พรรคร่วมรัฐบาล ร้าวซํ้า-ปชป.คาใจ แบ่งงาน‘บิ๊กป้อม’

02 ต.ค. 2564 | 02:09 น.

พรรคร่วมรัฐบาล ร้าวซํ้า-ปชป.คาใจแบ่งงาน ‘บิ๊กป้อม’ : รายงาน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,719 หน้า 12 วันที่ 3 - 6 ตุลาคม 2564

หลัง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ถูกปลดพ้นเก้าอี้ รมช. เกษตรและสหกรณ์ เพราะถูกมองว่าอยู่เบื้องหลัง “ขบวนการโหวตล้มนายกฯ” ในศึกซักฟอก 6 รัฐมนตรี นำมาสู่ปัญหาความขัดแย้งในพรรคพลังประชารัฐ อย่างรุนแรง ทำให้กระแสข่าว “2 ป.” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ซุ่มตั้งพรรคการเมืองใหม่ ในการเลือกตั้งสมัยหน้า มี นํ้าหนักมากยิ่งขึ้น

 

ขณะเดียวกัน “บิ๊กตู่”  เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 มอบ หมายให้ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตรวงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ดูแลงานที่ ร.อ.ธรรมนัส เคยดูแลทั้ง 4 หน่วยงาน ท่ามกลางความไม่พอใจของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่สะท้อนออกมาในกลุ่มไลน์ของส.ส. และอดีตส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ 160 คน 

 

3 ปมร้าว“พปชร.-ปชป.”

 

ปฏิบัติการหักดิบของ “บิ๊กตู่” กับ พรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะประชาธิปัตย์ (ปชป.) ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก ย้อนไปเมื่อ วันที่ 29 เมษายน 2564 “บิ๊กตู่” ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 85/2564 เรื่อง มอบหมายให้รัฐมนตรีรับผิดชอบแนวคิดการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับพื้นที่จังหวัด  โดยมอบหมายให้ รมต.ของพรรคปชป. นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เดิมดูแล จังหวัดพิษณุโลก ให้ดูแลภาคอีสาน  

 

นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ เดิมดูแล จังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้ดูแล จังหวัดเลย หนองบัวลำภู และให้พรรคภูมิใจไทย ดูแล สุราษฎร์ธานี แทน  

 

นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย เดิมดูแล สงขลานครราชสีมา ให้ดูแล สตูล พัทลุงและให้ ร.อ.ธรรมนัส ดูแล สงขลานครศรีธรรมราช ภูเก็ต  

 

ส่วน คุณหญิงกัลยา โสภณพานิช แต่เดิมได้ดูแลจังหวัดราชบุรีก็ถูกตัดจังหวัดราชบุรีออกไป  

คำสั่งดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับ พรรคประชาธิปัตย์อย่างมาก เพราะรัฐมนตรีของ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ไปดูแลพื้นที่ที่ไม่ใช่พื้นที่ของตัวเอง แล้วโยกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐไปดูแลแทน 

 

หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกมองว่า เป็นการขยายฐานเสียง เพื่อหวังผลทางการเมือง และเป็นการเอาเปรียบทางการเมือง

 

แม้ต่อมาคำสั่งดังกล่าวจะถูกยกเลิก แต่ยังเป็นปมร้าวในใจพรรคประชาธิปัตย์เรื่อยมา

 

พรรคร่วมรัฐบาล ร้าวซํ้า-ปชป.คาใจ แบ่งงาน‘บิ๊กป้อม’

 

 

“บิ๊กป้อม” ยึด 4 กรมเกษตรฯ 

 

รอยร้าวไม่มีเพียงแค่นั้น หากย้อนไปเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2563 ครม.มีมติเห็นชอบให้ พล.อ.ประวิตร ปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติแทน นายจุรินทร์ แม้ “บิ๊กป้อม” ยืนยันไม่ มีความขัดแย้งกับ นายจุรินทร์  พร้อมอ้างตนเคยดูมาตั้งแต่ 4 ปีที่แล้วที่ทำให้ประมงปลดใบเหลืองจนได้ใบเขียว นายกฯ จึงอยากให้ตนเปลี่ยนมาดูแลประมงต่อ  

 

ล่าสุดมติ ครม. วันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา “บิ๊กตู่” มองภารกิจ  4 กรม ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ ร.อ.ธรรมนัส เคยกำกับตอนเป็น รมช.เกษตรฯ ประกอบด้วย กรมพัฒนาที่ดิน, กรมฝนหลวงและการบินเกษตร, สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) 

 

มอบให้ พล.อ.ประวิตร ดูแลแทน นายจุรินทร์ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง โดยไม่ได้บอกกล่าว หรือปรึกษาหารือก่อน จนมีคำถามว่าเป็นคำสั่งที่ที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และที่ยอมกันไม่ได้ในพรรคประชาธิปัตย์ คือ มองว่าเป็นการเสียมารยาททาง การเมืองอย่างรุนแรง

 

ปชป.คาใจ

 

วันถัดมา (29 ก.ย. 64) นายจุรินทร์ ออกมาส่งสัญญาณความไม่พอใจไปยังนายกรัฐมนตรีและพรรคพลังประชารัฐว่า เห็นใจพรรคพลังประชารัฐที่ต้องแก้ปัญหาภายในพรรค ก็ให้กำลังใจมาตลอด

 

“แต่การแก้ปัญหาควรยุติภายในและควรแก้ปัญหาเฉพาะในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ ไม่ควรกระทบถึงพรรคการเมืองอื่น เพราะแทนที่จะแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้ อาจจะกลายเป็นแก้ปัญหาหนึ่ง แต่ไปสร้างอีกปัญหาหนึ่งโดยไม่จำเป็น”

 

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ยอมรับว่า ได้สื่อสารไปยัง พล.อ. ประยุทธ์ แล้ว เชื่อว่านายกรัฐมนตรีรับทราบ และทุกอย่างจะออกมาด้วยดี จึงไม่แปลกที่ นายจุรินทร์ และ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ และเลขาธิการพรรคปชป. ตัดสินใจเข้าหารือกับ “บิ๊กตู่” ในระหว่างลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์ นํ้าท่วมที่จังหวัดสุโขทัย เมื่อวันที่ 26 กันยายน ที่ผ่านมา 

 

ทว่า กระทั่งบัดนี้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกี่ยวกับการแบ่งงานในกระทรวงเกษตรฯ ออกมา

 

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ และ พรรคพลังประชารัฐ สะท้อนว่า 

 

1. พรรคพลังประชารัฐไม่ให้เกียรติพรรคร่วมรัฐบาล  

 

2. ข้ามหัว ข้ามอำนาจรัฐมนตรีตามกฎหมาย 

 

3. ข้าราชการทำงานลำบาก ไม่รู้จะเชื่อใคร 

 

4. สร้างมาตรฐานการทำงาน อิงตามอำนาจการเมือง

 

และ 5. พรรคร่วมรัฐบาลเรียกร้องอำนาจแบบเดียวกับ “บิ๊กป้อม”

 

ทั้งหมดจะเป็นจุดแตกหักและจะกลายเป็นศึกในพรรคร่วมรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้...