ล็อกดาวน์สูญ1 ล้านล้าน เอกชน-ธปท.หนุนกู้เพิ่ม ดันศก.ขึ้นจากหลุม

19 ส.ค. 2564 | 09:55 น.

เอกชน-ธปท.ประสานเสียง จี้รัฐขยายเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเป็น 65-70% รับกู้เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจเพิ่มอีก 7.5 แสนล้าน ถึง 1 ล้านล้าน ผลพวงขยายล็อกดาวน์ หากลากยาวถึง ก.ย.เศรษฐกิจเสียหายไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท

ศบค.สั่งขยายเวลาล็อกดาวน์ 29 พื้นที่สีแดงเข้มออกไปอีก 14 วันถึงวันที่ 31 ส.ค.64 หลังเชื้อโควิด-19 ยังโจมตีไม่หยุด มีผู้ติดเชื้อระดับ 2 หมื่นคนต่อวัน ซึ่งยังไม่มีใครการันตีได้ว่า หากสิ้นสุดล็อกดาวน์ในสิ้นเดือนนี้แล้วจะมีล็อกดาวน์ต่อไปอีกหรือไม่

 

จี้ขยายเพดานหนี้

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การขยายเวลาล็อกดาวน์เป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดเดาไว้ เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตไม่ได้ลดลงอย่างที่หลายฝ่ายอยากให้เกิด หอการค้าฯ เห็นด้วยที่จะต้องควบคุมการแพร่ระบาดให้ลดลงกว่านี้ให้เร็วที่สุด แต่รัฐบาลอาจต้องพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือมาเสริมทันที ไม่ว่าจะเป็นการชดเชยกลุ่มต่าง ๆ ให้ครอบคลุม ผ่อนปรนให้สำหรับบางกิจการเพื่อให้สามารถเปิดธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งการควบคุมการแพร่ระบาดต้องควบคู่กับการเดินหน้าประคองเศรษฐกิจด้วย

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

อย่างไรก็ดี การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดตั้งแต่ต้นปี จนมาถึงการประกาศล็อกดาวน์ 13 จังหวัด เพิ่มเป็น 29 จังหวัด และขยายเวลาล็อกดาวน์ จนถึง ณ ปัจจุบัน ประเมินผลกระทบสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจแล้วกว่า 8 แสนล้านบาท หากถึงสิ้นเดือนสิงหาคม คาดกระทบ ไมต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท และหากมีการต่อล็อกดาวน์ออกไปอีกจนถึงเดือนกันยายน ผลกระทบจะมากกว่า 1 ล้านล้านบาท

 

“นำเสนอว่า รัฐบาลต้องเร่งขยายเพดานหนี้สาธารณะของประเทศจากที่ไม่เกิน 60% เป็น 65% ของจีดีพีเป็นอย่างต่ำ จากปัจจุบันหนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ระดับ 58% ของจีดีพี และถ้าโควิดยังระบาดเพิ่มขึ้น ต้องทำใจ อาจต้องขยายเพดานถึง 70% ได้ในอนาคต”นายสนั่นกล่าว

นอกจากนั้น รัฐบาลควรต้องคำนึงแล้วว่า เงินกู้อีก 5 แสนล้านบาท ที่กำลังจะดึงมาใช้ในไตรมาส 4 หากจะกู้เพิ่มอีก 1.5 แสนล้านก็คงไม่พอ เพราะถ้าต้องล็อกดาวน์ไปถึงเดือนกันยายน คงต้องเตรียมกู้เพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 7.5 แสนล้านบาท เพื่อใช้เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจ

 

“ยาแรง”เร่งวัคซีน-ATK

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)กล่าวว่า ยาแรงที่จะแก้ปัญหาโควิดได้ รัฐบาลต้องเร่งจัดหาและระดมฉีดวัคซีนให้ประชาชนให้ครอบคลุมมากที่สุด รวมถึงจัดหาชุดตรวจคัดกรองโควิดเชิงรุก (Antigen Test Kit : ATK) เข้ามาในราคาที่ประชาชนและผู้ประกอบการเข้าถึงได้ไม่สูงเกินไป

สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)

จากเวลานี้ทั้งเรื่องวัคซีนหลักจากรัฐบาลคนงานและพนักงานเข้าถึงได้น้อยและช้า ทำให้ต้องสั่งจองวัคซีนทางเลือกเสียค่าใช้จ่ายเอง ทั้งเรื่องวัคซีนและเรื่อง ATK ถือเป็นภาระค่าใช้มาก สวนทางกับภาพรวมธุรกิจ และภาคการผลิตในประเทศที่ได้รับกระทบจากโควิด และเหนื่อยล้ากันไปหมด

 

 

“ยาแรงตอนนี้คือ วัคซีนที่แก้ปัญหาได้เบ็ดเสร็จ ต้องมีวัคซีนเยอะๆ ให้เข้ามาเร็ว ๆ และเปิดกว้าง ให้เอกชน นำเข้าได้อย่างสะดวก ภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐที่ต้องมี อย.รับรอง โดยต้องผ่อนคลายระเบียบกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคที่ทำให้เกิดความล่าช้าลง เพราะเวลานี้เอกชนไม่มีปัญญาซื้อวัคซีนหรือ ATK เยอะ ๆ แล้ว มันเหนื่อยกันหมดแล้ว รัฐต้องลงมาช่วย หากรัฐบาลหาวัคซีนไม่ได้ก็ให้เอกชนช่วย” นายสุพันธ์กล่าว

ล็อกดาวน์สูญ1 ล้านล้าน เอกชน-ธปท.หนุนกู้เพิ่ม ดันศก.ขึ้นจากหลุม

คงจีดีพีปีนี้โต 0%

ส่วนกรณีที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)ปรับลดคาดการณ์จีดีพีปีนี้เหลือ 0.7-1.2% (ค่ากลาง 1%) บนสมมุติฐานคุมโควิดได้ในไตรมาสที่ 3 และเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ในไตรมาสที่ 4 ในส่วนของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ยังคงคาดการณ์จีดีพีปีนี้ไว้ที่ -1.5 ถึง 0% (ณ ส.ค.64) ซึ่งตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2 ของไทยขยายตัว 7.5% ผลจากจีดีพีช่วงเดียวกันของปีที่แล้วติดลบมากจากผลกระทบโควิด แต่คาดไตรมาส 3-4 ปีนี้จะยังติดลบ ส่วนการส่งออกของไทยปีนี้น่าจะขยายตัวได้ 10-12% ภายใต้สมมุติฐานคุมโควิดอยู่ ไม่ระบาดในโรงงานจนกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน)

 

ธปท.แนะกู้อีก 1 ล้านล้าน

ด้านนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) ยังออกมาระบุว่า เม็ดเงินที่รัฐบาลใช้ในการอัดฉีดเพื่อเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ปัจจุบันไม่เพียงพอต่อรายได้ที่หายไป 2.5 ล้านล้านบาทได้ ดังนั้นแนวทางที่รัฐควรจะเร่งดำเนินการคือ กู้เงินอีก 1 ล้านล้านบาทหรือประมาณ 7% ของจีดีพี เพื่อมาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจก่อนที่จะดำดิ่งลงมากจนเกินที่จะแก้ไข แม้ว่า จะทำให้ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีทะลุระดับเพดานไปที่ 70% ในปี 2567 แต่ระดับฐานะการคลังของไทยยังแข็งแกร่งรองรับได้

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.)

 

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ttb analytics ธนาคาร ทีเอ็มบีธนชาตหรือ ทีทีบีกล่าวว่า ในแง่การกู้เงินเพิ่มเติม เพื่อประคองเศรษฐกิจนั้นมองว่า สมเหตุสมผล และไม่ต้องกังวลภาระการคลัง ซึ่งไม่สูงมาก เพราะต่างประเทศกู้ค่อนข้างมาก และทำแพ็กเกจสูงกว่าไทยด้วยซ้ำ ดังนั้น การกู้เพื่อประคับประคองประชาชนและเอสเอ็มอีเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งประเด็นที่เป็นห่วงมากคือ การส่งออกจะได้ผลรับกระทบ ซึ่งบางประเทศ มีการชะลอการนำเข้าลง เช่น จีน ถ้าเป็นสัญญาณชะลอต่อเนื่องจะทำให้ภาคส่งออกไทย ซึ่งเป็นเครื่องยนต์เดียวชะลอลงได้ และจะเหนื่อยมากขึ้น

นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ttb analytics ธนาคาร ทีเอ็มบีธนชาต

 

ลุ้นต.ค.เหตุการณ์คลี่คลาย

 นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) หรือ BAY  กล่าวว่า วิจัยกรุงศรีปรับประมาณการติดเชื้อล่าสุด ( 15 ส.ค 64) จากสมมติฐานที่ผลของการล็อกดาวน์และวัคซีนมีประสิทธิภาพต่อการป้องกันการแพร่ระบาดที่ลดลง ผลการประมาณการพบว่า ระดับสูงสุดของการติดเชื้อต่อวันในกรณีฐาน (base case) ถูกเลื่อนออกไปเป็นช่วงต้นกันยายน โดยจะมีผู้ติดเชื้อรายวันประมาณ 26,000 ราย และจะมีการปรับตัวลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปช้ากว่าที่เคยคาดไว้คราวก่อน  ส่งผลให้ การควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบเข้มงวดอาจยังคงมีต่อไปจนกว่าจะพ้นกลางเดือนตุลาคมที่อัตราการเสียชีวิตเริ่มจะลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ

สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน)