สบน. ชี้ ยังมีเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านเยียวยาปัญหาโควิด-19

12 ก.ค. 2564 | 11:09 น.

สบน. เผย พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านใกล้เต็มวงเงินแล้ว แต่ยังมี พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทสำหรับเยียวยาผลกระทบโควิด-19 ชี้หลักการต้องใช้เงินเก่าที่มีให้หมดก่อน และหากต้องการออกกฎหมายกู้เงินเพิ่ม จะต้องดูความจำเป็นและหลักเกณฑ์การใช้เงินที่ชัดเจน

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า คลังยังมีแหล่งเงินกู้เพียงพอ หากรัฐบาลมีนโยบายออกมาตรการเยียวยาหรือฟื้นฟูเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยปัจจุบัน พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ได้อนุมัติกรอบวงเงินใกล้เต็มแล้วเหลืออยู่อีกเพียงเล็กน้อย และยังมีเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน ฉบับใหม่ 5 แสนล้านบาท ที่สามารถนำมาใช้เยียวยาได้  ส่วนจะมีการกู้เงินออกมาใช้เท่าไรในช่วงนี้ รวมถึงจะมีการปรับวงเงินจากโครงการที่ยังไม่ใช้จ่ายจาก พ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาทมาใช้เยียวยาหรือไม่ ยังต้องรอดูนโยบายและแผนใช้เงินสำหรับเยียวยาที่ชัดเจนอีกครั้ง

ส่วนความจำเป็นต้องออกกฎหมายกู้เงินฉบับใหม่เพิ่มเติมอีกหรือไม่นั้น หากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 มีความยืดเยื้อ ผอ.สบน. กล่าวว่า ประเด็นนี้จะเป็นเรื่องระดับรัฐบาลหรือระดับนโยบายเป็นผู้พิจารณา แต่ทั้งนี้ตามหลักการ หากเงินเก่ามีอยู่ก็จะต้องใช้ไปก่อน และหากจะออกกฎหมายกู้เงินฉบับใหม่ จะต้องมีหลักเกณฑ์ความจำเป็นและแผนการนำเงินไปใช้ที่ชัดเจน

แพตริเซีย มงคลวนิช ผอ.สบน.

รายงานข่าวจากเว็บไซต์ Thaime พบว่า  ปัจจุบัน ครม. ได้อนุมัติโครงการใช้จ่ายเงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทไปแล้วจำนวน 287 โครงการ วงเงินรวมกว่า 980,828.23 ล้านบาท หรือคิดเป็น 98% โดยยังเหลือวงเงินที่ยังไม่ได้อนุมัติประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้

งบด้านสาธารณสุขวงเงิน 45,000ล้านบาท อนุมัติไปแล้ว 44,478 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายจริงไปแล้ว 11,623 ล้านบาท งบโครงการช่วยเหลือ เยียวยาประชาชน วงเงิน 701,238 ล้านบาท อนุมัติไปแล้ว 690,136 ล้านบาท เบิกจ่ายจริงไปแล้ว 634,194 ล้านบาท และโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ วงเงิน 253,762 ล้านบาท อนุมัติไปแล้ว 246,212 ล้านบาท และเบิกจ่ายจริงไปแล้ว 71,144 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมวงเงินที่เหลือกับ พ.ร.ก.กู้เงินฉบับใหม่ 5 แสนล้านบาท เท่ากับรัฐบาลจะมีเงินสำหรับใช้เยียวยาประมาณ 5.19 แสนล้านบาท ส่วนระดับหนี้สาธารณะต่อจีพีดี คาดว่าในสิ้นปีงบ 64 ยังอยู่ที่ 57.94% ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่กำหนดไม่เกิน 60%

ขณะที่การเปิดจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น ยิ่งออมยิ่งได้ วงเงิน 50,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในส่วนของ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อนำไปใช้บรรเทาผลกระทบและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด นางแพตริเซีย กล่าวว่า ในส่วนการขายผ่านวอลเล็ต สบม. บนแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง วงเงิน 10,000 ล้านบาท ได้ขายหมดไปตั้งแต่เมื่อ 5 ก.ค.64  โดยใช้เวลาเพียง 2.45 ชั่วโมง ส่วนการขายผ่าน 4 ธนาคารตัวแทนจำหน่าย  ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ อีก 40,000 ล้านบาท ซึ่งเริ่มขายวันแรก 12 ก.ค. 64 ยังคงมีวงเงินเหลืออยู่เล็กน้อย