เนสท์ติฟลาย ปั้นพอร์ต P2P 3 ปี 1.5 หมื่นล้านบาท

12 พ.ค. 2565 | 10:11 น.

เนสท์ติฟลายเปิดแผน 3 ปี ปั้นสินเชื่อ P2P 1.5 หมื่นล้านบาท หลังได้ใบอนุญาตจากกระทรวงการคลัง 22 เม.ย.65 เดินหน้าขยายพอร์ต Share loan ชี้ยังโตได้อีกมาก เหตุลูกค้าธุรกิจที่มีหุ้นใน Set100 แค่ปล่อยกู้ 50% ยังมากถึง 7 แสนล้านบาท

Peer-to-Peer Lending Platform (P2P) คือ ผู้ให้บริการระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นตัวกลางให้เกิดการจับคู่ระหว่างผู้ที่ต้องการกู้เงินและผู้ที่ต้องการให้กู้ ซึ่งเป็นอีกทางเลือกที่ช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้สะดวกยิ่งขึ้น ด้วยต้นทุนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงของผู้กู้ และเพิ่มทางเลือกในการลงทุน

 

ธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) กำหนดให้ผู้ที่ต้องการประกอบธุรกิจ P2P ต้องทดสอบการให้บริการภายใต้ Regulatory Sandbox จนมั่นใจว่า มีการบริหารความเสี่ยงและดูแลผู้ใช้บริการอย่างเหมาะสม จึงจะสามารถยื่นขอใบอนุญาตจากกระทรวงการคลัง ซึ่ง บริษัท เนสท์ติฟลาย จำกัด​ได้เข้าทดสอบตั้งแต่วัน 28 กันยายน 2563 และออกจากการทดสอบ​ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลัง​เมื่อ 22 เมษายน 2565 เป็นรายแรกของไทยจากที่เข้าทดสอบทั้งหมด 4 ราย ​

นายปพนธ์ มังคละธนะกุล ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เนสท์ติฟลาย จำกัด (NestiFly) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า P2P เกิดขึ้นหลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ซึ่งธนาคารพาณิชย์ไม่ปล่อยกู้ จึงเกิดกฎหมายที่จะให้มีการปล่อยกู้ระหว่างคนที่มีสภาพคล่องกับคนที่ต้องการสภาพคล่องมาเจอกันผ่านแพลตฟอร์ม ซึ่งไทยเองได้พิจารณาเรื่องนี้มานานพอควรแล้ว จึงออกกฎหมายเมื่อ 3-4 ปีก่อน

เนสท์ติฟลาย ปั้นพอร์ต P2P 3 ปี 1.5 หมื่นล้านบาท

 

"ผมเป็นผู้บริหารธนาคารพาณิชย์มาก่อน และดูสายงานเอสเอ็มอี เห็นตรงนี้ ก็เลยดูว่ามันน่าสนใจ เพราะตลาดเมืองไทย ยังเป็นตลาดที่หลายๆ กลุ่มที่ธนาคารยังไม่ค่อยเข้าไปซักทีเดียว เราเลยคิดว่า เป็นโอกาส จึงตั้งบริษัทนี้ขึ้นมาเมื่อ 3-4 ปีก่อน เพื่อที่ตั้งใจจะทำ P2P โดยเฉพาะ"นายปพนธ์กล่าว   

ดังนั้น เมื่อกฎหมายออกมาชัดเจน บริษัทได้พัฒนาผลิตภัณฑ์แรกชื่อว่า แชร์โลน (Share Loan) เป็นการปล่อยกู้ โดยใช้หุ้นในตลาดหลักทรัพย์เป็นหลักประกัน เนื่องจากบริษัทเริ่มจากศูนย์ ข้อมูลในการวิเคราะห์ลูกค้าไม่มี จึงเริ่มจากข้อมูลที่มีในตลาด พอทำแชร์โลนได้ประมาณปีหนึ่ง ก็ขอเข้าทดสอบในแซนด์บ็อกซ์เป็นรายที่ 2 แต่เป็นรายแรกที่ออกจากการทดสอบและได้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจรายแรกของไทยและยังเป็นรายแรกของโลกที่ใช้หุ้นเป็นหลักประกัน เพราะความเสี่ยงชัดเจนและจะสามารถป้องกันความเสี่ยงให้กับนักลงทุนได้

 

แผนงานจากนี้ หลังจากได้ในอนุญาตประกอบธุรกิจแล้ว น่าจะขยายพอร์ตของแชร์โลนก่อน เพราะช่วงแรกที่อยู่ในแซนด์บ๊อกซ์ ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นรายเล็ก ทำให้พอร์ตปัจจุบัน 50 ล้านบาท เพราะให้กู้ตั้งแต่ 5 หมื่นบาทถึง 5 ล้านบาท แต่วงเงินเฉลี่ยประมาณ 1 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนสถาบัน ยังไม่รู้จัก P2P เท่าไหร่และบางส่วนต้องการให้บริษัทได้ใบอนุญาตก่อนด้วย

 

