลก (Global Food Crisis) จะเกิดปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ จึงประกาศแผนรับมือวิกฤติความมมั่นคงด้านอาหารโลก อัดฉีดงบประมาณ 3 หมื่นล้านดอลลาร์เข้าสู่โครงการในปัจจุบันและโครงการใหม่

อาหารประมาณ 1 ใน 3 กลายเป็นอาหารเหลือทิ้ง และขยะจากอาหารก็สร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 3,300 ล้านตัน หรือคิดเป็นประมาณ 30%ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากทั่วโลก

รับประทานอาหารให้หมดจาน วิธีง่ายๆ ที่จะช่วยให้ต้นทุนสิ่งแวดล้อมที่เสียไปคุ้มค่า รวมถึงช่วยลดคาร์บอนจากอาหารเหลือทิ้ง