เปิดหนี้รัฐบาลถึงสิ้นปีงบฯ 65 รวมกว่า 2.3 ล้านล้าน

03 พ.ย. 2564 | 09:30 น.

สบน. เปิดหนี้รัฐบาล ณ สิ้นปีงบ 65 จะอยู่ที่ 2.3 ล้านล้าน คิดเป็นหนี้สาธารณะ 62% ของจีดีพี ขณะที่ พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้าน ล่าสุดเหลือให้อนุมัติกู้ได้อีกเพียง 2.63 แสนล้าน ส่วนจะออก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มอีกหรือไม่ ต้องรอนโยบายจากรัฐบาล

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ณ สิ้นปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลจะมีหนี้รวม 2.3 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ที่กู้แล้ว 1.19 ล้านล้านบาท ซึ่งรวมอยู่ในตัวเลขหนี้สาธารณะแล้ว ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 โดยหนี้สาธารณะมีสัดส่วนอยู่ที่ 57.98% ของจีดีพี และหนี้ที่รัฐบาลจะต้องกู้ใหม่ในปีงบฯ 2565 รวม 1.12 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุงบประมาณวงเงิน 7 แสนล้านบาท การกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท วงเงินประมาณ 3 แสนล้านบาท และการกู้เงินเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตามมาตรา 22 ภายใต้ พ.ร.บ.หนี้ วงเงินประมาณอีก  4-5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 สัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยจะอยู่ที่ 62% ของจีดีพี

 

ขณะที่แผนการกู้เงินในปีงบประมาณ 2565 จะใช้เครื่องมือในทุกๆ เครื่องมือ ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งก็ยังใช้พันธบัตรรัฐบาลเป็นเครื่อมือหลัก ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 3-50 ปี โดยจะใช้เครื่องมือนี้ในการกู้เงิน 1.1-1.3 ล้านล้านบาท คิดเป็น 48-56% และจะมีการเปลี่ยนรุ่นพันธบัตรรัฐบาล ประมาณ 1.4 แสนล้านบาท คิดเป็น 6% มีการออกตั๋งเงินคลัง 5.4 แสนล้านบาท คิดเป็น 23% การออก P/N และเทอมโลน ประมาณ 3.9-5.9 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 16-25% และในส่วนของการออกพันธบัตรออมทรัพย์อีก 1.5 แสนล้านบาท คิดเป็น 6%

“เราไม่ได้ปิดกั้นการกู้เงินจากแหล่งเงินต่างประเทศ ได้มีการเปิดช่องไว้ แต่เบื้องต้นจะใช้แหล่งเงินกู้จากในประเทศเป็นหลัก พร้อมกับดูสถานการณ์หากเห็นสัญญาณตลาดพันธบัตรในประเทศเริ่มตึงตัว ก็จะใช้แหล่งเงินจากต่างประเทศ ขณะนี้ก็มีหลายหน่วยงานและสถาบันการเงินของต่างประเทศมาเสนอเงื่อนไขการกู้เงินที่น่าสนใจ ซึ่ง สบน.อาจใช้รูปแบบการออกพันธบัตรในต่างประเทศ ในส่วนของการกู้เงินภายใต้ พ.ร.บ.หนี้ ในโครงการลงทุน เช่น โครงการลงทุนสนามบินอู่ตะเภา” ผอ.สบน. กล่าว

 

แพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการ สบน.

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังเตรียมออกพันธบัตร ออมทรัพย์รุ่น “ออมไปด้วยกัน” วงเงิน 80,000 ล้านบาทในช่วงวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้  เพื่อใช้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณ และจะออกเพิ่มอีก 70,000 ล้านบาทในช่วงเดือน พฤษภาคม-กันยายน 2565 เพื่อให้เป็นไปตามแผนการออกพันธบัตรออมทรัพย์ทั้งปีงบประมาณ 65 ที่ตั้งไว้ที่ 150,000 ล้านบาท

 

ขณะที่ความคืบหน้า การกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ล่าสุด คณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติกู้เงินแล้ว 2.37 แสนล้านบาท โดย สบน. มีการกู้เงินแล้ว 1.4 แสนล้านบาท เบิกจ่ายไป 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการทยอยกู้เงินตามความต้องการใช้เงิน เช่น โครงการคนละครึ่ง และอื่นๆ ทำให้วงเงินคงเหลือภายใต้ พ.ร.ก. ดังกล่าวที่รัฐบาลยังอนุมัติได้อีกประมาณ 2.63 แสนล้านบาท ส่วนรัฐบาลมีแผนจะออก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มอีกหรือไม่นั้น ผอ.สบน.ระบุแค่ว่า ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล