ธปท.ชี้ปี65 สัญญาณสินเชื่อดีขึ้น -มั่นใจหนี้ไม่เร่งตัวก้าวกระโดด

21 ก.พ. 2565 | 13:22 น.

ธปท.ชี้ปี65 สัญญาณสินเชื่อดีขึ้น -มั่นใจหนี้ไม่เร่งตัวก้าวกระโดด เปิดตัวเลขStage3 -Stage2 ปรับลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะ Stage3ปรับลดลงเท่าระดับก่อนโควิดที่ระดับ 2.98% แจงเป็นผลจากมาตรการปรับโครงสร้างหนี้เป็นสำคัญ

ธปท.ชี้ปี65 สัญญาณสินเชื่อดีขึ้น -มั่นใจหนี้ไม่เร่งตัวก้าวกระโดด

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส  ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึง แนวโน้มความต้องการสินเชื่อปี2565  โดยระบุว่า  ความต้องการสินเชื่อปีนี้น่าจะกลับมาดีขึ้นตามลำดับ   

 

จากภาพรวมตัวเลขสินเชื่อไตรมาสที่ 4 ที่ผ่านมาขยายตัว 6.5% เพิ่มจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ 5.6% โดยสินเชื่อธุรกิจเติบโต 7.9% และสินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัว 4%

ส่วนแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)  จากการติดตามสถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างใกล้ชิด ธปท.ยอมรับว่าอาจมีลูกหนี้บางกลุ่มอาจจะตกชั้นเป็นเอ็นพีแอล

 

 หากไปต่อไม่ไหวก็จำเป็นต้องปิดกิจการ ส่วนกลุ่มที่ยังไปได้สามารถขอความช่วยเหลือผ่านมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว( เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2564-สิ้นปี 2566)

“ ธปท.ยังเชื่อมั่นว่าในระยะข้างหน้าอัตราหนี้เสียจะไม่เร่งตัวอย่างก้าวกระโดด แต่จะทยอยเพิ่มขึ้น เพราะตัวเลขหนี้เสียเมื่อไตรมาสที่ 4ของปีที่ผ่านมา มูลค่ารวม 5.30แสนล้านบาทคิดเป็น 2.98%  ซึ่งสะท้อนการกลับไปเท่าระดับก่อนโควิด-19 ในปี 2562”

ธปท.ชี้ปี65 สัญญาณสินเชื่อดีขึ้น -มั่นใจหนี้ไม่เร่งตัวก้าวกระโดด

เมื่อพิจารณาดูไส้ในเอ็นพีแอล พบว่า สินเชื่อธุรกิจ มีเอ็นพีแอล อยู่ที่ 3.08%ซึ่งปรับลดลงจาก 3.23%สิ้นปี 2563    โดยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีขนาดวงเงินสินเชื่อมากกว่า  500 ล้านบาท เอ็นพีแอลอยู่ที่ 2.23% ลดลงจาก 2.50%

 

ส่วนสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีวงเงินสินเชื่อน้อยกว่า 500 ล้านบาท เอ็นพีแอลอยู่ที่ 7.08% โดยปรับเพิ่มขึ้นจาก  6.95%สิ้นปี 2563  

 

สำหรับสินเชื่ออุปโภคบริโภค พบว่า หนี้เอ็นพีแอลไตรมาสที่ 4ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 2.73% ลดลงจากสิ้นปี 2563 ที่อยู่ 2.85% โดยเอ็นพีแอลปรับลดลงทุกประเภท  อาทิ 

สินเชื่อที่อยู่อาศัยอยู่ที่ 3.52% จาก  3.62% , สินเชื่อรถยนต์ 1.50%จาก 1.72%,  สินเชื่อบัตรเครดิต 2.25% จาก 3.00% และสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ 2.33% จาก 2.43%   ขณะที่หนี้ที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ(SM หรือ Stage2) สินเชื่อบ้านปรับเพิ่มเป็น 5.33% จาก 5.29%   สินเชื่อรถยนต์ปรับลดลงเป็น 11.08%11.85% สินเชื่อบัตรเครดิตอยู่ที่ 7.91% ปรับลดลงจาก 7.95%และสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ 6.04% จาก 6.01%

 

ทั้งนี้  ภาพรวมหนี้เสียที่ระดับ 2.98% ถือเป็นการปรับลดลงทั้งในแง่มูลค่าหนี้เสียและสัดส่วน  เมื่อเทียบไตรมาสที่ 3 อยู่ที่  3.14% คิดเป็นมูลค่าอยู่ที่ 5.46 แสนล้านบาท   และตัวเลขSM  หรือ Stage2 สะท้อนการปรับลดลงเช่นกัน  โดยไตรมาสที่ 4 อยู่ที่ 6.39 ปรับลดลงจาก 6.69%ไตรมาสที่ 3  ซึ่งเป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้ของธปท.และสถาบันการเงินเป็นสำคัญ

 

ธปท.ชี้ปี65 สัญญาณสินเชื่อดีขึ้น -มั่นใจหนี้ไม่เร่งตัวก้าวกระโดด