อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “แข็งค่า” ที่ระดับ 33.30 บาท/ดอลลาร์

28 ต.ค. 2564 | 00:46 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท “แข็งค่า”ปัจจัยที่จะหนุนขึ้นกับ แรงขายทำกำไรทองคำ แนวต้านสำคัญอยู่ในโซน 33.40-33.50 บาท/ดอลลาร์ ส่วนแนวรับอยู่โซน 32.90-33.00 บาทต่อดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.30 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่า”ขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.35 บาทต่อดอลลาร์มองกรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.20-33.40 บาท/ดอลลาร์

 

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า บรรยากาศการลงทุนที่เริ่มกลับมาไม่ค่อยสดใส อาจกดดันตลาดเอเชียและกดดันให้ เงินบาทอาจผันผวนในด้านอ่อนค่า จากแรงขายทำกำไรหุ้นไทยโดยนักลงทุนต่างชาติ

 

ขณะที่เงินดอลลาร์ก็ยังคงได้แรงหนุนในฝั่งแข็งค่าจากภาวะระมัดระวังตัวของตลาด ทำให้ ปัจจัยที่จะหนุนการแข็งค่าเงินบาทจะขึ้นกับ แรงขายทำกำไรทองคำ ซึ่งเราคาดว่าผู้เล่นต่างรอคอยที่จะขายทำกำไร หากราคาทองคำปรับตัวขึ้นใกล้แนวต้านแถว 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์

 

ทั้งนี้ แนวต้านสำคัญของเงินบาทยังอยู่ในโซน 33.40-33.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ผู้ส่งออกบางส่วนต่างรอขายเงินดอลลาร์อยู่ ส่วนผู้นำเข้าบางส่วนก็รอทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทแข็งค่าขึ้น ทำให้ เงินบาทยังมีแนวรับสำคัญที่โซน 32.90-33.00 บาทต่อดอลลาร์

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.20-33.40 บาท/ดอลลาร์

 

แม้ว่า งบการเงินของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีกว่าคาดจะช่วยพยุงบรรยากาศการลงทุน แต่ผู้เล่นในตลาดการเงินเริ่มกลับมากังวลแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจ รวมถึงปัญหาเงินเฟ้อเร่งตัวและอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด จนอาจทำให้บรรดาธนาคารกลางต้องใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเร็วขึ้น ดังจะเห็นได้จากการที่ส่วนต่างระหว่างบอนด์ยีลด์ 30ปี สหรัฐฯ กับ บอนด์ยีลด์ 5ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลง (Flattening Yields Curve)

 

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลกับแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเร็วกว่าคาดของบรรดาธนาคารกลางเพื่อรับมือกับปัญหาเงินเฟ้อ หลังล่าสุด ธนาคารกลางแคนาดา (BOC) ก็เป็นอีกหนึ่งธนาคารกลางที่ใช้ส่งสัญญาณนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น เพื่อจัดการปัญหาเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง โดย BOC ได้ประกาศยุติการทำคิวอีและส่งสัญญาณพร้อมทยอยขึ้นดอกเบี้ยได้ในปีหน้า ซึ่งตลาดคาดว่าจะเริ่มเห็นการขึ้นดอกเบี้ยของ BOC ได้ในช่วงกลางปี 2022

 

 ภาพตลาดที่เริ่มระมัดระวังตัวมากขึ้น ส่งผลให้ผู้เล่นบางส่วนเลือกที่จะขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงออกมาบ้าง กดดันให้ในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนี S&P500 ย่อตัวลง -0.51% จากจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดตลาด +0.02% หนุนโดยผลประกอบการของบรรดาหุ้นเทคฯ อาทิ Microsoft, Google ที่ยังคงขยายตัวได้ดี ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX50 ย่อตัวลงเล็กน้อย -0.07% ตามแรงขายทำกำไร โดยหุ้นกลุ่มธนาคาร Santander -2.9%, Intesa Sanpaolo -1.2% ซึ่งเราคาดว่าผู้เล่นในตลาดยุโรปต่างรอคอยการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันนี้ ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนสถานะถือครองสินทรัพย์ที่ชัดเจนอีกครั้ง

