เงินเฟ้อเร่งตัว ดันยอดถอนเงินสดบัตรรูดปรื๊ด พุ่ง 8%

30 มิ.ย. 2565 | 10:54 น.

เคทีซีเผย เงินเฟ้อเร่งขึ้น กระทบมูลค่าเงินในกระเป๋า ส่งผลความต้องการสินเชื่อเพิ่ม พบยอดถอนเงินสด บัตรเครดิตพุ่ง 7-8% แต่ความสามารถจ่ายหนี้ยังไม่ลด เร่งขยายฐานลูกค้าใหม่ พร้อมรักษาลูกค้าเก่า

ตลาดบัตรพลาสติกยังคงเป็นอุตสาหกรรมที่ “เนื้อหอม” เพราะเป็นเหมือนท่อน้ำเลี้ยงแหล่งเงินหมุนเวียนประชาชนระดับกลางรวมทั้งผู้ประกอบการรายเล็กได้เข้าสู่แหล่งเงินในระบบเศรษฐกิจ

 

ล่าสุด “พิชามน จิตรเป็นธรรม” ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจสินเชื่อบุคคล บริษัท บัตรกรุงไทย หรือ เคทีซี ได้สะท้อนมุมมองธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลผ่าน “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมช่วง 4 เดือนแรกของปี 2565 จากข้อมูลการรายงานตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)พบว่า มีการปล่อยสินเชื่อใหม่ 1.33 หมื่นล้านบาทเติบโต 2.5% ขณะที่ยอดคงค้างทั้งระบบอยู่ที่กว่า 5 แสนล้านบาท โดยคาดว่า ทั้งปีน่าจะเติบโตไม่เกิน 10% ชะลอจากปีก่อนที่เติบโตถึง 21%

นางสาวพิชามน จิตรเป็นธรรม” ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจสินเชื่อบุคคล บริษัท บัตรกรุงไทย

สาเหตุที่การเติบโตปีที่แล้วสูงมาก มาจากการแปลงหนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อหมุนเวียนเป็นสินเชื่อระยะยาวตามมาตรการช่วยเหลือของธปท. ซึ่งคิดดอกเบี้ยส่วนลดเหลือ 22% เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้ ซึ่งแนวโน้มลูกหนี้ที่ขอรับความช่วยเหลือทยอยปรับลดลงสู่ภาวะปกติ ทำให้การเติบโตของสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ระดับ 10% ต่อปี

 

สำหรับแนวโน้มการทำตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลในครึ่งปีหลัง มีทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบ โดยเฉพาะปัจจัยเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการทำให้มูลค่าเงินในกระเป๋าลดลง โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ระดับปานกลางถึงผู้มีรายได้น้อย ที่ต้องพึ่งพาสินเชื่อมากขึ้น ขณะที่สถานการณ์เงินเฟ้อและดอกเบี้ยขาขึ้นเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อธุรกิจ

ดังนั้น บริษัทยังคงมุ่งเน้นการควบคุมคุณภาพลูกหนี้ โดยจะคัดกรองคุณภาพลูกค้าที่มีความสามารถในการชำระคืน และไม่รับรายที่มีความเสี่ยงเข้ามาในพอร์ต ซึ่งแนวโน้มยอดอนุมัติอยู่ที่ 30% ทยอยปรับเพิ่มอัตราการอนุมัติจาก 2 ปีที่ผ่านมาต่ำกว่า 20% เนื่องจากต้องบริหารจัดการคุณภาพลูกหนี้

 

“ปีนี้บริษัทยังคงยืนเกณฑ์รายได้ของลูกค้าสมาชิกที่ 12,000 บาทต่อเดือน เพิ่มโอกาสเข้าสู่สินเชื่อในระบบ แต่จะพิจารณาภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) ในสัดส่วนที่เหมาะสมและยังคงมีความสามารถในการใช้จ่าย โดยไม่มีปัญหาการชำระหนี้ ขณะเดียวกันพยายามจะเพิ่มฐานลูกค้าที่มีรายได้มากกว่า 30,000 บาทต่อเดือนจากปัจจุบันที่มีในพอร์ตอยู่แล้ว 60%” นางสาวพิชามนกล่าว

 

อย่างไรก็ตามแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อยังส่งผลต่อผู้กู้ในแง่ยอดอนุมัติสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น เห็นได้จากเดือนเมษายนเทศกาลสงกรานต์ถัดมาเดือนพฤษภาคม ซึ่งรับการเปิดเทอมการศึกษา บริษัทอนุมัติสินเชื่อเพิ่มขึ้นและยังเห็นการเบิกถอนเงินสดเติบโต 7-8% จากเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ซึ่งจะขอดูตัวเลขในเดือนมิถุนายนว่า ยอดการใช้จ่ายยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หรือปัจจัยเงินเฟ้อจะกระทบเงินในกระเป๋าหรือไม่

 

เช่นเดียวกับความสามารถในการชำระคืนหนี้ ซึ่งพบว่า ความสามารถในการจ่ายคืนหนี้ไม่ลดลงในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยมีการจ่ายคืนได้ในอัตรา 11-12% สูงกว่าอัตราขั้นต่ำที่กำหนดไว้เพียง 3% ทำให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ปรับลดจาก 2.9% ในเดือนธันวาคมมาอยู่ที่ 2.6% ที่สำคัญลูกค้าติดต่อเข้ามาต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากเลือกรับคุณภาพลูกค้าเข้ามาแล้วยังมีความใกล้ชิดติดตามลูกค้าควบคู่กัน

 

สำหรับปีนี้ บริษัทตั้งเป้าเพิ่มยอดบัตรใหม่ 1.06 แสนรายจากฐานลูกค้าที่ 7.5 แสนรายเมื่อเดือนมีนาคม โดยมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 2.91 หมื่นล้านบาท คาดว่าทั้งปีจะเติบโต 7% ส่วนกลยุทธ์การทำตลาดยังให้ความสำคัญทั้งลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ โดยลูกค้าใหม่ในปีนี้จะเน้นกลุ่มที่มีกำลังในการใช้จ่ายด้วยแคมเปญแบ่งเบาดอกเบี้ยต่ำ 0.92% ต่อเดือน ผ่อนนานสูงสุด 36 เดือน จากนั้นจะมีแคมเปญแบ่งเบาภาระออกมาต่อเนื่อง

 

ส่วนฐานลูกค้าเก่า ปัจจุบันมีลูกค้าที่ใช้จ่ายสม่ำเสมอ (Active) 65% ของพอร์ต ซึ่งบริษัทมุ่งเน้นรักษาฐานลูกค้ากลุ่มนี้และสร้าง Brand Royalty ให้ลูกค้าคิดถึง “เคทีซี” เป็นบัตรแรก พร้อมแคมเปญจูงใจ เช่น แคมเปญ “เคลียร์หนี้” สำหรับลูกค้าที่ยังคงสถานะบัญชีเป็นปกติ สะท้อนวินัย โดยยังคงจ่ายชำระหนี้ต่อเนื่อง

 

“แคมเปญเคลียร์หนี้ แม้จะเป็นเสียงเล็กๆ แต่เคทีซีต้องการให้รางวัลกับลูกค้า ด้วยการแบ่งเบาภาระให้กลุ่มคนเดือดร้อนจริงๆ โดยทุกคนที่สถานะบัญชีปกติ มีสิทธิลุ้นรางวัลเคลียร์หนี้ตั้งแต่ 100% หรือ 10% ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 13 รวมเป็นเม็ดเงิน 36 ล้านบาทจากลูกค้าสมาชิก 4,900 กว่าราย” นางสาวพิชามนกล่าว

 

ส่วนของลูกค้าที่ไม่ได้ใช้บัตรอย่างสม่ำเสมอ (Inactive) ซึ่งมีราว 35% ปัจจุบันบริษัทจัดแคมเปญเสนอส่วนลดดอกเบี้ยเชิญชวนลูกค้ากลับมาใช้บริการหรือทำรายการเพียง 1 ครั้ง ซึ่งเชื่อว่าแนวโน้มสมาชิก Inactive จะกลับมา Active เพิ่มขึ้น แต่กรณีที่ลูกค้าไม่มีการเคลื่อนไหวต่อเนื่องในเวลา 3 ปี บริษัทจำเป็นต้องปิดบัญชีและกำหนดเงื่อนไขในการเปิดใช้บริการ 2 ปีหลังจากปิดบัญชีไปแล้ว

 

บริษัทยังได้พัฒนา “บัตรกดเงินสด” ผ่านตู้เอทีเอ็มเป็นรูปแบบใหม่ภายใต้ชื่อ “เคทีซี พราว มาสเตอร์การด์” พร้อมฟีเจอร์โอนเงินโดยลูกค้าสามารถผูกบัญชีกับธนาคารต่างๆ ผ่านโมบายแอปพลิเคชั่นของแต่ละธนาคารรวม 15 ธนาคาร สามารถโอนเงินเรียลไทม์ โดยไม่ต้องใช้บัตร ที่สำคัญลดการสัมผัสเงินสด เพิ่มความปลอดภัย สะดวกรวดเร็ว และสามารถผ่อนชำระสินค้าและบริการอัตรา 0% หรือระยะเวลาผ่อนนานสูงสุด 36 เดือน พร้อมส่วนลดจากร้านค้าพันธมิตรต่างๆ และมีฟังก์ชั่นแตะจ่าย ช้อปปิ้งออนไลน์ โดยตั้งเป้า 4.5 หมื่นใบในสิ้นปีจากเป้าหมายทั้งหมด 1.06 แสนใบ และตั้งเป้ายอดใช้จ่ายจากบัตรใหม่เพียง 10%

 

ขณะเดียวกันบริษัทมีเป้าหมาย ยกระดับลูกค้าเก่า โดยจะอัพเกรดบัตร 3.9 แสนใบมาเป็นบัตร “เคทีซี พราว มาสเตอร์การด์” โดยปัจจุบันสัดส่วนการกดเงินสดจากเอทีเอ็มปรับลดเหลือ 40% จากเดิมอยู่ที่ 60% และโอนเงินปรับจาก 40% เป็น 60% เมื่อเดือนมีนาคม

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,796 วันที่ 30 มิถุนายน - 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2565