ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้เด็ก กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบต่ำ-ติดเชื้อสูงกว่า 6 เท่า

15 ก.ย. 2564 | 00:00 น.

สธ.เผยฉีดวัคซีนโควิดไฟเซอร์ให้เด็ก พบกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบต่ำ ขณะที่การเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อพบสูงกว่าถึง 6 เท่า ในภูมิภาคเอเชียพบเพียง 2-3 รายต่อแสนประชากร

นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า การฉีดไฟเซอร์ในกลุ่มเด็ก/นักเรียนที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไปเป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 3-4 สัปดาห์

เริ่มเดือนตุลาคมนี้ โดยให้สถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนปฏิบัติตามแนวทางของคณะกรรมการโรคติดต่อพื้นที่ ซึ่งจะมีการประเมินการเปิดสถานศึกษาจากบริบทและสถานการณ์ในพื้นที่ เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ทั้งครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน รวมถึงครอบครัวและชุมชน

ส่วนข้อกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียงการฉีดวัคซีนที่จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบนั้น ข้อมูลทั่วโลกพบว่าเกิดในระดับต่ำ ขณะที่การเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อพบสูงกว่าถึง 6 เท่า ในภูมิภาคเอเชียพบเพียง 2-3 รายต่อแสนประชากร และในประเทศไทยหลังจากฉีดไปแล้วเกือบ 9 แสนราย มีรายงานเพียง 1 ราย ในเด็กอายุ 13 ปี รักษาหายแล้ว ถือว่าวัคซีนมีความปลอดภัย ส่วนเด็กที่ศึกษาในรูปแบบครอบครัวหรือโฮมสคูล (Home School) สามารถแจ้งความประสงค์กับหน่วยงานที่ขึ้นทะเบียนไว้ เพื่อประสานสำนักงานสาธารณสุขในพื้นที่นัดหมายรับการฉีดต่อไป

นายแพทย์เฉวตสรร กล่าวต่อว่า สถานการณ์โควิด 19 ในประเทศไทย มีแนวโน้มผู้ติดเชื้อที่มีอาการหนักและเสียชีวิตลดลงต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากมาตรการล็อคดาวน์ในช่วงที่ผ่านมา แต่ยังคงพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนอยู่บ้างกระจายหลายพื้นที่ จากการไปในสถานที่เสี่ยง การทานอาหารร่วมกัน การติดเชื้อภายในครอบครัว เน้นย้ำให้ประชาชนระมัดระวังตนเองให้มากที่สุด โดยเฉพาะในช่วงหลังจากเปิดกิจกรรม/กิจการ มีการเดินทาง พบปะผู้อื่น และมีการสัมผัสร่วมมากขึ้น มีโอกาสเสี่ยงในการแพร่และรับเชื้อได้ อาจมีแนวโน้มส่งผลต่อตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ในเดือนตุลาคม

จึงขอให้อดทนและเข้มมาตรการป้องกันตนเองขั้นสูงสุดกับทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา ควบคู่ไปกับการเข้ารับการฉีดวัคซีน เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อให้เหลือน้อยที่สุด หากจำนวนผู้ติดเชื้อในเดือนตุลาคมไม่เพิ่มขึ้นจะได้มีการผ่อนคลายมากขึ้น

สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด (13 กันยายน 2564) ฉีดได้ 676,669 โดส รวมสะสม 40,953,025 โดส เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย โดยเป็นเข็มแรก 27,540,743 โดส คิดเป็นร้อยละ 38.2 ของประชากร และครบ 2 เข็ม 12,795,707 โดส คิดเป็นร้อยละ 17.8 ของประชากร ส่วนเข็มแรกในผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปครอบคลุมร้อยละ 52.2, กลุ่ม 7 โรคเรื้อรังร้อยละ 50.7, หญิงตั้งครรภ์ร้อยละ 11.3