กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดไฟเซอร์ CDC สหรัฐยัน ยังไม่มีผู้เสียชีวิต

31 ส.ค. 2564 | 01:26 น.

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ (CDC) แถลงยืนยัน แม้จะมีรายงานผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบนับพันรายหลังรับวัคซีนต้านโควิด-19 ทั้งของบริษัทไฟเซอร์ และโมเดอร์นา แต่จนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากอาการดังกล่าว

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ (CDC) แถลงวานนี้ (30 ส.ค.) ว่า แม้จะมีรายงาน ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ รวม 2,574 รายหลังจากที่พวกเขาได้รับ วัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 โดยในจำนวนนี้ 1,282 ราย ได้รับ วัคซีนไฟเซอร์ ขณะที่ 557 รายได้รับ วัคซีนโมเดอร์นา แต่จนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีรายงานว่า มีผู้ป่วยถึงขั้นเสียชีวิตจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หลังฉีดวัคซีนสองยี่ห้อดังกล่าว

 

อย่างไรก็ตามในวันเดียวกันนั้น มีรายงานข่าวจากหน่วยงานสาธารณสุข ประเทศนิวซีแลนด์ ว่าพบผู้เสียชีวิตรายแรกในประเทศที่มีความเชื่อมโยงกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดของบริษัทไฟเซอร์ โดยผู้เสียชีวิตเป็นสตรี รายงานข่าวระบุเธอเสียชีวิตด้วยอาการผนังกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังได้รับวัคซีนเพียงไม่กี่วัน แต่ขณะนี้เรื่องดังกล่าวยังคงอยู่ในกระบวนการชันสูตรและยังไม่มีข้อสรุปสาเหตุของการเสียชีวิตออกมา มีเพียงการสันนิษฐานว่า อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบอาจจะเกิดจากการฉีดวัคซีน

 

ก่อนหน้านี้ในเดือนมิ.ย. เอกสารจาก ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (CDC) ระบุว่า มีการรายงานผู้ป่วยจำนวนมากกว่า 1,200 รายในสหรัฐ ที่มีอาการ “กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ” หลังจากที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของ บริษัทไฟเซอร์ และ โมเดอร์นา

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดไฟเซอร์ CDC สหรัฐยัน ยังไม่มีผู้เสียชีวิต

กลุ่มผู้ป่วยอาการดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นเพศชาย มีอายุ 16-24 ปี ทั้งนี้ รายงานของ CDC เดือน มิ.ย.ให้รายละเอียดในเชิงสถิติว่า

 

  • ผู้ป่วยจำนวน 267 ราย มีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือเยื้อหุ้มหัวใจอักเสบ หลังจากได้รับการฉีดวัคซีนของไฟเซอร์หรือโมเดอร์นาจำนวน 1 เข็ม
  • ผู้ป่วยจำนวน 827 ราย มีอาการดังกล่าว หลังจากได้รับการฉีดวัคซีน 2 เข็ม
  • นอกจากนี้ ยังมีผู้ป่วย 132 ราย ที่มีอาการดังกล่าวเช่นกัน แต่ไม่มีการระบุว่าได้รับการฉีดวัคซีนกี่เข็ม
  • อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีอาการดังกล่าวส่วนใหญ่ หรือราว 80% จะมีอาการดีขึ้นจนเป็นปกติ หลังจากที่ได้รับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดไฟเซอร์ CDC สหรัฐยัน ยังไม่มีผู้เสียชีวิต

นอกจากที่สหรัฐอเมริกาและนิวซีแลนด์แล้ว เคยมีรายงานการตรวจพบผู้ป่วยอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังได้รับวัคซีนในประเทศสิงคโปร์และญี่ปุ่นเช่นกัน

 

โดยในเดือนมิ.ย.มีรายงานจากสื่อท้องถิ่นของสิงคโปร์ระบุการตรวจพบ ผู้มีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) เป็นชาย 4 คนที่เพิ่งเข้ารับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่สอง โดยชายเหล่านี้มีอายุระหว่าง 18-30 ปี และเริ่มมีอาการหลังเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มที่สองได้ 2-3 วัน

 

“ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่มากนัก และสามารถรักษาหายได้ ไม่มีผลกระทบระยะยาว แต่ก็มีความเป็นไปได้ซึ่งน้อยมากๆ ที่อาการจะพัฒนารุนแรงจนสร้างความเสียหายให้กับกล้ามเนื้อหัวใจ” แถลงการณ์ของคณะผู้เชี่ยวชาญ สธ.สิงคโปร์ระบุ ทั้งยังเชิญชวนให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนต่อไปเนื่องจากมีประโยชน์ที่จะได้รับมากกว่าความเสี่ยง โดยระบุยืนยันว่า วัคซีนป้องกันโควิดทำให้อัตราการติดเชื้อลดลง และแม้หากติดเชื้อโควิดแล้ว วัคซีนก็ยังจะช่วยให้ความรุนแรงของอาการลดลงได้

 

อย่างไรก็ตาม ต่อมาในเดือนส.ค. มีข่าวกระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ต้องจ่ายเงินเยียวยากว่า 225,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (165,000 ดอลลาร์สหรัฐ) หรือคิดเป็นเงินไทยราว ๆ 5.5 ล้านบาท ให้แก่ผู้ป่วยคนหนึ่งเป็นเด็กวัยรุ่นชายอายุ 16 ปี ซึ่งต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยอาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน หลังได้รับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 เข็มแรก ของบริษัทไฟเซอร์-บิออนเทค  ข่าวระบุว่า เงินช่วยเหลือเยียวยาครั้งนี้ เป็นเงื่อนไขภายใต้โครงการความช่วยเหลือทางการเงินจากอาการเจ็บป่วยหลังการฉีดวัคซีน (VIFAP) ที่จัดตั้งโดยรัฐบาลสิงคโปร์ (อ่านเพิ่มเติม: วัยรุ่นสิงคโปร์หัวใจวายเฉียบพลันหลังฉีด"ไฟเซอร์" รัฐบาลควัก 5 ล้านเยียวยา)

 

สำหรับกรณีผู้ป่วยในประเทศญี่ปุ่น สำนักข่าว NHK รายงานอ้างอิงแถลงการณ์ของกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นเมื่อเดือนมิ.ย. ระบุการตรวจพบคนญี่ปุ่นมีอาการ “กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ” และ “เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ” จำนวน 7 คน หลังจากที่บุคคลเหล่านี้เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์โดสที่ 2

 

โดยรายงานระบุว่า ทั้ง 7 คนมีอายุระหว่าง 20-69 ปี เป็นชาย 6 คนหญิง 1 คน อย่างไรก็ตามทุกคนมีอาการไม่รุนแรงนักและไม่น่าวิตก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นกล่าวว่า จะติดตามเก็บข้อมูลเกี่ยวกับผลข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนต่อไปทั้งที่เกิดขึ้นในประเทศและต่างประเทศ

 

ขณะที่ในสหภาพยุโรป (อียู) เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยสำนักงานยาแห่งยุโรป หรือ EMA ได้กำหนดให้เพิ่มคำเตือนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์วัคซีนต้านโควิด-19 ว่า กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เป็นหนึ่งในผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้จากวัคซีน mRNA แต่พบได้น้อยมาก และยืนยันว่าประโยชน์ของการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด มีมากกว่าความเสี่ยง