ธปท.เชื่อ เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าในครึ่งปีหลัง

08 ก.ค. 2565 | 07:45 น.

ธปท.ยืนยันยังไม่มีมาตรการควบคุมเงินทุนไหลออก แจงบาทอ่อนจากปัจจัยภายนอก ปล่อยเคลื่อนไหวตามกลไกตลาด จะเข้าแทรกแซง หากผันผวนผิดปกติ เชื่อมีโอกาสพลิกมาแข็งค่าในครึ่งปีหลัง

นางสาวดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เปิดเผยว่า เงินบาท ที่อ่อนค่าลงในขณะนี้เกิดจากปัจจัยภายนอกเป็นสำคัญ โดยเฉพาะเงินดอลล่าร์ที่แข็งค่าขึ้นมาก ทำให้เกิดความผันผวนของค่าเงินทั่วโลก โดยตั้งแต่ต้นปีพบว่า เงินดอลล่าร์แข็งค่าไปแล้ว 11.3% ขณะที่เงินสกุลต่างๆ อ่อนค่าทุบสถิติ เช่น เงินยูโรที่อ่อนค่าในรอบ 20 ปี

ธปท.เชื่อ เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าในครึ่งปีหลัง

ขณะที่เงินบาทของไทยถือว่าอ่อนค่าอยู่ในระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นในภูมิภาค โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึงล่าสุดพบว่า เงินบาทอ่อนค่าลงประมาณ 7.6% จากการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และความกังวลเรื่องเงินเฟ้อที่สูงขึ้น รวมถึงความกังวลว่า จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยเข้ามากดดันเพิ่มเติมด้วย นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยภายในประเทศที่มีผลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทด้วยเช่นกัน

สำหรับแนวทางในการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนของธปท.ขณะนี้ จะยังคงปล่อยให้การเคลื่อนไหวเป็นไปตามกลไกของตลาดเป็นหลัก และอยู่ในทิศทางเดียวกับค่าเงินสกุลอื่นทั่วโลก ซึ่งแม้จะอ่อนค่าลงมากเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่เชื่อว่าในครึ่งปีหลังมีโอกาสพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้

 

“ค่าเงินบาทเป็นตัวสะท้อนราคาทุกอย่าง ดังนั้น ธปท.ไม่สามารถบอกได้ว่า เงินบาทควรจะอยู่ที่ระดับใดระดับหนึ่ง และการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนไว้ที่ระดับระดับหนึ่งอาจก่อให้เกิดการสะสมความเสี่ยงที่ไม่ยั่งยืนในระยะยาว ดังนั้นธปท.จึงไม่ได้มีระดับค่าเงินบาทในใจว่า ควรอยู่ที่ระดับใด ยังคงปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดเป็นหลัก”นางสาวดารณีกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม หากค่าเงินบาทมีความผันผวนมากผิดปกติ ธปท.จะเข้าไปดูแล เพราะธปท.จะแทรกแซงเรื่องความผันผวน แต่จะไม่แทรกแซงเรื่องระดับของค่าเงินบาท ซึ่งมีแนวทางในการดูแลอยู่แล้วว่า จะเข้าไปในช่วงไหน แต่ไม่เคยกำหนดว่า ค่าเงินบาทควรจะอยู่ที่ระดับไหน จะเน้นดูความผันผวนมากกว่า ซึ่งมองไปข้างหน้าทุกอย่างยังมีความเสี่ยง อ่อนได้ก็แข็งได้ แต่บาทที่อ่อนค่าในขณะนี้ยังเป็นผลมาจากปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก" นางสาวดารณีกล่าว

 

สำหรับการเคลื่อนย้ายเงินทุน นางสาวดารณีกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นการไหลเข้า-ออกของเงินทุนต่างชาติทีผิดปกติ และตั้งแต่ต้นปีถึง 5 ก.ค.65 เงินทุนยังเป็นบวกสุทธิที่ 9.7 หมื่นล้านบาท โดยในตลาดทุนเป็นบวก 1.04 แสนล้านบาท ขณะที่ตลาดพันธบัตรไหลออกราว 7 พันล้านบาท ส่วนในระยะข้างหน้า เชื่อว่า ตลาดมีการคาดการณ์อยู่แล้ว หากไม่มีปัจจัยใหม่เพิ่มเติมเข้ามา ทุกอย่างก็น่าจะเป็นไปตามที่คาดการณ์

 

