"EV"ไทยเนื้อหอม BOI เผยต่างชาติสนใจลงทุน หลังตลาดโตเพิ่มขึ้น 7 เท่า

13 พ.ย. 2566 | 03:11 น.

"EV"ไทยเนื้อหอม BOI เผยต่างชาติสนใจลงทุน หลังตลาดโตเพิ่มขึ้น 7 เท่า ระบุเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในภูมิภาค ขณะที่บอร์ดอีวีเดินหน้าอนุมัติมาตรการ EV 3.5 ต่อเนื่องสร้างความมั่นใจนักลงทุน

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) เปิดเผยถึงกิจกรรมที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกา โดยระบุว่ามี 2 ส่วน ประกอบด้วย นายกฯ จะพบปะผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเป้าหมายในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล และยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV)

และนำผู้ประกอบการไทยประมาณ 20 คน ที่ร่วมเดินทางมาด้วย โดยมีกิจกรรมให้ผู้ประกอบการไทยพบกับบริษัทชั้นนำของสหรัฐฯ เพื่อสร้างศักยภาพความร่วมมือในอนาคต มีกิจกรรมพาภาคธุรกิจไทยเยี่ยมชมภาคธุรกิจสหรัฐฯ โดยจัดกิจกรรมเชิญบริษัทของสหรัฐฯ กว่า 80 บริษัท มาพบปะพูดคุยกัน เช่น การพบปะของบริษัท 3 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมอีวี เช่น Tesla ต่อยอดจากที่เคยพบปะกันที่นิวยอร์ก โดยจะมาพูดคุยให้ลึกขึ้นและติดตามผล เนื่องจากไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอีวีในภูมิภาค โดยช่วงที่ผ่านมามีบริษัทรายใหม่หลายรายเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เข้ามาตั้งฐานการผลิตส่งออกไปยังประเทศต่างๆ

นายนฤตม์ กล่าวอีกว่า ตลาดอีวีในเมืองไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มียอดจดทะเบียนรถอีวีมากกว่า 6,000 คัน เพิ่มขึ้น 7 เท่า เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในภูมิภาค เป็นสิ่งที่ทำให้ตลาดไทยเป็นที่ดึงดูดของค่ายรถยนต์อีวี ที่ต้องการเข้ามาเปิดตลาดลงทุนในประเทศไทย 

นอกจากนี้ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ที่นายกฯ เป็นประธาน ยังเห็นชอบมาตรการต่อเนื่องจากอีวี 3 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทย ที่ต้องการให้ไทยเป็นผู้นำของภูมิภาคในการเป็นฐานผลิตอีวีและเป็นท็อปเท็นของโลก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ไทยสามารถสร้างความมั่นใจ ดึงนักลงทุนให้มาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นได้

อย่างไรก็ดี นายกฯ จะพบปะกับบริษัทเอกชนต่างๆ ทั้งด้านดิจิทัลจะพบกับบริษัทสำคัญ เช่น บริษัท AWS บริษัท Google และบริษัท ไมโครซอฟต์ โดยบริษัทแอมะซอนที่ประกาศร่วมลงทุนในไทยในต้นปีหน้า โดยลงทุนไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 200,000 ล้านบาท ระยะแรกลงทุนสร้าง data center 3 แห่ง เฟสแรกประมาณ 20,000 ล้านบาท 

ซึ่งจะเห็นว่าบริษัทต้องการร่วมทุนรัฐบาลไทยที่สนับสนุน ส่วนบริษัท Google และบริษัทไมโครซอฟต์ เป็นบริษัทที่นายกฯ ได้พบที่นิวยอร์ก และทำงานกันต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้เป็นรูปธรรม และพยายามดึงดูดให้บริษัทเหล่านี้เข้ามาตั้งฐาน data center และคลาวด์ เซอร์วิสในไทย รวมถึงมาช่วยยกระดับเรื่องดิจิทัลอินฟอร์เมชัน และการพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัล ซึ่งย้ำว่าไทยจะพยายามอย่างเต็มที่ ที่จะดึงบริษัทเหล่านี้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยให้ได้

