นวัตกรรมรักษ์โลก ยานยนต์ไฟฟ้าไทยไปถึงไหน

07 มิ.ย. 2566 | 10:54 น.

เปิดมุมมอง กฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย "นวัตกรรมรักษ์โลก ไทยอยู่จุดไหน?" และ "Ecosystem จะสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างไร"

วันที่ 7 มิถุนายน 2566  นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวในงานสัมมนา “Innovation Keeping the World นวัตกรรมรักษ์โลก ไทยอยู่จุดไหน?” ที่จัดขึ้นโดยสปริงนิวส์ ร่วมกับเนชั่น และฐานเศรษฐกิจ โดยระบุว่า  เมื่อมองไปที่เทรนด์ของโลก สิ่งที่โลกกำลังเห็น ในเชิงของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ถ้ามองถึงยอดขายรถทั่วโลก จะเห็นว่าในปี 2017 ยอดขายรถยนต์นั่งทั่วโลก มีจำนวน 85 ล้านคัน ในจำนวนนี้ 1.21 ล้านคันเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ขณะที่ในปี 2022 ยอดขายรถยนต์นั่งมีจำนวน 63 ล้านคัน ในจำนวนนี้ 10.6 ล้านคันเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ถือเป็นครั้งแรกที่รถยนต์ไฟฟ้าขายได้มากกว่า 10 ล้านคัน
 


สำหรับแนวโน้มดังกล่าวทำให้มีการคาดการณ์กันว่ารถยนต์ไฟฟ้าในปี 2023 จะมีจำนวนยอดขาย 14 ล้านคัน และประเทศที่มีรถยนต์ไฟฟ้ามากที่สุดคือ จีน ถือเป็นมหาอำนาจยานยนต์ไฟฟ้า  อันนี้ถือเป็นเทรนด์ที่เปลี่ยนไป ตรงจุดนี้จะได้เห็นว่าเทรนด์เริ่มเปลี่ยนไป ซึ่งการเติบโตดังกล่าวอาจจะมาจากการสนับสนุนจากภาครัฐ หรือ เทคโนโลยีที่ดีขึ้น ทำให้ผู้ใช้เริ่มปรับมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น และแนวโน้ม รถยนต์ไอซีอี ICE  เริ่มลดลง 

ยอดขายรถยนต์นั่งไฟฟ้าทั่วโลก

ส่วนประเทศไทย อัตราการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้า จะเห็นได้ว่าเติบโตต่อเนื่อง ในปี 2022 มียอดจดทะเบียนรวม 20,816 คัน  (รถยนต์ไฟฟ้า 9,678  คัน ส่วนมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า  9,912 คัน )โดยตัวเลขที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการที่ภาครัฐฯมีนโยบายสนับสนุนด้วยการมอบส่วนลด 1.5 แสนบาท ส่วนลดภาษีสรรพสามิต ทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าถูกลง 

 

เช่นเดียวกับรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ก็มีอัตราการเติบโตสูง โดยเฉพาะในกลุ่มเดลิเวอรี่ แกร็บไรเดอร์ วินมอเตอร์ไซค์ มีการปรับเปลี่ยนมาใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแทนเพราะประหยัดกว่ารถน้ำมัน และไม่ต้องรอชาร์จแบต เพราะสามารถสวอปแบตได้ ส่วนอีกหนึ่งเซกเมนต์ที่เติบโตสูงคือ รถบัส รถเมล์ สมายบัส โดยปีที่แล้วมียอดจดทะเบียน 976 คัน คาดว่าในปีนี้ค่าย EA จะขยายเท่าตัว

 

จากแนวโน้มดังกล่าว สิ่งที่สมาคมฯอยากผลักดันคือ รถยนต์ไฟฟ้าที่เป็น Public Transportation ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ รถแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์วิน ตรงนี้น่าจะเป็นโครงการที่นำร่องได้ เพราะจะช่วยสนับสนุนซัพพลายเซนได้ดี 

ยอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าในไทย

ขณะที่ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยไตรมาสแรก มีกว่า 14,777 คัน เติบโตกว่าปีที่ผ่านมา และรถทั้งหมดนำเข้ามา ซึ่งในปี 2024 จะได้เห็นการผลิตและประกอบรถยนต์ไฟฟ้าในไทย ตามที่ค่ายรถต่างๆได้เซ็น MOU กับภาครัฐเอาไว้ โดยนำเข้ามากี่คันจะต้องผลิตทดแทนในจำนวนที่นำเข้ามา

 

นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย

นาย กฤษฎา  กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยว่า แม้ไทยจะเป็นผู้ผลิตรถยนต์อันดับที่ 11 ของโลก แต่ไทยมีหน้าที่รับจ้างผลิต ไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยี ไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับอินโนเวชันเกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ อย่างไรก็ตามถ้ามองในเชิงรถยนต์ไฟฟ้า มีความเป็นไปได้ ที่ไทยอาจจะเปลี่ยนแปลงพัฒนาระบบต่างๆให้สอดคล้อง เพราะคำว่า Future Mobility ไม่ได้หมายถึงระบบเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเดียว แต่หมายถึง A -C - E- S กล่าวคือ 

  • A -Autonomous หมายถึง ระบบออโตโนมัส ระบบขับเคลื่อนด้วยตัวเอง
  • C - Connected หมายถึง การเชื่อมต่อของตัวรถ 
  • E -Electric หมายถึง อิเลคทริค
  • S -Shared  หมายถึง แชริ่ง เซอร์วิสต่างๆ อาทิ คาร์แชริ่งต่างๆ ,พาร์ค แชริ่ง ,ไรด์ แชริ่ง

 

"A -C - E- S ที่กล่าวถึง ล้วนเป็นเทคโนโลยีที่มี room for opportunities ในธุรกิจที่จะเกิดขึ้นได้ ยกตัวอย่าง S -Shared ที่เราได้เห็นคาร์แชริ่งอย่าง ฮอปคาร์ หรือ กลุ่มโออาร์ ที่ไม่ต้องเป็นเจ้าของรถ ก็สามารถใช้แอปสตาร์ทรถ ใช้รถเฉพาะวันที่ต้องการใช้ได้ เหล่านี้ล้วนเป็นเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับระบบออโตโนมัสที่จะมีบทบาทมากขึ้นในอนาคต ถือเป็นสิ่งที่น่าสนับสนุนให้มีมากขึ้น และอีกอันที่อยากให้สนับสนุนคือ Charging Station ซึ่งอันนี้จริงๆก็เป็น room for opportunities เช่นเดียวกัน โดยอนาคตเราอาจจะได้เห็นที่ชาร์จที่เร็วขึ้น สะดวกมากขึ้น"

 

นายกฤษฎา  กล่าวว่า อยากให้สนับสนุน Charging Station  เพราะถ้าจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าในปีนี้ไปถึง 50,000 -60,000 คัน สิ่งที่สำคัญคืออินฟาสตรัทเจอร์ หรือ โครงสร้างพื้นฐานต้องเติบโตตามด้วย โดยเฉพาะ Charging Station ต้องสามารถที่จะรองรับความต้องการของผู้ใช้งานได้ 

สถานีอัดประจุไฟฟ้าในไทย


Ecosystem จะสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างไรให้เติบโตมากกว่านี้  


นายกฤษฎา  กล่าวว่า ประเทศไทยมีเป้าหมายในการขยับเข้าไปสู่ Carbon neutrality Targetหรือ ความเป็นกลางทางคาร์บอน และในภาคการขนส่งก็เป็นอีกมิติหนึ่ง เพราะฉะนั้นทางคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ จึงได้ตั้งเป้าไว้ตั้งแต่ปี 2021 ทั้งการใช้และการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ZEV หรือ Zero Emission Vehicle (รถยนต์ไฟฟ้า 100%  และ รถยนต์พลังงานไฮโดรเจน ไม่นับรวมรถยนต์สันดาปและรถปลั๊กอิน- ไฮบริด ,รถไฮบริด)โดยในปี 2025 จะมียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นรถยนต์นั่ง - รถกระบะไฟฟ้า ในสัดส่วน 30 % หรือประมาณ 200,000 คัน หลังจากนั้นในปี 2030 จะมียอด 400,000 คัน และในปี 2035 จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ZEV ทั้งหมด 

 

ส่วนในเชิงการผลิต สิ่งที่จะได้เห็นคือการรีไซเคิล รถยนต์ต้องรีไซเคิลได้ ยกตัวอย่างค่ายบีเอ็มดับเบิลยู มีคอนเซปต์ VISION VEHICLE ที่รีไซเคิลได้ 100 %  ตรงนี้เป็นเชิงของแนวคิด และในอนาคตจะได้เห็นวัสดุที่สามารถรีไซเคิลเพิ่มมากขึ้น น่าจะเป็นแนวของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ

เป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในไทย