อนาคตของธุรกิจครอบครัวในเอเชีย หลังวิกฤติโควิด-19

08 ก.ย. 2564 | 00:55 น.

Designing Your Family Business รศ.ดร.เอกชัย  อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์ และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

กล่าวกันว่าธุรกิจครอบครัวนั้นเป็นรากฐานของการสร้างเศรษฐกิจในเอเชียเลยทีเดียว และยังเป็นพลังขับเคลื่อนของผู้ประกอบการที่มีพลวัตรของธุรกิจในภูมิภาคนี้ เนื่องจากมีส่วนสำคัญในการพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ของชุมชนด้วยการสร้างงาน ส่งมอบสินค้าและบริการ และพัฒนาแนวทางแก้ไขปัญหาใหม่ๆอยู่เสมอ

 

ดังนั้นเพื่อให้เข้าใจวิธีการของเจ้าของธุรกิจในการดำเนินกิจการและศึกษารูปแบบธุรกิจครอบครัว และแนวทางพัฒนาธุรกิจในทศวรรษหน้า บริษัท Sun Life ผู้ให้บริการทางการเงิน จึงได้ทำการสำรวจธุรกิจครอบครัวในตลาดเอเชีย 6 แห่ง หลังสิ้นปีค.ศ 2019 ในชื่อ “The Future of Family Businesses in Asia” โดยผลการสำรวจเผยให้เห็นข้อดีที่เป็นเอกลักษณ์หลายประการที่มีอยู่ในธุรกิจครอบครัว

 

ในขณะเดียวกันก็เผยจุดอ่อนในอีกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพแวดล้อมที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน  นอกจากนี้ยังพบว่ามีธุรกิจครอบครัวหลายประเภทที่ยังคงมีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจเอเชีย ตั้งแต่ธุรกิจที่เพิ่งเริ่มกิจการ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ไปจนถึงบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่

 

โดยปัจจุบันจากรายงานของ Family Firm Institute ระบุว่าธุรกิจครอบครัวมีสัดส่วนประมาณ 2 ใน 3 ของธุรกิจทั้งหมดทั่วโลก คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 70 ถึง 90 % ของจีดีพีทั่วโลก ทั้งนี้วิวัฒนาการ การสืบทอดกิจการ และความเป็นผู้นำในอนาคตของธุรกิจครอบครัวมีความสำคัญไม่เฉพาะต่อผู้ถือหุ้นและเศรษฐกิจของประเทศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงพนักงานและชุมชนรอบข้างด้วย

 

โดยธุรกิจเหล่านี้เป็นรากฐานที่สำคัญของเศรษฐกิจเอเชียและเป็นส่วนสำคัญของชุมชนเหล่านี้ด้วย ปัจจุบันเนื่องด้วยการระบาดของโรคโควิด -19  ส่งผลให้ธุรกิจและเศรษฐกิจทั่วโลกต้องหยุดชะงักอย่างมาก โดยรายงานของบริษัท Sun Life เปิดเผยว่าธุรกิจที่อายุกิจการน้อยอาจเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิดต่างๆมากกว่า ในทางกลับกัน

 

ธุรกิจที่เติบโตเต็มที่จะรับรู้ถึงความเสี่ยงมากกว่าและได้ดำเนินการตามขั้นตอนการป้องกันเพื่อลดความเสียหายได้มากกว่า นอกจากนี้การที่ธุรกิจครอบครัวมักพึ่งพาผู้มีอำนาจตัดสินใจหลักกลุ่มเล็กๆ ในการดำเนินธุรกิจ ดังนั้นสุขภาพและสวัสดิภาพของผู้นำเหล่านี้จึงมีส่วนสำคัญต่อสุขภาพของธุรกิจด้วย

อนาคตของธุรกิจครอบครัวในเอเชีย หลังวิกฤติโควิด-19

มีรายงานว่าเจ้าของธุรกิจเกือบทุกคน (96%) เชื่อว่าหากพวกเขาหรือบุคคลสำคัญของพวกเขาไม่สามารถทำงานได้ตามปกติด้วยเหตุผลใดก็ตาม ธุรกิจจะต้องเผชิญกับผลกระทบร้ายแรงต่างๆที่ตามมา โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งอธิบายสถานการณ์ดังกล่าวว่าจะอยู่ในระดับ “ร้ายแรงมาก” เลยทีเดียว

 

ทั้งนี้การเตรียมพร้อมของธุรกิจที่เติบโตเต็มที่ทำให้พวกเขาอยู่ในสถานะที่ดีกว่าในการตอบสนองต่อการหยุดชะงักที่เกิดจากการระบาดครั้งใหญ่นี้ เนื่องจากจะทำให้พวกเขามีเวลามากกว่าในการบรรเทาความเสียหายที่เกี่ยวกับผลิตภาพและการรักษาคนเก่งเอาไว้ ขณะที่โรคโควิด-19 ได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความต่อเนื่องทางธุรกิจ และธุรกิจที่อายุกิจการน้อยกว่ามีทางเลือกน้อยกว่าในการจัดการผลกระทบที่เกิดขึ้น

 

นอกจากนี้อนาคตของธุรกิจครอบครัวยังขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ในการเกษียณจากธุรกิจและแผนการสืบทอดกิจการที่มีการจัดการอย่างเหมาะสม แม้ว่าธุรกิจครอบครัวส่วนใหญ่จะมีรูปแบบกลยุทธ์ในการเกษียณจากธุรกิจอยู่แล้ว แต่ธุรกิจที่เติบโตเต็มที่มักจะมีการกำหนดอายุเกษียณการทำงานที่ชัดเจนกว่า

 

อย่างไรก็ตามจากรายงานพบว่า เจ้าของธุรกิจที่เติบโตเต็มที่มักจะไม่ขอคำแนะนำจากภายนอกเกี่ยวกับการกำหนดแผนการสืบทอดกิจการในขณะที่เจ้าของธุรกิจที่เพิ่งเริ่มกิจการและธุรกิจที่กำลังเติบโตนั้นเปิดกว้างมากกว่าในการขอคำแนะนำจากภายนอก นอกจากนี้ยังพบความคิดเห็นที่แตกต่างอย่างมากเกี่ยวกับแนวโน้มในอนาคตของธุรกิจครอบครัว

 

โดยเจ้าของธุรกิจที่โตเต็มที่คาดหวังว่ารูปแบบธุรกิจของครอบครัวจะยังคงแข็งแกร่งต่อไปในอนาคต ขณะที่เจ้าของธุรกิจที่เพิ่งเริ่มกิจการและที่กำลังเติบโตเชื่อว่าธุรกิจครอบครัวจะลดจำนวนลงเมื่อความต้องการผู้บริหารมืออาชีพจากภายนอกครอบครัวเพิ่มขึ้น

 

อย่างไรก็ตามโดยทั่วไปแล้วมักพบความคิดเห็นที่แตกต่างระหว่างเจ้าของธุรกิจรุ่นเก่าและรุ่นใหม่อยู่เสมอ โดยเจ้าของธุรกิจที่อายุกิจการมากกว่าจะได้เปรียบในเรื่องของประสบการณ์และความสำเร็จ จึงทำให้ลังเลที่จะทำการเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตามที่มากเกินไป เช่น ยอมมอบอำนาจให้ “บุคคลภายนอก”

 

ขณะที่เจ้าของธุรกิจที่อายุกิจการน้อยกว่าจะเปิดรับการเปลี่ยนแปลงมากกว่า รวมถึงการสรรหาบุคลากรที่มีความสามารถและความช่วยเหลือให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้เพื่อขยายธุรกิจของตน ซึ่งจากมุมมองที่แตกต่างนี้ชี้ว่ารูปแบบธุรกิจครอบครัวในเอเชียอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปโดยเจ้าของกิจการรุ่นต่อไป

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,711 วันที่ 5 - 8 กันยายน พ.ศ. 2564