เตือน"นายจ้าง"เร่งดำเนินการตรวจสอบสถานะลูกจ้าง"แรงงานต่างด้าว"ให้ถูกต้อง

22 ส.ค. 2564 | 12:04 น.

กระทรวงแรงงานเตือนนายจ้าง รีบตรวจสอบวางแผนดำเนินการ การยื่นขออยู่ในราชอาณาจักร การขออนุญาตทำงาน และข้อกำหนดอื่น ๆ ของแรงงานต่างด้าวในความดูแล ให้ถูกต้องตามกฎหมายภายในเวลาที่กำหนด เพื่อให้อยู่ทำงานได้อย่างถูกต้อง

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงแรงงาน 4 ฉบับ พร้อมกับประกาศกระทรวงมหาดไทย 4 ฉบับ ที่มีผลบังคับใช้ทันที โดยประกาศดังกล่าวกล่าวถึงแนวทางการดำเนินการของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ กลุ่มมติครม.วันที่ 20 ส.ค. 2562 กลุ่มมติครม.วันที่ 4 ส.ค. 2563 กลุ่มมติครม.วันที่ 10 พ.ย. 2563 และกลุ่มที่ใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวสิ้นสุดลงโดยผลของกฎหมาย เพื่อให้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดให้แล้วเสร็จ รวมทั้งขยายระยะเวลาการหานายจ้างรายใหม่ของแรงงานต่างด้าวจาก 30 วัน เป็น 60 วัน
    

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน บัญชาให้กระทรวงแรงงานบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว โดยคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจ สังคมโดยรวมของประเทศ และความสำคัญของกำลังแรงงาน อันเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการฟื้นฟูประเทศ ทั้งภาวการณ์ปัจจุบันและภายหลังหากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย โดยนายจ้าง/สถานประกอบการและแรงงานต่างด้าวเอง จำต้องรู้บทบาท หน้าที่ และขั้นตอนปฏิบัติที่ต้องดำเนินการ 
    

เพื่อให้คนต่างด้าวได้อยู่ในราชอาณาจักร และทำงานในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตลอดจนได้รับการคุ้มครองตามสิทธิต่าง ๆ ที่พึงมี ซึ่งประกอบด้วยการยื่นขอใบอนุญาตทำงาน การตรวจและทำประกันสุขภาพ และการขออยู่ในราชอาณาจักร โดยแรงงานต่างด้าวตามมติครม.เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2564 ทั้งหมดจะต้องขอใบอนุญาตทำงานก่อนใบอนุญาตทำงานเดิมหมดอายุ และขออยู่ในราชอาณาจักร ตรวจและทำประกันสุขภาพ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว 
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ขอให้นายจ้าง/สถานประกอบการ บริหารจัดการเวลาในการดำเนินการในขั้นตอนต่าง ๆ ให้ดี และติดตามข่าวสารจากรมการจัดหางานอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งนอกจากทำให้ใช้แรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมายไม่ต้องหลบซ่อนแล้ว ยังทำให้แรงงานต่างด้าวในความดูแลได้รับการดูแลตามกฎหมาย และการรักษาพยาบาลตามสิทธิที่พึงมี โดยขอสรุปขั้นตอนการดำเนินการ ระยะเวลา และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงาน โดยแยกตามกลุ่มมติต่างๆ ดังนี้
    

1.กลุ่มคนต่างด้าวตามมติครม.เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2562 
    ขออนุญาตทำงานก่อนใบอนุญาตทำงานเดิมหมดอายุ ภายใน 30 ก.ย. 2564 หรือ 31 มี.ค. 2565 แล้วแต่กรณีของระยะเวลาการอนุญาตทำงานเดิม และขอตรวจอนุญาตอยู่ในราชอาณาจักร รวมทั้งขอหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางฉบับใหม่กรณีเอกสารเดิมหมดอายุ ภายใน 1 ส.ค. 2565 เพื่อได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานในประเทศไทย ไม่เกินวันที่ 13 ก.พ. 2566
    

- กรณีใบอนุญาตทำงานหมดอายุ วันที่ 30 ก.ย. 2564 ชำระค่าธรรมเนียมยื่นคำขอ 100 บาท ใบอนุญาตทำงาน 1,350 บาท รวม 1,450 บาท
    

- กรณีใบอนุญาตทำงานหมดอายุ วันที่ 31 มี.ค. 2565 ชำระค่าธรรมเนียมยื่นคำขอ 100 บาท ใบอนุญาตทำงาน 900 บาท รวม 1,000 บาท

2. กลุ่มคนต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ส.ค.     2563 
  

- คนต่างด้าวที่ถือบัตรชมพู ที่ใบอนุญาตทำงานด้านหลังบัตรหมดอายุวันที่ 31 มี.ค. 2565 หากประสงค์ทำงานต่อไป ต้องยื่นคำขออนุญาตทำงานก่อนใบอนุญาตทำงานสิ้นอายุ พร้อมชำระค่าธรรมเนียมยื่นคำขอ 100 บาท ใบอนุญาตทำงาน 900 บาท รวม 1,000 บาท และขอตรวจอนุญาตอยู่ในราชอาณาจักร ภายใน 1 ส.ค. 2565
    

- คนต่างด้าวที่ถือใบรับคำขอ (บต.23) ต้องตรวจและทำประกันสุขภาพ จัดทำหรือปรับปรุงทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยให้แล้วเสร็จจนได้บัตรชมพู ภายในวันที่ 31 มี.ค. 2565 หากประสงค์จะทำงานต่อไปให้ดำเนินการเช่นเดียวกับคนต่างด้าวที่ถือบัตรชมพู ที่ใบอนุญาตทำงานด้านหลังบัตรหมดอายุวันที่ 31 มี.ค. 2565      รวมทั้งขอหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางฉบับใหม่กรณีเอกสารเดิมหมดอายุ ภายใน 1 ส.ค. 2565 เพื่อได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานในประเทศไทย ไม่เกินวันที่ 13 ก.พ. 2566
    
 3. กลุ่มคนต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2563 
    ขออนุญาตทำงานก่อนใบอนุญาตทำงานเดิมหมดอายุ หรือภายในระยะเวลาที่กำหนด พร้อมชำระค่าธรรมเนียมยื่นคำขอ 100 บาท ใบอนุญาตทำงาน 1,800 บาท รวม 1,900 บาท ตรวจและทำประกันสุขภาพ ขอตรวจอนุญาตอยู่ในราชอาณาจักร รวมทั้งขอหนังสือเดินทางใหม่กรณีเอกสารเดิมหมดอายุ ภายใน 1 ส.ค. 2565 เพื่อได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี นับจากการอนุญาตทำงานเดิมสิ้นสุด
 
 4. กลุ่มคนต่างด้าวเข้ามาตาม MoU ที่วาระการจ้างงานครบ 2 ปี 
    ให้ดำเนินการตามขั้นตอนปกติ โดยครม.มีมติ ขยายเวลาดำเนินการเพิ่ม 6 เดือน นับแต่ประกาศกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้องมีผลบังคับใช้ เพื่อได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี นับจากการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุด
    
 5. กลุ่มคนต่างด้าว 3 สัญชาติที่เข้ามาทำงานตาม MoU  คนต่างด้าวตามมติครม.เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2562  และคนต่างด้าวตามมติครม.เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2563 ซึ่งใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวสิ้นสุดลงโดยผลของกฎหมาย อาทิ ไม่สามารถหานายจ้างรายใหม่ทันภายใน 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564 จนถึงวันที่ 3 ส.ค. 2564 
    

นายจ้างต้องยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว และชำระค่าธรรมเนียม ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป – 1 ธ.ค. 2564 ตรวจและทำประกันสุขภาพ ขอตรวจอนุญาตอยู่ในราชอาณาจักร รวมทั้งขอหนังสือเดินทาง หรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางฉบับใหม่ กรณีเอกสารเดิมหมดอายุ ภายใน 1 ส.ค. 2565  เพื่อได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานในประเทศไทย ไม่เกินวันที่ 13 ก.พ. 2566
    

นอกจากนี้คนต่างด้าวที่เปลี่ยนนายจ้าง เมื่อเลิกทำงานกับนายจ้างรายเดิมแล้ว ต้องทำงานกับนายจ้างใหม่ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่เลิกทำงานกับนายจ้างรายเดิม ทั้งนี้ การอนุญาตทำงานเท่าสิทธิเดิมคือวันที่ 13 ก.พ. 2566
    

“กรณีที่หนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางของคนต่างด้าวสิ้นอายุ ให้คนต่างด้าวดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกสารดังกล่าวภายในวันที่ 1 ส.ค. 2565 ในส่วนของการออกเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity : CI) ทางการเมียนมาจะออกเอกสารรับรองบุคคล (CI) ให้ โดยตั้งศูนย์บริการจำนวน 5 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดระนอง จังหวัดชลบุรี และจังหวัดเชียงใหม่ 
    

สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติลาว และกัมพูชา สามารถขอเอกสารดังกล่าวได้ที่สถานเอกอัครราชทูตตามสัญชาติของตนที่ประจำอยู่ในประเทศไทย ซึ่งจะเริ่มดำเนินการโดยเร็วเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย หรือสามารถดำเนินการได้ 
    

ในส่วนแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในกิจการที่อยู่ในระบบประกันสังคม ต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน ระหว่างเข้าสู่ระบบประกันสังคมและยังไม่เกิดสิทธิ ต้องซื้อประกันสุขภาพตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด หรือซื้อประกันสุขภาพกับบริษัทประกันภัย เป็นระยะเวลา 4 เดือน ซึ่งรวมการประกันโรคโควิด-19 โดยอัตราเบี้ยประกันขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทประกันภัย 
    

กรณีแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในกิจการที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ต้องซื้อประกันสุขภาพตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด หากเคยซื้อประกันสุขภาพแล้วไม่ต้องซื้ออีก โดยให้ใช้สำเนาบัตรประกันสุขภาพเดิม
  

สำหรับนายจ้าง/สถานประกอบการ และคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด  สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10  หรือที่ไลน์ @Service_Workpermit  และสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694 ซึ่งมีการจัดล่ามในภาษากัมพูชา เมียนมา และอังกฤษ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร และแนะนำ” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว