คืบหน้าสัมมนา#2สรุปแนวเส้นทางรถไฟสายใหม่"นครสวรรค์-แม่สอด"

12 ส.ค. 2564 | 11:21 น.

    ตากร่วมประชุมออนไลน์ สัมนาครั้งที่ 2 เพื่อสรุปแนวทางเส้นทางและรูปแบบทางรถไฟสายใหม่ ในงานสำรวจ ออกแบบรายละเอียด และจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อเตรียมการก่อสร้างทางรถไฟสายแม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ หนุนแผนระเบียงศก.ตะวันตก-ตะวันออก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2564 นี้ นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เป็นประธานเปิดการประชุมสัมนาเพื่อสรุปแนวทางเส้นทางและรูปแบบของโครงการ (สัมนาครั้งที่ 2) งานสำรวจ ออกแบบรายละเอียด และจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อเตรียมการก่อสร้างทางรถไฟสายแม่สอด-ตาก-กำแพง-นครสวรรค์ โดยมีผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)  หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สื่อมวลชน และประชาชนชาวจังหวัดตาก เข้าร่วมการประชุมระบบ Zoom video conference       
  นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก    

สำหรับการศึกษาโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายนครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก-แม่สอด เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางราง ที่กระทรวงคมนาคม ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการขนส่งสินค้า ผู้โดยสาร และเพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของประเทศ
    

การพัฒนาระบบรถไฟสามารถลดระยะเวลาและประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงที่ใช้ในภาคการขนส่งของประเทศ ลดปัญหามลพิษที่มีต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มประสิทธิภาพของการขนส่งสาธารณะ ทั้งพื้นที่ชนบท เมือง และระหว่างประเทศ และจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้บริการทางรางให้มากยิ่งขึ้น เพื่อลดจำนวนอุบัติเหตุทางถนน และนอกจากจะให้ความสำคัญกับการขนส่งผู้โดยสารแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการบริการขนส่งสินค้า รวมทั้งเพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยวตามแหล่งสถานที่ที่สำคัญในเขตภาคเหนือ และเพิ่มประสิทธิภาพของโครงข่ายการขนส่งทางรถไฟ 
     แนวเส้นทางรถไฟสายใหม่นครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก-แม่สอด ที่อยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียด

คืบหน้าสัมมนา#2สรุปแนวเส้นทางรถไฟสายใหม่"นครสวรรค์-แม่สอด"

โดยโครงการดังกล่าว มีแนวเส้นทางรถไฟ สายนครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก-แม่สอด มีสถานีทั้งหมด 27 สถานี ระยะทางรวม 250.87 กิโลเมตร จุดเริ่มต้นของโครงการอยู่ที่สถานีปากน้ำโพ และสิ้นสุดที่สถานีด่านแม่สอด แบ่งออกเป็น 2 ตอนคือ ช่วงที่ 1 นครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก มีสถานีทั้งหมด 22 สถานี มีย่านการค้า 3 แห่ง ได้แก่ สถานีเจริญผล สถานีหนองปลิง และสถานีหนองบัวใต้ ระยะทาง 181 กิโลเมตร 
    

และช่วงที่ 2 ตาก-แม่สอด มีสถานีทั้งหมด 5 สถานี มีย่านการค้า 1 แห่ง ที่สถานีด่านแม่สอดและมีศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง ระยะทาง 69.87 กิโลเมตร  
  

สำหรับแนวเส้นทางรถไฟมีโครงสร้างอุโมงค์ 4 แห่ง ประกอบด้วย อุโมงค์แห่งที่ 1 อุโมงค์ ดอยรวก มีระยะทางความยาวอุโมงค์ 15.5 กิโลเมตร

 อุโมงค์แห่งที่ 2 อุโมงค์ด่านแม่ละเมา มีระยะทางความยาวอุโมงค์ 1.42 กิโลเมตร

 อุโมงค์แห่งที่ 3 มีระยะทางความยาวอุโมงค์ 0.765 กิโลเมตร และ

อุโมงค์แห่งที่ 4 อุโมงค์ดอยพะวอ มีระยะทางความยาวอุโมงค์ 12 กิโลเมตร  มีระยะทางอุโมงค์รวมประมาณ 29.6 กิโลเมตร 
    

โครงสร้างทางรถไฟระดับพื้น ระยะทางประมาณ 195.3 กิโลเมตร และเป็นโครงสร้างทางยกระดับ ระยะทางประมาณ 26 กิโลเมตร มีสะพานข้ามแม่น้ำสำคัญ 2 แห่ง คือ แม่น้ำน่าน ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ บริเวณสถานีปากน้ำโพ และแม่น้ำปิงในพื้นที่จังหวัดตาก บริเวณตำบลหนองบัวใต้ กม. 172.8  
บรรยากาศขณะสัมมนาระบบออนไลน์ฟังความเห็นการศึกษาออกแบบโครงการทางรถไฟสายใหม่นครสรรค์-แม่สอด   

  คืบหน้าสัมมนา#2สรุปแนวเส้นทางรถไฟสายใหม่"นครสวรรค์-แม่สอด"

ทั้งนี้ การสัมมนาในวันนี้ ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้คาดหวังว่า กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ศึกษาจะได้รับทราบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผลการศึกษา สำรวจ แนวเส้นทางโครงการ และรูปแบบเบื้องต้นของโครงการ รวมถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลข้อเสนอแนะ เพื่อนำมาประกอบการดำเนินการออกแบบรายละเอียดในขั้นตอนต่อไป อีกด้วย 
    รายงานข่าวแจ้งว่า ชายแดนไทย-เมียนมา อ.แม่สอด จ.ตาก ถือว่าเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญ  ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก (แม่สอด-แม่ระมาด-พบพระ)  เป็นประตูการค้าผ่านเข้าเมียนมา มุ่งสู่อินเดีย ,ตะวันออกกลาง-ยุโรป ซึ่งมีมูลค่าหลายแสนล้านบาทในแต่ละปี

ด้วยปัจจัยบวกทางความสัมพันธ์ระหว่างท้องถิ่น บ้านพี่ มืองน้อง กับเมียนมา (แม่สอด-เมียวดี) Sister City ตามนโยบายรัฐบาลนับแต่ปี 2558 รวมทั้งทางด้านวัฒนธรรม กลุ่มชาติพันธุ์ ,ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ศาสนา ที่ใกล้เคียงกัน  อ.แม่สอดจึงเป็นเมืองสำคัญ บนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจสายตะวันออก-ตะวันตก หรือ EWEC (East-West Economic Corridor)  ประตู AEC ที่ชายแดนไทย-เมียนมา

 

ประกอบกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบาย  ตั้งแต่ต้นปี 2558  ได้เร่งดำเนินการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษใน 10 พื้นที่ชายแดนเป้าหมาย  โดยเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก กำหนดให้ดำเนินการในพื้นที่อ.แม่สอด พบพระ และแม่ระมาด