อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “อ่อนค่า” ที่ระดับ 33.56 บาท/ดอลลาร์

07 ม.ค. 2565 | 00:53 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท “อ่อนค่า”ในวันก่อนทะลุแนวต้านสำคัญที่ระดับ 33.50 บาท/ดอลลาร์ ทำให้ผู้ส่งออกเริ่มมีการขยับออเดอร์และทำให้โซนแนวต้านขยับมาอยู่ที่ 33.60-33.75 บาท/ดอลลาร์ ส่วนแนวรับสำคัญ ยังอยู่ในช่วง 33.20-33.30 บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้เปิดตลาดที่ระดับ  33.56 บาท/ดอลลาร์ “อ่อนค่า”ลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.50 บาทต่อดอลลาร์

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่าจากทั้งแนวโน้มการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ตามความกังวลแนวโน้มเฟดดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดได้เร็ว และปัญหาการระบาดของโอมิครอนในประเทศที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น

 

 ดังจะเห็นได้จากการเตรียมยกระดับมาตรการป้องกันการระบาดสู่ระดับที่ 4 ซึ่งเป็นระดับเกือบสูงสุด ซึ่งต้องจับตามุมมองของนักลงทุนต่างชาติว่าจะมีความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดมากน้อยอย่างไร โดยในสภาวะที่ตลาดการเงินโลกยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง ก็มีโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติอยากเลือกทยอยลดสถานะถือครองหุ้นไทยบางส่วน

หรือ อาจทยอยขายทำกำไรหุ้นไทยเพิ่มเติม ทำให้ในระยะสั้นนี้ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติมีโอกาสเป็นฝั่งขายสุทธิได้บ้าง จนกว่า sentiment ในตลาดการเงินจะเริ่มดีขึ้น อย่างไรก็ดี เรายังไม่เห็นแรงขายบอนด์ระยะสั้นที่รุนแรงจากผู้เล่นต่างชาติ ซึ่งเป็นไปได้ว่า ในมุมมองของผู้เล่นต่างชาติที่รอเก็งกำไรเงินบาทนั้น อาจไม่ได้ประเมินว่าเงินบาทจะอ่อนค่าไปมากจากระดับ ณ ปัจจุบัน

 

อนึ่ง การอ่อนค่าของเงินบาทในวันก่อนได้ทะลุแนวต้านสำคัญที่ระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้ผู้ส่งออกเริ่มมีการขยับออเดอร์และทำให้โซนแนวต้านขยับมาอยู่ที่ 33.60-33.75 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนแนวรับสำคัญ ยังอยู่ในช่วง 33.20-33.30 บาทต่อดอลลาร์ 

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.45-33.65 บาท/ดอลลาร์

 

ความกังวลแนวโน้มเฟดเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น อาทิ เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนมีนาคมและอาจทยอยลดงบดุลได้ทันทีหลังการขึ้นดอกเบี้ย ยังคงกดดันให้ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก โดยในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดตลาด -0.13% ส่วนดัชนี S&P 500 ก็ย่อตัวลง -0.10% ซึ่งเรามองว่า ตลาดการเงินอาจผันผวนและย่อตัวลงต่อได้ หากรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในวันนี้ ออกมาดีเกินคาดและทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างเชื่อว่า เฟดจะสามารถดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นได้เร็ว

 

ฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป พลิกกลับมาย่อตัวลงกว่า -1.53% ตาม sentiment ของตลาดโลกที่ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงจากความกังวลแนวโน้มนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของเฟด นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังถูกกดดันจากปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มเทคฯ ซึ่งอ่อนไหวต่อแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น อาทิ  Adyen -3.0%, Infineon Tech. -2.7%, ASML -1.9%  ทั้งนี้ เราคงมองว่า จังหวะการปรับฐานของหุ้นยุโรปอาจเปิดโอกาสในการเข้าสะสม หรือ Buy on Dip เนื่องจากหุ้นยุโรปยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่ม Reopening เนื่องจากภาพเศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวได้ดี หากสถานการณ์การระบาดของโอมิครอนเริ่มสงบลง อีกทั้ง นโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ก็ยังมีความผ่อนคลายมากกว่าเฟด

 

