"ผ่อนรถไม่ไหว" กระทรวงยุติธรรม แนะวิธีคืนรถ จบหนี้

27 ส.ค. 2566 | 23:45 น.

เมื่อมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สิ้นสุดลง หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลาย แต่สถานการณ์ ลูกหนี้เช่าซื้อรถยนต์ กระทรวงยุติธรรม ให้ทางออกเมื่อ "ผ่อนรถไม่ไหว" เปิดวิธีคืนรถ จบหนี้

ในปัจจุบันที่ปัญหาหนี้ครัวเรือนพุ่งสูง และจำนวนมากจ่อจะเป็นหนี้เสีย หนึ่งในนั้นคือหนี้สินที่เกิดจากการเช่าซื้อรถยนต์ แน่นอนว่าเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ก็หมดลงไปด้วย แต่ในความเป็นจริงปรากฏว่ารายได้ของประชาชนยังกลับสู่ภาวะปกติเท่าใดนัก

ผู้เป็นลูกหนี้เช่าซื้อรถยนต์ กับไฟแนนซ์ หรือสถาบันการเงินต่างๆ จำนวนหนึ่งประสบปัญหาการผ่อนส่งค่างวดรถยนต์จนไปต่อไม่ไหว เพจสำนักงานกิจการยุติธรรม เผยแพร่ความรู้ทางกฎหมาย สำหรับผู้ที่ต้องการคืนรถ เพื่อจบภาระหนี้

ผ่อนรถไม่ไหว คืนรถจบหนี้

โดยยกตัวอย่าง 3 กรณี ตามคำพิพากษาศาลฎีกา ที่การคืนรถนั้น "ผู้เช่าซื้อ" รับผิดชอบในจำนวนน้อย หรือไม่ต้องรับผิดชอบส่วนต่างหลังจากการคืนรถเลย สิ่งสำคัญคือ วิธีการคืนรถแก่สถาบันการเงิน เพื่อจบภาระหนี้นั้น ต้องคืนรถก่อนที่สถาบันการเงิน หรือไฟแนนซ์จะเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ และต้องดำเนินการให้ถูกต้อง

กรณีที่ 1 การที่ "ผู้ให้เช่าซื้อ" คือสถาบันการเงิน หรือไฟแนนซ์ รับรถไว้โดยไม่โต้แย้งคัดค้าน ถือว่าผู้ให้เช่าซื้อ และผู้เช่าซื้อสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยาย "ผู้ให้เช่าซื้อ"จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคา 

กรณีที่ 2 "ผู้เช่าซื้อ" เป็นฝ่ายเริ่มต้นติดต่อกับ"ผู้ให้เช่าซื้อ" เพื่อคืนรถยนต์ แสดงให้เห็นจุดประสงค์ของ"ผู้เช่าซื้อ" ที่ต้องการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเท่านั้น เมื่อ"ผู้ให้เช่าซื้อ" ได้รับการติดต่อ ก็ตกลงและนัดหมายรับรถยนต์ที่เช่าซื้อไปคืน 

โดยมอบหมายให้ตัวแทน "ผู้ให้เช่าซื้อ" การที่ "ผู้เช่าซื้อ" ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่ ตัวแทน "ผู้ให้เช่าซื้อ" จึงเป็นเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อด้วยการส่งมอบทรัพย์คืนแก่"ผู้ให้เช่าซื้อ"  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 573 

โดย ป.พ.พ. มาตรา 573  ระบุว่า สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันนับแต่วันดังกล่าวแล้ว แม้ต่อมา"ผู้เช่าซื้อ" จะตกลงขายสิทธิการเช่าซื้อให้ตัวแทน"ผู้ให้เช่าซื้อ" ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นหลังจากสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว 

เมื่อ "ผู้เช่าซื้อ" มิได้ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ และไม่ปรากฏว่าขณะเลิกสัญญา "ผู้เช่าซื้อ"มีหน้าที่ต้องรับผิดต่อ"ผู้ให้เช่าซื้อ" อย่างไร "ผู้เช่าซื้อ" จึงไม่ต้องรับผิดชอบ

กรณีที่ 3 "ผู้ให้เช่าซื้อ" ไม่ได้มีหนังสือบอกกล่าวให้ "ผู้เช่าซื้อ"  ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระตั้งแต่ 3 งวด ติดต่อกันขึ้นไปเป็นเวลาอย่างน้อย 30 วัน แล้ว"ผู้เช่าซื้อ" ไม่ชำระ อันจะทำให้สัญญาเช่าซื้อเลิกกัน หรือสิ้นสุดลงเพราะเหตุ"ผู้เช่าซื้อ" ผิดสัญญาตามข้อตกลงที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่าซื้อ 

แต่เป็นกรณีที่ "ผู้เช่าซื้อ" ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโดย "ผู้ให้เช่าซื้อ" รับรถยนต์ที่เช่าซื้อกลับคืนนำออกขายทอดตลาด ถือว่า"ผู้ให้เช่าซื้อ" และ"ผู้เช่าซื้อ" ตกลงเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยปริยาย หนี้ตามสัญญาที่กำหนดให้"ผู้เช่าซื้อ" ต้องชดใช้ค่าขาดราคาย่อมระงับไปด้วย "ผู้ให้เช่าซื้อ" ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าขาดราคาจาก "ผู้เช่าซื้อ"

ทั้งนี้ ค่าขาดราคาจากสัญญาเช่าซื้อ หมายถึง ค่าเสียหายที่โจทก์อาจเรียกร้องได้ในกรณีจำเลยผิดสัญญาและโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้ว