ส่วนกลุ่มด้านอิเล็กทรอนิกส์ นายกฯ จะพบบริษัท ADI บริษัท HP ซึ่งบริษัทดังกล่าวเหล่านี้มีความสนใจในประเทศไทย เพราะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้ายุทธศาสตร์ที่ประเทศทั่วโลกต้องการดึงให้ไปผลิตที่ประเทศตัวเอง โดยเฉพาะสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งที่ผ่านมาไทยเป็นการผลิตกลางน้ำ 

รัฐบาลจึงมีเป้าหมายชัดเจนที่ต้องการมุ่งยกระดับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มุ่งไปสู่ต้นน้ำมากขึ้น ด้วยการส่งเสริมโรงงานผลิต การออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งนายกฯ จะได้พบปะพูดคุยและเชิญชวนให้ขยายฐานการผลิตในไทย 

สำหรับจุดแข็งของไทยที่ทำให้บริษัทเหล่านี้สนใจนั้น เนื่องจากไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อมมากที่สุดในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า นิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือ สนามบินที่มีคุณภาพ และซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีผู้ผลิตชิ้นส่วนกว่า 2,000 ราย ที่มีทักษะสูง มีประสบการณ์ทำงานกับบริษัทระดับโลกมาหลาย 10 ปี และพร้อมมาอยู่ในซัพพลายของฐานการผลิตใหม่ๆ ความต้องการพลังงานสะอาด ความเป็นกลางทางคาร์บอน ไทยสามารถทำให้มั่นใจว่ามีพลังงานสะอาด สามารถป้อนให้กับกำลังการผลิต ซึ่งเป็นจุดแข็งสำคัญที่ดึงดูดให้เข้าไปตั้งฐานการผลิตในไทย

ขณะที่ปัญหาค่าแรงของไทย ไม่ส่งผลกระทบหรือความกังวลแก่บริษัทเหล่านี้ เพราะเน้นใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและนวัตกรรม จึงไม่มีผลต่อการตัดสินใจ เรื่องค่าแรงจึงไม่เป็นปัจจัยสำคัญ แต่เรื่องขีดความสามารถขั้นสูงเป็นปัจจัยสำคัญ ไทยจึงเตรียมผลิตบุคลากรที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาโปรแกรมต่างๆ การสร้างแพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลางในการจับคู่ความต้องการ 

และอีกส่วนคือการเปิดช่องให้มีการนำเข้าบุคลากรหลายสาขาจากต่างประเทศ เพื่อมาพัฒนาอุตสาหกรรมให้เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีไทยเป็นศูนย์กลาง เช่น การมีวันสตอปเซอร์วิส อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จึงมีความสำคัญ และเมื่อธุรกิจเหล่านี้มีการขยายฐานการผลิต จะทำให้เกิดการจ้างงาน โดยบอร์ดบีโอไอตั้งเป้าภายใน 4 ปี จะดึงบริษัทชั้นนำไม่น้อยกว่า 100 บริษัท ไปตั้งในประเทศไทย เพื่อให้เกิดการจ้างงานที่มีคุณค่าสูงกว่า 10,000 ตำแหน่ง ปัจจุบันมีบริษัทชั้นนำที่ใช้เมืองไทยเป็นฐานมากมาย เช่น agoda ที่มีพนักงานอยู่ 3,000 คนในประเทศไทย เป็นต่างชาติ 2,000 คน และคนไทย 1,000 คน โดยมีการพัฒนาที่ประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีบริษัท บิชชิน ฮิตาชิ ก็มีฐานที่ประเทศไทย

โครงการแลนด์บริดจ์เป็นโปรเจกต์สำคัญ โดยนายกฯ ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมและบีโอไอทำงานร่วมกัน เพื่อเชิญชวนนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งโครงการแลนด์บริดจ์เป็นโครงการที่ใหญ่มาก ที่มีทั้งท่าเรือ การคมนาคมขนส่ง รวมถึงพื้นฐานอุตสาหกรรมบริเวณโดยรอบ ที่จะมารองรับกลุ่มงานอุตสาหกรรมที่มาลงในพื้นที่ตรงนี้ บีโอไอจะมีส่วนเชิญชวนให้นักลงทุน ทั้งมาลงทุนในการก่อสร้าง โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่าเรือ ถนน ระบบโลจิสติกส์ ซึ่งการออกโรดโชว์โครงการแลนด์บริดจ์ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก