จีนปักหมุดไทยตั้ง"ศูนย์วิจัยยานยนต์"แห่งที่ 4 ของโลก

06 ธ.ค. 2566 | 05:57 น.

จีนปักหมุดไทยตั้ง"ศูนย์วิจัยยานยนต์"แห่งที่ 4 ของโลก ระบุถือเป็นจุดเริ่มต้นความร่วมมือในการนำศักยภาพด้านการพัฒนานโยบาย การกำหนดมาตรฐาน และการรับรอง รับการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ของภูมิภาคอาเซียน

ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังร่วมเปิดศูนย์วิจัยเทคโนโลยียานยนต์จีน หรือ China Automotive Technology and Research Center (CATARC) สำนักงานสาขาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำประเทศไทย ว่า การจัดตั้งศูนย์วิจัยเทคโนโลยียานยนต์จีน หรือ CATARC ในไทย ถือเป็นจุดเริ่มต้นความร่วมมือในการนำศักยภาพด้านการพัฒนานโยบาย การกำหนดมาตรฐาน และการรับรอง 

รวมทั้งเครือข่ายอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ของจีนมาเชื่อมโยงในการพัฒนาอุตสาหกรรม และโครงสร้างพื้นฐานยานยนต์ของประเทศไทย เพื่อรองรับการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ของภูมิภาคอาเซียน และฐานการผลิตที่สำคัญของโลกของไทย

ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์ระดับแนวหน้าของประเทศจีนหลายค่ายได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) ซึ่งสามารถทำยอดขายได้จำนวนมาก ผู้บริโภคไทยให้การตอบรับ โดยแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่สามารถแข่งขันได้ในอา

สำหรับศูนย์วิจัยเทคโนโลยียานยนต์จีน สำนักงานสาขาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้จัดตั้งขึ้นในประเทศไทย เป็นสาขาลำดับที่ 4 ต่อจากเยอรมนี สวิสเซอร์แลนด์ และญี่ปุ่น โดยแสดงถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย 

จีนปักหมุดไทยตั้ง"ศูนย์วิจัยยานยนต์"แห่งที่ 4 ของโลก

อย่างไรก็ดี การเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้าของไทย เกิดจากการสนับสนุนจากรัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรมที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไปพร้อมกับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องยนต์สันดาป (ICE) 

โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ผ่านคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) โดยให้ความสำคัญกับการวางรากฐานของการวิจัยและพัฒนายานยนต์และชิ้นส่วนในประเทศ รวมทั้งการกำหนดมาตรฐาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่น เพราะหน่วยงานกำหนดมาตรฐาน และหน่วยงานทดสอบและรับรอง ถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

ดร.ณัฐพล กล่าวอีกว่า ปี 67 ไทยจะชูมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ หรือ มาตรการ EV3.5 ต่อเนื่องจากปี 2565-66 ที่ชูมาตรการ EV3.0 จนมีผู้ประกอบการเข้าร่วม 10 แบรนด์ มียอดจองรถยนต์ BEV ไปแล้วกว่า 50,000 คัน 

นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งการกำหนดมาตรฐานสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าไปแล้วกว่า 150 มาตรฐาน พร้อมให้บริการทดสอบและรับรองมาตรฐานของศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรและเตรียมความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า และยานยนต์สมัยใหม่ ส่งผลให้ในไตรมาสแรกของปี 2566 ประเทศไทยมีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า คิดเป็น 78% ของปริมาณการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในอาเซียน

และในปี 2565 ประเทศไทยมีการผลิตยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า หรือ xEV เป็นอันดับ 1 ของอาเซียนประมาณ 72,000 คัน แสดงให้เห็นถึงกระแสการตอบรับของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ และความพร้อมที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์สมัยใหม่