ส่องสูตรคำนวณส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ตามข้อเสนอ‘พปชร.’

24 ก.ย. 2564 | 01:30 น.

ส่องสูตรคำนวณส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ตามข้อเสนอ‘พปชร.’ : รายงาน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,716 หน้า 10 วันที่ 23 - 25 กันยายน 2564

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ออกมาเปิดเผยภายหลัง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรค พลังประชารัฐ แต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการกฎหมายและข้อบังคับพรรค ว่าภารกิจแรกจะดูเรื่องร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ว่าพรรคจะแก้ไขอย่างไรรวมถึงร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)

 

ส่วนเรื่องกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคจะขมวดเอาจากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งปี 2554 ที่ได้เขียนวิธีการคำนวณไว้ ซึ่งเป็นการคำนวณคะแนนเฉพาะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หารด้วย 100 โดยพรรคการเมืองก็จะได้ส.ส.พึงมีต่อ 1 คน จากนั้นก็ไปดูว่าพรรคการเมืองไหนที่ได้จำนวนคะแนนทั้งประเทศเท่าไร

 

“หากหารแล้วได้จำนวนเต็มหรือ 1% ขึ้นไป ก็จะได้ ส.ส. 1 คนขึ้นไป ซึ่งขึ้นอยู่กับคะแนน ซึ่งหากไม่ได้ 1% ก็จะไม่ได้ ส.ส.ในกรณีที่เหลือเศษ ก็จะดูว่าที่ได้ 1% ขึ้นไปนั้น พรรคไหนที่เหลือเศษมากที่สุดก็จะได้ ส.ส.เพิ่ม”

 

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ตกลงให้แต่ละพรรคต่างเขียนไปและไปยื่น และพิจารณารวมกันในสภาฯ ซึ่งอาจจะมีของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นเข้ามาด้วย ก็คงต้องดูของ กกต.เป็นหลัก เพราะถือเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายเฉพาะกฎหมายเลือกตั้ง

 

ทั้งนี้ เพราะ กกต.ก็มีอำนาจเสนอร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมา ซึ่ง กกต.ก็คงจะเสนอตามที่ตนพูดไปข้างต้น เพราะต้องไปดูแนวกฎหมายเลือกตั้งปี 2554 ซึ่งก็ทำให้คำนวณคะแนนง่ายที่ หากได้ 1% ขึ้นไปถึงจะได้ ส.ส. 1 คน แต่หากมีเศษก็จะนำไปให้พรรคที่มี 1% ขึ้นไปไม่เอามาแบ่งเหมือนรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่เรียกว่า “ปัดเศษ” คือไม่มี ส.ส.ครบ 1% ก็ปัดเศษให้เป็น 1 คน

 

สำหรับ “สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ” ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 91 หากนำมาเป็น “โมเดล” ในการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อตามระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบ มี ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คนนั้น จะเป็นดังนี้                 

 

เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับผลรวมคะแนนเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจากคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดแล้ว ให้ดำเนินการคำนวณสัดส่วนเพื่อหาผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ดังต่อไปนี้  

 

(1) ให้รวมผลคะแนนทั้งหมดที่พรรคการเมืองได้รับคะแนนจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น

 

(2) ให้นำคะแนนรวมจาก (1) หารด้วย 100 ผลลัพธ์ที่ได้ให้ถือเป็นคะแนน เฉลี่ยต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อหนึ่งคน

 

ส่องสูตรคำนวณส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ตามข้อเสนอ‘พปชร.’

 

 

(3) ในการคำนวณหาจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งแต่ละพรรคการเมืองจะได้รับ ให้นำคะแนนรวมของแต่ละพรรคการเมืองที่ได้รับ หารด้วยคะแนนเฉลี่ยตาม (2) ผลลัพธ์ที่ได้เป็นจำนวนเต็มคือจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นได้รับ โดยเรียงตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น

 

(4) ในกรณีที่จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองได้รับรวมกันทุกพรรคการเมืองมีจำนวนไม่ครบ 100 คน ให้พรรคการเมืองที่มีผลลัพธ์ตาม  (3) เป็นเศษที่มีจำนวนมากที่สุด ได้รับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน เรียงตามลำดับ จนกว่าจะมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองทั้งหมดได้รับรวมกันครบจำนวนหนึ่ง 100 คน

 

(5) ในการดำเนินการตาม (4) ถ้ามีคะแนนเท่ากัน ให้พรรคการเมืองที่มีคะแนนเท่ากันจับสลากโดยตัวแทนของพรรคการ เมืองที่มีคะแนนเท่ากันภายในวันและเวลาที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด เพื่อให้ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อครบจำนวน

 

จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมือง ที่จะได้รับตามผลการคำนวณข้างต้น จะต้องไม่เกินจำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อเท่าที่มีอยู่ในแต่ละบัญชีรายชื่อผู้สมัครที่พรรคการเมืองนั้นได้จัดทำขึ้น

 

มาตรา 92  ...การดำเนินการกรณีการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับผลการนับคะแนนแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและดำเนินการคำนวณสัดส่วนจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองตามมาตรา 91 แล้วให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการเลือกตั้งว่า ผู้สมัครผู้ใดเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ

 

มาตรา 93 เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการเลือกตั้งแล้วให้ส่งผลการเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของทุกพรรค การเมืองไปยังประธานรัฐสภาเพื่อทราบโดยเร็ว และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

อย่างไรก็ตาม มีข้อเสนอจากพรรคเล็ก โดย นายโกวิทย์ พวงงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไท เกี่ยวกับสูตรการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ ระบุว่า พรรคมีแนวทางจะร่วมสนับสนุนร่างแก้ไข พ.ร.บ. เลือกตั้งส.ส.​ร่วมกับพรรคก้าวไกล ที่ระบุว่าจะเสนอให้ใช้การคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ ด้วยระบบจัดสรรปันส่วนผสม หรือ MMP เพื่อให้ใช้การจัดสรรส.ส.แบบพึงมี ภายใต้ระบบเลือกตั้งด้วยบัตร 2 ใบ อย่างไรก็ดี ในรายละเอียดต้องหารือร่วมกันอีกครั้ง 

 

“การใช้วิธีคำนวณหาส.ส.บัญชีรายชื่อ แบบพึงมี ถือเป็นระบบที่ทุกฝ่ายได้หรือ 50 : 50 รวมถึงพรรคการเมืองขนาดเล็กที่ได้ส.ส. 4-5 คนขึ้นไปมีส่วนได้ด้วย พรรคพลังท้องถิ่นไทที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญว่าด้วยระบบเลือกตั้ง เพราะลดจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเพิ่มส.ส.เขตที่กังวลว่าจะทำให้ต้นตอการซื้อสิทธิขาย เสียงเพิ่มมากขึ้น หากพื้นที่เขตเลือกตั้งแคบลง แต่ไม่ขัดข้องกับการปรับให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ” นายโกวิทย์ ระบุ

 

การประชุมสภาฯ สมัยสามัญครั้งที่ 2 จะเปิดประชุมในวันที่ 1 พ.ย. 2564 นี้ “กฎหมายเลือกตั้งส.ส.” ที่ว่าด้วยประเด็นการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ จะเป็นเรื่องหนึ่งที่จะนำไปสู้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างพรรคการเมืองขึ้นได้ โดยเฉพาะปัญหาระหว่าง “พรรคใหญ่” กับ “พรรคเล็ก”