เป้าหมาย 12 เดือนจากนี้ไปจะขยายพอร์ตให้ได้ 2 พันล้านบาท ซึ่งต้องใช้เวลาทำความเข้าใจกับตลาด เพราะ P2P เป็นเรื่องใหม่ นักลงทุนสถาบันและบริษัทใหญ่ๆที่คุยไว้ต้องตามเก็บให้หมด หลังจากนั้นใน 3 ปีแรก น่าจะปล่อยกู้ได้ 1.5 หมื่นล้านบาท เพราะข้อมูลที่มีหุ้นใน Set100 อยู่ในมือนักลงทุนรายย่อย 1.5 ล้านคนที่จะปล่อยกู้ 50% ของมูลค่าหลักประกัน มีมูลค่าถึง 7 แสนล้านบาท 

เนสท์ติฟลาย ปั้นพอร์ต P2P 3 ปี 1.5 หมื่นล้านบาท

ระบบของ Share Loan มี 3 ระดับคือ 1.กลุ่มหุ้นแบบไหนใน Set100 กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ จะปล่อยกู้ได้สูงสุด 50% ของมูลค่าหลักประกัน กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงหน่อย ปล่อยกู้ที่ 40% 2. เลือกระยะเวลาปล่อยกู้ ต้องการ 3 เดือนหรือ 6 เดือน และ3. วงเงินกู้ต่อรายต้องการไม่เกินเท่าไหร่ เพื่อกระจายความเสี่ยง ขณะที่คนที่มีหุ้นในมือและต้องการสภาพคล่องก็สามารถโอนหุ้นไปที่คัสโตเดียนก่อน เมื่อกำหนดสเป็กที่กำหนดแล้ว ระบบจะจับคู่ให้ โดยลูกค้ามั่นใจคือ เงินไม่ได้อยู่กับเรา เงินและหุ้นอยู่ที่คัสโตเดียน

 

ลูกค้าเป้าหมายที่ต้องการปล่อยกู้คือ กลุ่มคนที่เข้าถึงเงินทุนยาก ซึ่งเอสเอ็มอีอยู่ในนั้นด้วย โดยแชร์โลน ออกแบบมาเพื่อเอสเอ็มอีที่ไม่มีหลักทรัพย์ แต่ลงทุนในหุ้น ซึ่งคนรุ่นใหม่เริ่มลงทุนเยอะขึ้น ดังนั้นจะสามารถนำเอามาใช้ประโยชน์เป็นทุนหมุนเวียนได้  ซึ่งจากข้อมูลพบว่าประมาณ 40% ทำธุรกิจ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลในตลาดที่สัดส่วนนักลงทุนรายย่อยประมาณ 40% เป็นนักลงทุนรายย่อยที่มีธุรกิจส่วนตัวด้วย

 

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ค้นพบในช่วงทดสอบคือ ประมาณ 40% ของคนกู้กลับมากู้ซ้ำหรือนักธุรกิจนำไปใช้เป็นทุนหมุนเวียนได้ แทนวงเงิน โอดีหรือพีเอ็นของธนาคาร โดยดอกเบี้ยขณะนี้คิดเฉพาะคนกู้ต่ำสุด 4.75% สูงสุด 6%ต่อปี ถูกกว่าการกู้เงินธนาคาร 0.25-0.50%

 

ขณะที่คนปล่อยกู้จะได้ผลตอบแทน 3.25-4%ต่อปี ถือว่าสูงมาก เมื่อเทียบกับตราสารหนี้ที่บริษัทใน Set100 ถ้าออกในอัตราดอกเบี้ยนี้้ ต้องมีอายุ 5 หรือ 10 ปี ส่วนผลตอบแทนที่บริษัทจะได้รับเป็นค่าธรรมเนียม ซึ่งก็คือส่วนต่างระหว่างคนกู้กับผู้ให้กู้จะตก 1.5-2%

 

“เราจะไปแย่งลูกค้าเอสเอ็มอีจากธนาคารหรือไม่ จะคาบเกี่ยวบางส่วนอย่างลูกค้า 40% เป็นลูกค้าที่ทำธุรกิจก็มี 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งอยากได้วงเงินสูงคือ เอาหุ้นมาขอกู้เต็มเพดาน แต่ดอกเบี้ยถูกกว่าธนาคาร ซึ่งกลุ่มนี้่ขอกู้ธนาคารยาก เพราะไม่มีหลักประกัน ส่วนกลุ่มที่ 2 คือ มีวงเงินกับธนาคาร แต่มากู้เราบางส่วนที่ดอกเบี้ยถูกลง เพื่อลดต้นทุน”นายปพนธ์กล่าว

 

ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลขึ้นกับว่า ใช้สินเชื่อส่วนบุคคลไปทำอะไร ถ้านำไปใช้ให้งอกเงย มีสิทธิ์ที่ทดแทนสินเชื่อธนาคารได้ เพราะดอกเบี้ยถูกกว่าเยอะ แต่จะไม่สามารถทดแทนสินเชื่อบุคคลที่กู้เพื่อการบริโภคได้ เพราะธนาคารพาณิชย์จะชำระคืนขั้นต่ำ แต่ของ P2P เมื่อครบกำหนด 3 เดือน 6 เดือนต้องจ่ายคืนทั้งก้อน

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,782 วันที่ 12 - 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2565