นักวิจัยม.สงขลานครินทร์พบ"กระท่อม"ต้านโรคซึมเศร้า

03 ก.ย. 2564 | 09:31 น.

 ม.อ.ชี้ผลวิจัยพืชกระท่อมต้านซึมเศร้า ช่วยรักษาอาการพาร์กินสัน และกำลังศึกษาการใช้ เพื่อบำบัดการติดยาเสพติดในอาสาสมัคร

 รศ.ดร.เอกสิทธิ์ กุมารสิทธิ์ และผศ.ดร.ดาร์เนีย เจ๊ะหะ นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศึกษาพบว่า พืชกระท่อมช่วยต้านอาการซึมเศร้า จากการทดลองและบันทึกคลื่นสมองในหนูทดลอง  และได้เผยแพร่ผลการวิจัยไปในระดับนานาชาติ และกำลังเป็นที่สนใจ  ขณะนี้ทีมงานกำลังทำการวิจัย ร่วมกับแพทย์ด้านระบาดวิทยา ศึกษาผู้ที่ใช้พืชกระท่อมในภาคใต้ เพื่อบำบัดรักษาอาการติดยาเสพติด
  นักวิจัยม.สงขลานครินทร์ ศึกษาพืชกระท่อมต้านซึมเศร้า รักษาพาร์กินสัน และใช้บำบัดการติดยาเสพติด    

วันที่  24 สิงหาคม.2564 ประเทศไทยเริ่มมีผลบังคับใช้พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2564 ปลดล็อกพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด ประเภทที่ 5 ทำให้สามารถปลูกพืชกระท่อม เอาไว้ครอบครอง สามารถซื้อ ขาย หรือนำมาบริโภคได้อย่างเสรี ไม่ผิดกฎหมายอีกต่อไป  และเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่  นอกจากนี้ผู้ที่ถูกดำเนินคดีในความผิดฐานครอบครองพืชกระท่อม ถือว่าไม่ได้ทำความผิด
  

ยกเว้น น้ำต้มใบกระท่อมผสมน้ำอัดลม หรือผสมยาแก้ไอ  ซึ่งรู้จักกันในชื่อว่า 4x100 สารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ส่วนน้ำอัดลมมีสารคาเฟอีนซึ่งกระตุ้นสมองส่วนกลาง  ยาแก้ไอทำให้ง่วงซึม เมื่อนำมาผสมเข้าด้วยกันจะออกฤทธิ์ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายในระยะยาว

รศ.ดร.เอกสิทธิ์ กุมารสิทธิ์

ชาวบ้านในพื้นที่ภาคใต้ ใช้ใบกระท่อมในการรักษาอาการและโรคต่าง ๆ หลายชนิด เช่น ท้องร่วง ปวดท้อง โดยการเคี้ยวใบสด เคี้ยวครั้งละ 1-3 ใบ และมีการใช้ใบกระท่อมเพื่อให้สามารถทำงานได้ทนนาน  และใช้ทดแทนสารเสพติดชนิดอื่น เช่น ยาบ้า เฮโรอิน 

นักวิจัยม.สงขลานครินทร์พบ"กระท่อม"ต้านโรคซึมเศร้า

ผศ.ดร.ดาร์เนีย เจ๊ะหะ
 คุณสมบัติทางเภสัชวิทยา พบสารมิตรากัยนิน (mitragynine)  ทีมวิจัยพืชกระท่อมของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  จากคณะแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ กำลังดำเนินงานศึกษาวิจัย  เพื่อเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการวางแผนมาตรการทางสาธารณสุขและการแพทย์ ทั้งในการป้องกันและดูแลรักษาผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจากการใช้พืชกระท่อม และผู้ใช้สารเสพติดชนิดอื่น รวมทั้งในการพัฒนาศักยภาพของพืชสมุนไพรธรรมชาติให้เป็นประโยชน์อีกด้วย 

เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2564 รศ.ดร.เอกสิทธิ์ กุมารสิทธิ์ คณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และทีมงานคณะวิทยาศาสตร์ หนึ่งในทีมที่กำลังศึกษาวิจัย พืชกระท่อม เปิดเผยว่า ได้ใช้เวลาถึง  19 ปีที่ศึกษาวิจัยพืชกระท่อม ซึ่งเป็นพืชประจำถิ่นภาคใต้  