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มคาดว่า เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยและปรับลดงบดุลได้เร็วกว่าคาด ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เดินหน้าปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1.72% ซึ่งการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี ทั่วโลก ต่างปรับตัวขึ้นเช่นกัน อาทิ บอนด์ยีลด์ 10 ปี ไทย ก็ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 2.02% ทั้งนี้ บอนด์ยีลด์ระยะยาวยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อได้ หากข้อมูลตลาดแรงงานในวันนี้ออกมาแข็งแกร่งและยิ่งหนุนโอกาสที่เฟดจะใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น

 

อย่างไรก็ดี ระดับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์อาจไม่ได้สูงมากแบบช่วงก่อนหน้า เนื่องจากตลาดได้เริ่มรับรู้ถึงโอกาสดังกล่าวไปพอสมควร และผู้เล่นบางส่วนอาจรอทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว อย่าง บอนด์ยีลด์ 10ปี หลังยีลด์ปรับตัวขึ้นมาพอสมควรและบางส่วนก็อาจรอจังหวะเข้าซื้อเพื่อปรับสมดุลของพอร์ตการลงทุน ทั้งนี้ เรามองว่า ปัจจัยที่จะหนุนให้บอนด์ยีลด์ทั้งระยะสั้นและระยะยาวปรับตัวขึ้นต่อได้อาจเป็นประเด็นการปรับลดงบดุลของเฟด ว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในช่วงไหนและแผนการลดงบดุลเป็นอย่างไร (เฟดจะลดงบดุลโดยการปล่อยให้ตราสารครบกำหนดแบบในอดีต หรือ เฟดเลือกที่จะขายตราสารที่ถือครองอยู่)

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน แนวโน้มเฟดใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเร็วขึ้น และสภาวะตลาดการที่ไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง ได้หนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นมาใกล้ระดับ 96.32 จุด ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ พร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำย่อตัวลงต่อเนื่องสู่ระดับ 1,790 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นแนวรับสำคัญของราคาทองคำ ทำให้อาจมีผู้เล่นบางส่วนที่ยังคาดหวังการรีบาวด์ของราคาทองคำ ทยอยกลับเข้ามาซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว (Buy on Dip)

 

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอติดตามไฮไลท์ของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อย่างข้อมูลตลาดแรงงาน โดยตลาดคาดว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯ จะเดินหน้าฟื้นตัวต่อเนื่องและอาจได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ไม่มากนัก ดังจะเห็นได้จากการที่ ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เดือนธันวาคม อาจเพิ่มขึ้น 4 แสนราย ดีขึ้นเกือบเท่าตัวจากเดือนก่อนหน้า ขณะเดียวกันอัตราการว่างงานก็จะลดลงเหลือ 4.1% และที่สำคัญ การฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐฯ จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดและอาจทำให้เฟดใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดได้เร็วกว่าคาด หากเฟดประเมินว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯ จะสามารถกลับสู่สภาวะก่อนเกิดวิกฤติ COVID-19 ได้เร็ว

 

ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดประเมินว่า ปัญหาการระบาดของโอมิครอนในยุโรปอาจกดดันให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) เดือนธันวาคม ที่จะปรับตัวลดลงสู่ระดับ -9.0 จุด เช่นกัน ซึ่งภาพเศรษฐกิจยุโรปที่ชะลอตัวลงในระยะสั้นอาจกดดันให้ สกุลเงินยูโร (EUR) แกว่งตัวในกรอบ sideways ต่อในช่วงนี้

 

ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบประมาณ 33.55-33.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (ณ 8.42 น.) อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 33.51 บาทต่อดอลลาร์ฯ เงินบาทอาจยังมีทิศทางอ่อนค่าท่ามกลางกระแสการคาดการณ์เกี่ยวกับสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ อย่างไรก็ดีกรอบการอ่อนค่าของเงินบาทอาจเป็นไปอย่างจำกัด ขณะที่นักลงทุนรอติดตามข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในคืนนี้

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่  33.45-33.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนของต่างชาติ สถานการณ์โควิด-19  และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน และเครื่องชี้ตลาดแรงงานอื่นๆ สำหรับเดือนธ.ค. ของสหรัฐฯ