ค่ายรถญี่ปุ่น-จีน จ่อ MOU ขายรถ EV ในไทย หลังประกาศราชกิจจาฯ ลดภาษีสรรพสามิต

07 มิ.ย. 2565 | 12:12 น.

สรรพสามิต คาด หลังประกาศราชกิจจาฯ ลดภาษีสรรพสามิตรถอีวีเหลือ 2% วันที่ 8 มิ.ย.นี้ หนุนค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น-จีน ไม่น้อยกว่า 4 ค่าย ตบเท้า MOU เข้าร่วมมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในไทย พร้อมห่วงปัญหาขาดแคลนชิปยืดเยื้อกระทบแผนส่งเสริมใช้รถอีวีในไทย

นายณัฐกร อุเทนสุต โฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ขณะนี้ขั้นตอนของการออกกฎหมายลดภาษีสรรพสามิต สำหรับสนับสนุนรถอีวี จาก 8% เหลือ 2% ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ลงนามเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะมีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ภายในวันพุธที่ 8 มิถุนายน 65 และมีผลบังคับใช้ในวันถัดไป คือ วันพฤหัสฯ ที่ 9 มิถุนายน 65

 

“เชื่อว่าหลังประกาศราชกิจจาฯ เรียบร้อย จะทำให้ค่ายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ทยอยเข้ามาเซ็น MOU เข้าร่วมรับการสนับสนุนจากรัฐบาลมากขึ้น เชื่อว่าในปีนี้จะมีค่ายรถยนต์อีกอย่างน้อย 3-4 ค่าย โดยเป็นค่ายรถจากญี่ปุ่น และจีน และค่ายรถจักยานยนต์อย่างน้อย 2-3 ค่าย จากไทยและจีน” นายณัฐกร กล่าว

ขณะที่ปัญหาการขาดแคลนชิป นายณัฐกร กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย ทำให้ค่ายรถยนต์ที่เปิดจองรถยนต์ไฟฟ้าไปก่อนหน้านี้ต้องหยุดรับจองรถชั่วคราวเกือบ 2 เดือนแล้ว เนื่องจากบริษัทแม่ของแต่ละค่ายรถยนต์จำเป็นต้องกระจายรถยนต์ที่ผลิตแล้ว ส่งไปให้ลูกค้าที่ประเทศอื่นด้วย

 

ขณะที่ไทยมียอดจองรถยนต์ไฟฟ้ารวมขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 1 หมื่นคัน โดยยอมรับว่า หากปัญหาการขาดแคลนชิปยังยืดเยื้อเป็นปี ก็จะกระทบต่อแผนส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในไทยได้

“ปัญหาขาดแคลนชิปเกิดขึ้นทั่วโลก เช่น ค่ายรถยนต์ของจีนที่ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้ 100 คัน ก็ต้องกระจายส่งไปให้ประเทศอื่นทั่วโลกด้วย มองว่าในระยะสั้นจะยังไม่กระทบต่อแผนการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าในไทย

 

แต่หากยืดเยื้อเป็นปีก็อาจจะกระทบบ้าง เป็นปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้ และขึ้นอยู่กับบริษัทแม่ของแต่ละค่ายรถว่าจะได้ชิปมากพอที่จะผลิตรถยนต์และส่งมาให้ไทยมากน้อยแค่ไหน ภายในสิ้นปีนี้จะรู้ และจะมีการประเมินสถานการณ์เพื่อหาแนวทางแก้ไขอีกครั้ง” นายณัฐกร กล่าว  

 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พบว่าค่ายรถยนต์ที่เปิดจองรถยนต์ไฟฟ้าไปก่อนหน้านี้ ได้มีการทยอยส่งมอบรถให้ลูกค้าไปแล้วประมาณ 500 คัน และคาดว่าหลังการประกาศราชกิจจาฯ ฉบับนี้ แต่ละค่ายรถจะทยอยส่งมอบรถให้ลูกค้าได้อีกประมาณ 1,500 คัน

 

นายณัฐกร กล่าวอีกว่า จากการที่นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ไปโรดโชว์ที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่าน นับเป็นสัญญาณที่ดี ที่จะช่วยกระตุ้นให้ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น ปรับแผนหันมาผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเร็วขึ้น จากเดิมในปี 2573 เป็นภายในปี 2569

 

ทั้งนี้ค่ายรถยนต์ของญี่ปุ่นที่ทำ MOU เข้าร่วมมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในไทยแล้ว ได้แก่ โตโยต้า ซึ่งคาดว่าหลังจากนี้ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นค่ายอื่นๆ จะทยอยเข้าร่วมมาตรการรัฐฯ ตามมา

 

รวมทั้งค่ายรถยนต์ของจีน ทั้ง ค่ายรถยนต์เนต้า และค่ายรถยนต์ฉางอาน ซึ่งมีแผนที่จะว่าจ้าง ฟ็อกซ์คอนน์ ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการขอยื่นรับการส่งเสริมการลงทุน จาก BOI เพื่อเข้ามาสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย   

 

รายงานข่าวแจ้งเพิ่มว่า สาเหตุที่ทำให้มีการออกประกาศราชกิจจาฯล่าช้า เนื่องจากกรมสรรพสามิตจะต้องมีการทำกฎหมายลูกถึง 25 ฉบับ เพื่อใช้สนับสนุนมาตรการการลดภาษีครั้งนี้ จึงทำให้ใช้เวลาในการพิจารณาระยะหนึ่ง

 

โดยเฉพาะสาระสำคัญเกี่ยวกับคำนิยามของรถยนต์ไฟฟ้า หรือรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าประเภทต่างๆ ที่จะเข้าข่ายได้รับการสนับสนุนมาตรการภาษี และเงินอุดหนุนจากรัฐ

 

ประกอบกับที่ผ่านมา อยู่ช่วงการเปลี่ยนถ่ายอธิบดีกรมสรรพสามิตคนใหม่ มาเป็นนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ซึ่งจะต้องเป็นผู้ลงนามกฎหมาย จึงทำให้กระบวนการพิจารณาชะลอออกไป

 

ส่วนกรณีค่ายรถยนต์ไฟฟ้า เอ็มจี และ เกรท วอลล์ มอเตอร์  ประสบปัญหาเรื่องการค้างส่งมอบรถยนต์ให้แก่ลูกค้าหลายพันคัน เนื่องจากรอประกาศกฎหมายลดภาษีสรรพสามิตอยู่นั้น เชื่อว่าหลังจากประกาศกระทรวงการคลังประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ปัญหาเหล่านี้จะคลี่คลายไปได้ โดยค่ายรถยนต์ที่เข้าร่วมสามารถนำรถยนต์ไฟฟ้า ส่งมอบให้กับลูกค้าโดยได้รับการสนับสนุนมาตรการภาษีโดยทันที