ร่างรธน.ถึงมือนายกฯ ยื่นศาลตีความ สกัด‘เลือกตั้งบัตร 2 ใบ’

29 ก.ย. 2564 | 07:06 น.

ร่างแก้ไขรธน.ถึงมือ “นายกฯ” แล้ว มีเวลาพิจารณา 5 วัน ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ “หมอวรงค์” ยื่นผู้ตรวจฯ ส่งศาลรธน.ตีความแก้ 3 มาตราเกินหลักการ เลือกตั้งบัตร 2 ใบ ขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ  

ภายหลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ว่าด้วยเลือกตั้งบัตร 2 ใบ ครบกำหนด 15 วัน หลังผ่านที่ประชุมรัฐสภาวาระ 3 เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา

 

ล่าสุด นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เปิดเผยว่า ได้ส่งร่างรัฐธรรมนูญให้นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 ก.ย. ที่ผ่านมา เพื่อให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการนำความขึ้นทูลเกล้าฯตามขั้นตอน โดยไม่มี ส.ส. หรือ ส.ว. เข้าชื่อเพื่อขอให้ประธานรัฐสภา ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความกระบวนการปรับแก้แต่อย่างใด

 

ส่วนที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรมรักษาการหัวหน้าพรรคไทยภักดี  ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการแก้รัฐธรรมนูญของรัฐสภา เรื่องระบบเลือกตั้งชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ จะกระทบขั้นตอนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ หรือไม่นั้น ประธานรัฐสภา กล่าวว่า เป็นเรื่องส่วนตัวของ นพ.วรงค์ ซึ่งก่อนที่นายกรัฐมนตรี จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ก็ยังพอมีอีกช่วงระยะเวลาหนึ่งที่จะเป็นการพิจารณาตัดสินใจของฝ่ายบริหาร แต่มั่นใจว่าการยื่นตีความดังกล่าว จะไม่ส่งผลกระบวนการกระบวนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ

 

นายกฯมีเวลาพิจารณา 5 วัน

 

ด้านนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า เมื่อวันจันทร์ที่ 27 ก.ย. 64 เป็นวันที่ประธานรัฐสภาส่งร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (มาตรา 83 และ มาตรา 91) แก้ไขระบเลือกตั้งเป็นระบบบัตร 2 ใบ ให้นายกรัฐมนตรี เพราะไม่มีผู้ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 259 (9)

 

นายกรัฐมนตรีมีเวลาพิจารณา 5 วัน ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงปรมาภิไธย ประกาศใช้ต่อไป หลังจากนั้นรัฐสภาก็ต้องพิจารณาแก้ไข พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง และ พรป.พรรคการเมือง เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญเพื่อบังคับใช้ในการเลือกตั้งทั่วไป ต่อไป 

 

“กระแสข่าวเรื่องการยุบสภาจะมีเมื่อไร ก็เป็นที่พูดถึงกันอย่าง กว้างขวางครับ บางคนก็บอกจะยุบสภาก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ บางคนบอกว่าจะยุบหลังลงเยี่ยมพื้นที่ช่วงปิดสภาแล้ว บางคนก็บอกว่าอาจยุบสภาหากช่วงที่เสนอ พ.ร.ก. หรือ พ.ร.บ. งบประมาณปีหน้า ที่ครม.เสนอเข้ามาไม่ผ่าน หรือบางคนบอกว่ายุบสภาก่อนจะมีการอภิปราย (อภิปรายไม่ไว้วางใจ) คราวหน้า  หรือบางคนบอกว่าอาจจะอยู่ครบเทอม หรือบางคนบอกว่าท้ายสุด 8 ปี ผมพอแล้ว ก็แล้วแต่ครับ ทุกอย่างมีเหตุผลในตัวมันเอง หากไม่ชอบธรรมและทำเพื่อตนเอง ผมเห็นมาเยอะแล้วครับ ระวังน่ะครับประชาชนจะลงโทษคุณ?” นายชินวรณ์ระบุ

 

“วรงค์” ยื่นศาลตีความ 

 

ขณะที่เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2564 นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รักษาการหัวหน้าพรรคไทยภักดี ร่วมกับภาคประชาชน ได้เดินทางไปที่ศาลรัฐธรรมนูญพร้อมปราศรัยประกาศเจตนารมณ์ ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบ ก่อนที่ นพ.วรงค์ จะไปยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้พิจารณาส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 50 และ 213 ว่า การแก้รัฐธรรมนูญระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบ จากบัตร 1 ใบ เป็นการจำกัดสิทธิประชาชนหรือไม่

 

นพ.วรงค์ กล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้มีหลักการขอแก้ไขเพียง 2 มาตรา แต่กลับมีการแก้ไข 3 มาตรา โดยการเพิ่มแก้มาตรา 86 ดังนั้น จึงเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ อีกทั้งปัญหาในการเลือกตั้งในอดีตเคยผ่านระบบบัตร 2 ใบมาแล้ว ทำให้ ส.ส.ไม่ใช่ตัวแทนของประชาชน แต่เป็นตัวแทนของพรรค การเมืองและนายทุนพรรค ซึ่งเป็นระบบผู้ชนะกินรวบ ตัดคะแนนผู้แพ้ทิ้ง เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2560 จึงใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสมเพื่อให้ทุกคะแนนมีความหมาย แม้ไม่ได้รับการเลือกตั้งในระบบเขต ก็ยังนำไปคำนวณในระบบบัญชีรายชื่อเพื่อคุ้มครองเสียงข้างน้อย 

 

ร่างรธน.ถึงมือนายกฯ ยื่นศาลตีความ สกัด‘เลือกตั้งบัตร 2 ใบ’

 

บัตร 2 ใบขัดรธน.

ดังนั้น การแก้ไขให้เป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ จึงขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญปี 2560 จะไม่ใช้คำว่าบัตรเลือกตั้ง เพราะจะเท่ากับว่าบังคับพิมพ์บัตรเลือกตั้ง ในรัฐธรรมนูญจึงมีเจตนาใช้คำว่าคะแนนหรือคะแนนเสียงเลือกตั้งแทน และด้วยวิธีนี้ หากในอนาคตมีการลงคะแนนเลือกตั้งโดยวิธีอื่นนอกจากวิธีใช้บัตรลงคะแนน ก็จะสามารถปรับปรุงกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้งให้สอดคล้องกันได้โดยไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ที่กำหนดให้รับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน อีกทั้งการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวก็ได้ผ่านการสอบถามประชาชนมาก่อนแล้ว แต่การแก้ไขครั้งนี้ไม่ได้สอบ ถามประชาชน 

นอกจากนี้ ยังขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 85 ที่กำหนดให้เลือกตั้งได้คนละหนึ่งคะแนน เพราะการใช้ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เท่ากับการลงได้ 2 คะแนน ตลอดจนขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ที่กำหนดให้ผู้ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพมีสิทธิ์ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัย 

“รัฐธรรมนูญปี 2560 เน้นให้ทุกคะแนนของประชาชนถูกนำมาคิดจัดสรรที่นั่งในสภา แต่บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนเจ้าของพรรค ครอบงำพรรค การเมือง ทำให้ธุรกิจการเมืองกลับมาโดยไม่เคารพเสียงของประชาชน จึงเป็นการทำลายสิทธิ์เลือกตั้งของประชาชนที่ได้รับการคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญ” นพ.วรงค์ กล่าวและว่าหากผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ภายใน 60 วัน ก็จะมายื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญด้วยตัวเอง

 

นายกฯ 8 ปี เหตุยังไม่เกิด

 

ส่วนข้อถกเถียงเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะนับตามการเริ่มต้นประกาศรัฐธรรมนูญ  2560 หรือนับตั้งแต่ก่อนการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ นายชวน หลีกภัย เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้เกิดขึ้น แต่เป็นเพียงการแสดงความเห็นในทางกฎหมายที่แตกต่างกัน  

 

“แต่หาก ส.ส.ยังมีความสงสัยก็สามารถเข้าชื่อเสนอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความได้ แต่ไม่มั่นใจว่าเมื่อเสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ตุลาการฯ จะพิจารณารับเรื่องไว้พิจารณาหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องที่ยังไม่เกิด” 

 

รายงาน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,718 หน้า 12 วันที่ 30 กันยายน - 2 ตุลาคม 2564