ขณะที่ ธปท. ยืนยันว่ายังไม่มีมาตรการในการควบคุมเงินทุนไหลออก เพราะเชื่อว่าการปล่อยให้ตลาดเคลื่อนไหวเสรีเป็นกลไกที่ดี แต่มาตรการในการดูแลยังต้องมี ซึ่งถ้าไม่จำเป็นหรือไม่มีวิกฤตก็ไม่จำเป็นต้องนำมาใช้

 

นางสาวดารณีย้ำว่า พื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังคงแข็งแกร่ง โดยมีเงินสำรองระหว่างประเทศสูงมาก ที่ 2.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ อันดับที่ 12 ของโลก ถ้าเทียบเงินสำรองต่อผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) มีสัดส่วนสูงถึง 52% คิดเป็นอันดับ 6 ของโลก และหากเทียบกับหนี้ต่างประเทศระยะสั้น เงินสำรองอยู่ที่ 335% หรือคิดเป็น 3 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น

 

ด้านนางสาวณชา อนันต์โชติกุล ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายการเงินธปท. กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อล่าสุดในเดือน มิ.ย.65 ที่ขยายตัว 7.66% น่าจะยังไม่ใช่ระดับสูงสุด คาดว่าอีก 2 เดือนข้างหน้า อาจจะได้เห็นตัวเลขเงินเฟ้อสูงกว่านี้ มีโอกาสแตะ 8% แต่เงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้นก็ไม่ได้หมายความว่า ระดับราคาสินค้าจะต้องเพิ่มขึ้นทุกเดือน เพราะเป็นตัวเลขที่เทียบกับฐานปีก่อนที่อยู่ในระดับต่ำ หากไม่มีสถานการณ์รุนแรงใดๆ เพิ่มเติม ปัญหาเงินเฟ้อสูงก็น่าจะทยอยหายไปเอง

 

ส่วนเงินบาทที่อ่อนค่าในขณะนี้ยังไม่ส่งผ่านมายังราคาสินค้าและบริการในทันที แต่จากการศึกษาพบว่า หากเงินบาทอ่อนค่ายาวกว่าที่ประเมิน อาจส่งผ่านไปยังราคาสินค้าและบริการมากกว่าในอดีต

 

"ธปท. คาดว่า ครึ่งปีหลังจะมีแรงบวกกลับเข้ามาที่ทำให้บาทไม่อ่อนมากกว่านี้ หรือกลับมาแข็งขึ้นด้วยซ้ำ หากท่องเที่ยวกลับมา ราคาน้ำมันไม่เพิ่มขึ้น ขณะที่ค่าขนส่ง ค่าระวางการส่งสินค้าระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดติดลบ ซึ่งคาดว่าปีนี้จะติดลบประมาณ 8% แต่เริ่มเห็นซัพพลายคลี่คลาย ทำให้ค่าขนส่ง ค่าระวางการส่งสินค้าระหว่างประเทศเริ่มปรับลดลง และหากท่องเที่ยวกลับมา ราคาน้ำมันไม่สูง ก็จะช่วยให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นบวกในช่วงครึ่งปีหลังหรือต้นปีหน้าที่ 5 พันล้านดอลลาร์"นางสาวณชากล่าว

 

ส่วนนโยบายการเงิน ขณะนี้จะเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติและเข้าสู่ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นแล้ว จากก่อนหน้าที่ให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ แต่ล่าสุดปัจจัยต่างๆ เปลี่ยนไป เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวได้ดีขึ้น จึงต้องให้น้ำหนักกับอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น แต่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยแตกต่างจากสหรัฐ และไทยก็ไม่ได้ใช้นโยบายกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ ทำให้มีอิสระในการทำนโยบายการเงิน

 

ทั้งนี้ การทำนโยบายการเงินจะต้องดูเป้าหมาย 3 เรื่อง ได้แก่ การเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพของระบบการเงิน โดยเงินเฟ้อจะมีเป้าหมายในระยะปานกลาง แม้ระยะสั้นจะสูงกว่ากรอบ แต่ในระยะปานกลางและระยะยาวยังต้องติดตามเครื่องชี้หลายอย่าง การทำนโยบายการเงินจะต้องมุ่งให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้ามาอยู่ในกรอบเป้าหมาย 2% ในระยะ 5-10 ปี และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็จะยังไม่มีการส่งผ่านไปยังเงินเฟ้อในระยะสั้น แต่เป็นการยึดเหนี่ยวไม่ให้เงินเฟ้อไปไกลกว่าที่คาดการณ์