“พันธุ์อาจ” แนะนวัตกรรมรักษ์โลกเกิด ต้องดันกฎหมายหนุนแซนด์บ็อกซ์

07 มิ.ย. 2566 | 09:09 น.

ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ระบุในเวที นวัตกรรมรักษ์โลก ไทยอยู่จุดไหน แนะนวัตกรรมจะเกิดขึ้นได้ ต้องดันกฎหมายให้เอื้อต่อภาคธุรกิจทำแซนด์บ็อกซ์ ทดสอบและทดลองนวัตกรรม

วันนี้ (7 มิถุนายน 2566) ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยในงานสัมมนา “Innovation Keeping the World นวัตกรรมรักษ์โลก จัดโดย ไทยอยู่จุดไหน จัดโดย สปริงนิวส์ เนชั่นออนไลนื และฐานเศรษฐกิจ ว่า การผลักดันนวัตกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะนวัตกรรมรักษ์โลก สิ่งสำคัญคือข้อกฎหมายจะต้องเอื้ออำนวยให้เกิดการทดลอง และทดสอบนวัตกรรม เพราะหลาย ๆ กรณีนวัตกรรมจะไม่เกิดขึ้น หากไม่มีพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ เพื่อทำการทดสอบนวัตกรรม ซึ่งการมีกฎหมายที่ดูแลจะช่วยส่งเสริมเรื่องนี้ได้มากยิ่งขึ้น

“ถ้าอยากให้เกิดนวัตกรรม โดยเฉพาะนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการรักษ์โลก กฎหมายต้องเอื้อต่อเรื่องนี้ และถ้านวัตกรรมเกิด ก็สนับสนุนให้กลุ่ม Start-up SMEs และ SE หรือวิสาหกิจเพื่อสังคม กลายเป็นซัพพลายเชน ให้กับบริษัทขนาดใหญ่ได้อีกด้วย” ดร.พันธุ์อาจ กล่าว

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ได้มีการสนับสนุนด้านการเงินให้กับให้กลุ่ม Start-up SMEs และ SE เช่นเดียวกับบริษัทขนาดกลาง-ใหญ่ และนักลงทุน เป็นทุนนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ ถือเป็นกลไกให้ทุนสนับสนุนโครงการนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจแบบให้เปล่า โดยมีทุนให้ตั้งแต่ 1.5 – 5 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรมตลอด Value Chain ด้วย

 

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ทั้งนี้ในด้านที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมนั้น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ  ได้มีการสนับสนุนนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ มีเป้าหมายช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มจากการนำขยะหรือของเสียจากภาคอุตสาหกรรมมาใช้ประโยชน์เพื่อเป็นวัตถุดิบทดแทนหรือนำมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มขึ้น มีทั้งโมเดลอุตสาหกรรมและธุรกิจที่มุ่งไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และโมเดลจัดการพลาสติกและขยะ

รวมทั้งการสนับสนุนธุรกิจด้านพลังงานสะอาด มีเป้าหมายเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของพลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน และพลังงานชีวภาพเพิ่มขึ้น ด้วยการพัฒนาและประยุกต์ใช้ผลงานวิจัย องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพิ่มขึ้น ทั้งการปรับปรุงคุณภาพเชื้อเพลิงชีวภาพ และระบบบริหารจัดการการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวว่า ในส่วนของนวัตกรรมสำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ผ่านมาก็มีการสนับสนุนไปบ้างแล้ว โดยจะครองคลุมทั้งด้านความหลายหลายทางชีวภาพ ด้านการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ด้านวัสดุหมุนเวียน ด้านประสิทธิภาพการใช้น้ำและพลังงาน และด้านยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV

 

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

นอกจากนี้ยังมีทุนนวัตกรรมเพื่อสังคม เพื่อพัฒนาต้นแบบหรือนำร่องนวัตกรรมเพื่อสังคม ที่ช่วยแก้ไขปัญหาสังคมไทยในมิติต่าง ๆ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนและสิ่งแวดล้อม รวม 4 โครงการหลัก คือ 1. โครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมรายสาขา 2. โครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน 3. โครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม และ 4. หน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม