วัคซีนโควิดเด็ก ความปลอดภัยเป็นอันดับแรก-ผู้ใหญ่ควรรับวัคซีนก่อน

15 ก.ย. 2564 | 03:02 น.

กุมารแพทย์ชี้ "วัคซีนโควิดในเด็ก" ความปลอดภัยต้องมาเป็นอันดับแรก แนะผู้ใหญ่รับวัคซีนก่อน เหตุส่วนใหญ่เด็กมักติดเชื้อจากผู้ใหญ่ในบ้าน

วัคซีนโควิดเด็ก ชัดเจนแล้วว่าวัคซีนโควิดไฟเซอร์จะเป็นวัคซีนที่ให้เด็กอายุ 12-17 ปี ทุกคนในไทย ตามแผนแล้วจะฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม แก่กลุ่มผู้ที่มีอายุ 12 ปี – 17 ปี 11 เดือน 29 วัน ณ วันที่ฉีด โดยจะอนุโลมให้ กลุ่มนักเรียน นักศึกษาที่มีอายุเกิน 17 ปี 11 เดือน 29 วันด้วย ฃ

ตามแผนการฉีดวัคซีนโควิดเด็ก จะครอบคลุมนักเรียน นักศึกษา ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 , ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.), ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรือ เทียบเท่า รวมถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีอายุ 12 ปี

ในเดือนตุลาคมนี้ จะเริ่มฉีดให้แก่นักเรียน นักศึกษา ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) จำนวน 29 จังหวัดก่อน แต่ตั้งเป้าหมายให้นักเรียน นักศึกษาทุกคน ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ เข็มที่ 1 อย่างครบถ้วน และเข็มที่ 2 ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ ซึ่งได้จัดสรรไว้แล้ว 4.8 ล้านโดส

กระทรวงศึกษาธิการหวังไว้ว่า “วัคซีนโควิดสำหรับเด็ก” จะทำให้การเรียนรู้ในโรงเรียนกลับมาได้ มีลุ้นว่าเดือน พ.ย.นี้ โรงเรียนอาจจะทยอยเปิดได้โดยตั้งแต่ 27 กันยายน – 31 ตุลาคม 2564 จะเป็นการปูพรมฉีดวัคซีนจาก 24 ล้านโดส

แต่ก่อนจะถึงเวลานั้น ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นำร่องฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม ให้เด็กอายุ 10-18 ปี  จำนวน 50,000 คน วันที่ 20 กันยายนนี้ ใน “โครงการ VACC 2 School”

ขณะที่ กทม. ก็เตรียมฉีดไฟเซอร์ให้นักเรียนกลุ่มเสี่ยง อายุ 12-18 ปี เริ่มตั้งแต่ 21 กันยายนนี้

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มั่นใจว่าจะดำเนินการได้ก่อนเปิดเทอมแน่นอน เพราะวางแผนเตรียมการไว้แล้ว จึงขอความร่วมมือผู้ปกครองยินยอมให้บุตรหลานฉีดวัคซีน โดยกระทรวงสาธารณสุขจะเร่งสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ที่ได้รับจากการฉีดวัคซีน

ขณะที่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่าแผนการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับนักเรียนช่วงอายุดังล่าว จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง กระทรวงศึกษาธิการให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดทำแบบสำรวจความยินยอมจากผู้ปกครองแล้ว คาดว่าปลายเดือน ก.ย.นี้

เด็กเเละวัยรุ่นจำเป็นต้องได้รับวัคซีนโควิด-19 หรือไม่ ?

พญ.สุมิตรา อวิรุทธ์นันท์ กุมารแพทย์เฉพาะทางทารกแรกเกิดและปริกำเนิด ประจำโรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ 2 กล่าวว่า จากข้อมูลในปัจจุบันพบว่าเด็กและวัยรุ่นมักจะติดจากผู้ใหญ่ในบ้าน เพราะฉะนั้นการให้วัคซีนในผู้ใหญ่ให้ครบจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด

ประกอบกับข้อมูลในปัจจุบันพบว่าการติดโควิดในเด็กอาการไม่รุนแรง และในเด็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กเล็กโอกาสแพร่เชื้อให้ผู้ใหญ่ได้น้อยมาก การรับวัคซีนโควิดในเด็กจึงเป็นเรื่องไม่เร่งด่วนเป็นอันดับต้น และจำเป็นต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ

ทั้งนี้เด็กอยู่ในกลุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะใน 7 กลุ่มโรค ยังคงแนะนำในการเข้ารับวัคซีนป้องกันโควิด เพื่อลดความรุนแรงของโรคก่อนเป็นสำคัญ

ขณะที่จากข้อมูลของกรมอนามัย พบว่ากลุ่มเด็กวัยเรียนและวัยรุ่น (อายุ 6-18 ปี) ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. - 11 ก.ย.2564 มีผู้ติดเชื้อสะสม 129,165 คน โดย 90% เป็นคนไทย และอีก 10% เป็นคนต่างชาติ และมีผู้เสียชีวิตสะสม 15 คน ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว

ส่วนของเด็กอายุ 12-18 ปี ที่มีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดในกลุ่มที่มีโรคประจำตัว ข้อมูลเมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา มีเด็กได้รับวัคซีนไฟเซอร์ เข็มแรก 74,932 คน และเข็มสอง 3,241 คน

วัคซีนเด็กควรเป็น เชื้อตาย หรือ mRNA ?

ก่อนหน้านั้นมีข้อถกเถียงวัคซีนเด็กควรเป็น เชื้อตาย หรือ mRNA อย่าง ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  ไม่แนะนำฉีดไฟเซอร์ให้เด็ก เพราะมีความเสี่ยงหัวใจอักเสบแม้ใช้กันแล้วในประเทศตะวันตก แต่ประเทศเหล่านั้นไม่มีวัคซีนเชื้อตาย แม้เกิดขึ้นไม่มากและรักษาได้ถ้ารักษาทัน แต่เด็กเสียชีวิตยากอยู่แล้ว คงต้องคิดความปลอดภัยสูงสุดเป็นหลักด้วย

ขณะที่ประเทศจีนใช้แล้วในเด็ก และการศึกษาในผู้ใหญ่ยืนยันแล้วว่าการฉีดเชื้อตาย ซิโนแวค ต้อง 2 เข็ม และเมื่อต่อด้วยวัคซีนแบบแอสตร้า จะได้ผลดีที่สุด

ขณะที่ขณะที่ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ยืนยัน ยังไม่มีวัคซีนที่ปลอดภัยสำหรับเด็กทุกคน ให้เน้นฉีดผู้ใหญ่ ผู้ปกครอง ครู คนในบ้านให้ครบเพื่อไม่แพร่เชื้อไปยังเด็ก

พญ.สุมิตรา กล่าวถึงประเด็นนี้ว่าจากข้อมูลในปัจจุบันพบว่าภูมิคุ้มกันจะขึ้นได้ดีในเด็กที่รับวัคซีนโควิดชนิด mRNA ส่วนวัคซีนชนิดเชื้อตายข้อมูลในเด็กยังอยู่ระหว่างการศึกษา ซึ่งในปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของประเทศไทย ได้อนุมัติการใช้ในเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ชนิด mRNA มี 2 ยี่ห้อคือวัคซีน Pfizer และ Spikevax หรือโมเดอร์นาสำหรับใช้ในเด็กมากกว่า 12 ปีขึ้นไป

ส่วน Spikevax (Moderna) ปริมาณยาสําหรับฉีดให้กับเด็กโดสละ 0.5 มิลลิลิตร เท่ากับ 1 โดส (0.5 มิลลิลิตร) ซึ่งเป็นปริมาณที่เท่ากับปริมาณยาที่ฉีดในผู้ใหญ่ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ส่วนแผนการฉีด Spikevax (Moderna) สำหรับเด็ก ประกอบด้วยการฉีดวัคซีนในขนาด 0.5 มิลลิลิตร จํานวน 2 ครั้ง การฉีดกระตุ้นเข็มที่ 2 ควรให้หลังจากการฉีดเข็มแรก 28 วัน (อ้างอิง: https://rebrand.ly/spikevax-p)

ผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นที่ผู้ปกครองต้องเฝ้าระวัง ?

กรณีผลข้างเคียงจากวัคซีน mRNA อาจมีทั้งอาการไม่รุนแรง เช่น ไข้ ปวดเมื่อย แขนบริเวณที่ฉีดเกิดการอักเสบ บวมแดง และอาการรุนแรงได้แก่ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลันหากมี อาการที่อาจบ่งชี้ถึง เช่น การเจ็บหน้าอกแบบเฉียบพลัน หายใจสั้น หรือใจสั่นภายหลังจากการฉีดวัคซีน ควรต้องรับการรักษาในรพ.อย่างทันท่วงที

ส่วนผลข้างเคียงของวัคซีนชนิดเชื้อตาย อยู่ในระหว่างการศึกษา คาดว่าผลการศึกษาจะออกมาในเร็วๆนี้

“วัคซีนโควิดเด็ก” ไม่ใช่ปัจจัยหลักให้เปิดโรงเรียน

ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือมาตราการทางสาธารณสุข ได้แก่ การใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ งดการรวมกลุ่มที่แออัด ซึ่งอาจทำได้โดยลดจำนวนนักเรียนในแต่ละชั้นเรียน หรือแต่ละช่วงเวลาไม่ให้เกิดความแออัด

ส่วนในเด็กที่โตขึ้นมา การสร้างสุขนิสัย หมั่นดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง  ถัดมาคือให้ผู้ใหญ่ในโรงเรียนทุกคนตั้งแต่ พนักงานรปภ. ภารโรง แม่บ้าน แม่ครัว คุณครูและบุคลากรทุกคนในโรงเรียนได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพให้ได้ครบถ้วน และสุดท้าย

หากเด็กได้รับวัคซีนที่มีความปลอดภัยสูง และประสิทธิภาพเพียงพอ ก็จะสามารถทำให้ผู้ปกครองและบุคลากรในโรงเรียนอุ่นใจขึ้นในการเปิดสถานศึกษา