จับตาค่าเงินบาทอ่อนค่าทะลุ 36 บาท/ดอลลาร์ หนักสุดในรอบ 16 ปี

06 ก.ค. 2565 | 05:31 น.

“กอบศักดิ์ ภูตระกูล” ชี้สัญญาณอันตรายจับตาค่าเงินบาททะลุ 36 บาท อ่อนค่าหนักสุดในรอบ 16 ปี หลังจากเมื่อคืน อ่อนค่าสุดที่ 35.997 บาทต่อดอลลาร์ ในรอบ 5 ปีครึ่ง กลับไปเท่า ๆ กับช่วงที่เฟด ขึ้นดอกเบี้ย หลังผ่านวิกฤต Subprime วัดใจธปท. หาทางแก้ยังไง

สถานการณ์ค่าเงินบาทกำลังอ่อนค่าลงต่อเนื่อง จากปัจจัยรุมเร้าต่างประเทศ โดยค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ อยู่ที่ระดับ  35.94 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 35.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ถือเป็นสถานการณ์ที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวม

 

ล่าสุด นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊ก Kobsak Pootrakool ถึงกรณีค่าเงินบาทอ่อนค่า โดยระบุว่า ค่าเงินบาทใกล้ทะลุ 36 บาท โดยเมื่อคืนนี้ อ่อนสุดที่ 35.997 บาทต่อดอลลาร์ นับเป็นการอ่อนสุดในรอบ 5 ปีครึ่ง กลับไปเท่า ๆ กับช่วงที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ดำเนินการขึ้นดอกเบี้ยและเริ่มดึงสภาพคล่องกลับ หลังผ่านวิกฤต Subprime

 

โดยช่วงนั้น ธปท. เคยให้ค่าเงินบาทอ่อนลงมาถึงประมาณ 35-36.5 บาทต่อดอลลาร์ หากรอบนี้ ค่าเงินบาทอ่อนต่อเนื่องไปทะลุ 36.5 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบ 16 ปี 

ทั้งนี้ทดสอบว่า ธปท. จะยอมปล่อยให้ค่าเงินบาทอ่อนได้อีกมากน้อยแค่ไหน โดยเลือกระหว่าง 1.ผลดีที่จะเกิดกับภาคเกษตร ท่องเที่ยว ส่งออก และ 2. ผลกระทบต่อต้นทุนราคาพลังงาน และปัญหาเงินเฟ้อที่สูงอยู่แล้วในไทย ซึ่งเมื่อวานนี้ได้ขึ้นไปอยู่ที่ 7.66% 

 

โดยการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ และมาจากการที่นักลงทุนกังวลใจเรื่องภาวะเศรษฐกิจของยุโรป ที่อาจจะเกิดปัญหาหนักหากรัสเซียตัดสินใจ ตัดการส่งก๊าซให้ ซึ่งจะทำให้ยุโรปที่อ่อนแออยู่แล้ว จากราคาพลังงานที่พุ่งขึ้นสูง เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้

 

หากเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น จะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของ ECB ที่ตั้งใจจะขึ้นดอกเบี้ยได้ ทำให้นักลงทุนปรับมุมมองเรื่องค่าเงิน Euro ซึ่งเมื่อคืนนี้ อ่อนลงอย่างรวดเร็วมาที่ 1.0235 ดอลลาร์ต่อยูโร อ่อนสุดในรอบ 19 ปี และพร้อมไปแตะระดับ 1 ดอลลาร์ เท่ากับ 1 ยูโร

อีกด้าน หลังนักลงทุนออกจาก Euro ก็วิ่งไปที่ดอลลาร์ ทำให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นมาที่ 106.792 แข็งค่าสุดในรอบ 20 ปี ซึ่งนับจากต้นปี ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นมาประมาณ 12%  

 

สำหรับผู้ส่งออกนำเข้า ช่วงนี้ คงก็ต้องพยายามปิดความเสี่ยงเรื่องค่าเงิน เพราะปีนี้อะไรอะไรก็เกิดได้ หลายอย่างไม่ได้ขึ้นกับ Fundamental หรือปัจจัยพื้นฐาน แต่มาจากการตัดสินใจของคน สมกับที่เป็นปีของความผันผวน หรือ Economic Turbulence 2022