เมื่อกฎหมายปลดล็อก  จะปลูกกี่ต้นก็ได้  เพราะพืชกระท่อมคือสมุนไพร ยิ่งทำให้เกิดความสนใจทั้งภาครัฐและเอกชน   สำหรับชาวบ้านในภาคใต้จะกินเพื่อให้ตื่นตัว เพื่อให้ร่างกายพร้อมทำงาน แก้อาการปวดเมื่อย  และเพื่อรักษาโรคท้องร่วง 

การวิจัยพืชกระท่อมในหนูทดลอง

นักวิจัยม.สงขลานครินทร์พบ"กระท่อม"ต้านโรคซึมเศร้า
ผลการวิจัยล่าสุดที่เป็นไฮไลต์ ในขณะนี้ คือผลการวิจัยในสัตว์ทดลอง ที่ชี้ว่าพืชกระท่อมช่วยต้านอาการซึมเศร้า บรรเทาอาการโรคพาร์กินสันได้  โรคสมองเสื่อมชนิดนี้มีอัตราการเกิดสูงถึง 1 ใน 3 ของโรคสมองเสื่อมทั้งหมด (อันดับหนึ่งคือโรคอัลไซเมอร์ซึ่งมีจำนวน 2 ใน 3) ผลวิจัยนี้นับว่าเป็นความหวังและโอกาส ที่จะนำพืชกระท่อมไปใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าได้อีกมาก
 

การวิจัยในหนูทดลอง ที่ชี้ว่าพืชกระท่อมแก้อาการซึมเศร้าได้ โดยวิเคราะห์จากรูปแบบคลื่นสมองของหนูทดลอง และพฤติกรรมของหนู พบว่าเมื่อให้หนูทดลองว่ายน้ำ หนูที่ได้รับสารจากพืชกระท่อม จะมีรูปแบบการเคลื่อนไหวแบบแอคทีฟ ไม่เซื่องซึมหรือหยุดนิ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับหนูกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับสารสกัดจากใบกระท่อม  ซึ่งจะได้มีการศึกษาในมนุษย์ต่อไป

เนื่องจากมีการกล่าวอ้างในชุมชนที่เสพติดสุรา เฮโรอีน  มอร์ฟีนและยาบ้า ว่าสามารถใช้กระท่อมบรรเทาอาการติดยาเสพติดได้ ถึงแม้จะมีการศึกษาเบื้องต้นในสัตว์ทดลองแล้ว แต่ยังไม่มีการยืนยันด้วยการพิสูจน์ที่เป็นวิทยาศาสตร์อย่างเป็นระบบมาก่อน

นักวิจัยม.สงขลานครินทร์พบ"กระท่อม"ต้านโรคซึมเศร้า

ทีมวิจัยจึงได้ร่วมกับ ทีมงานระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์   คือ ศ.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย และดร.ดาริกา ใสงาม วางแผนทำการศึกษาในผู้ที่ใช้พืชกระท่อม เพื่อบำบัดอาการเสพติดเฮโรอีนและยาบ้า  โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) 
โครงการนี้จะทำการศึกษาผู้ที่เคยเสพยาเสพติด และใช้พืชกระท่อมเพื่อบำบัดอาการเสพติด (เมื่อต้องการเสพ จะเคี้ยวใบกระท่อมลดอาการ) พื้นที่ที่ทำการศึกษา คือที่ อ.จะนะ      จ.สงขลา  อ.ห้วยยอด จ.ตรัง และ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง   จำนวนประมาณ 90 ราย

การวิจัยนี้ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการพิจารณาโครงการวิจัยในมนุษย์ตามหลักจริยธรรมการวิจัย เพื่อไม่ให้มีความเสี่ยงใด ๆ ต่ออาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการ และจะไม่มีการให้ผู้ที่ไม่เคยใช้พืชกระท่อมมาก่อนทดลองใช้

นักวิจัยม.สงขลานครินทร์พบ"กระท่อม"ต้านโรคซึมเศร้า