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ทั่วโลกต่างเผชิญความผันผวนหนัก หลังผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลปัญหาเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นและอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด จนอาจทำให้ธนาคารกลางต้องใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น โดยในฝั่งตลาดบอนด์แคนาดาที่ บอนด์ยีลด์ 2ปี ปรับตัวขึ้นกว่า 20bps แตะระดับ 1.08% หลัง BOC ยุติการทำคิวอีและส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า

 

ส่วนตลาดบอนด์อังกฤษ บอนด์ยีลด์ 10ปี อังกฤษก็ปรับตัวลงกว่า 13bps สู่ระดับ 0.96% หลังรัฐบาลอังกฤษปรับประมาณการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจดีขึ้นและมองว่าอาจมีการออกบอนด์น้อยลง ซึ่งการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์อังกฤษ รวมถึงภาวะระมัดระวังตัวของผู้เล่นในตลาด ยังได้ช่วยหนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลง 7bps สู่ระดับ 1.54%

 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ตามการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ แต่เงินดอลลาร์ยังคงได้แรงหนุนจากภาวะระมัดระวังตัวของตลาด ทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 93.90 จุด ทั้งนี้ การย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ และการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ได้ช่วยให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง ซึ่งเราคาดว่าจะเริ่มเห็นผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรทองคำออกมาบ้าง

 

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะโตเพียง +2.8% จากที่โตกว่า +6.7% ในไตรมาสที่ 2 โดยการชะลอลงของเศรษฐกิจมาจากปัญหาการระบาดที่รุนแรงในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งตลาดก็คาดว่า เศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวได้ดีขึ้น หลังสถานการณ์ระบาดเริ่มดีขึ้น

 

ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดจะรอผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยในการประชุมครั้งนี้ ตลาดมองว่า ECB จะคงอัตราดอกเบี้ย Deposit Facility Rate ไว้ที่ระดับ -0.50% และคงปริมาณการทำคิวอีตามเดิม เพื่อช่วยหนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ตลาดจะจับตามุมมองของ ECB ต่อภาพการฟื้นตัวเศรษฐกิจและการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงอย่างปัญหาเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นและอาจอยู่ในระดับสูงได้นานกว่าคาด ซึ่งนักวิเคราะห์ต่างมองว่า ECB จะประกาศแผนปรับการทำคิวอีอย่างชัดเจนในการประชุมเดือนธันวาคม หลังรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจใหม่ก่อน โดย ECB อาจจะพยายามปรับให้การทำคิวอีทยอยลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อลดผลกระทบต่อตลาดการเงินและเศรษฐกิจโดยรวม

 

และในฝั่งเอเชีย ตลาดประเมินว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะยังคงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป เพื่อช่วยพยุงการฟื้นตัวเศรษฐกิจ โดยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ -0.10% พร้อมคงการทำคิวอีและตรึงบอนด์ยีลด์ 10ปี ไว้ที่ระดับ 0.00% ทั้งนี้ นโยบายการเงินของ BOJ ที่ดูจะผ่อนคลายมากกว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่เริ่มจะทยอยลดคิวอี จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ค่าเงินเยน (JPY) ทรงตัวในกรอบ 113 เยนต่อดอลลาร์ได้ แม้เงินดอลลาร์อาจอ่อนค่าลงมาบ้างในบางจังหวะ

 

ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับ 33.28-33.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 33.37 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยแม้เงินบาทจะฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วน หลังเงินดอลลาร์ฯ มีปัจจัยลบจากข้อมูลยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนที่ออกมาแย่กว่าที่คาด และยีลด์ระยะยาวของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลง แต่กรอบการแข็งค่าของเงินบาทระหว่างวัน รวมถึงภาพรวมของสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชียอาจเป็นไปอย่างจำกัดเนื่องจากตลาดยังคงรอติดตามประเด็นความเปราะบางของตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีน และผลการประชุมนโยบายการเงินของ ECB และ BOJ อย่างใกล้ชิด

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 33.20-33.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ของจีน ทิศทางเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ และสถานการณ์โควิดในประเทศ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2564 (ครั้งที่ 1) และยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายเดือนก.ย. ของสหรัฐฯ