บ้านล้านหลัง ผ่อนคงที่นาน 7 ปี ลุ้นครม.ไฟเขียว

03 ก.ย. 2564 | 08:48 น.

ธอส.ลุ้น “บ้านล้านหลัง” เสนอครม.สัปดาห์หน้า ชูเงินงวดผ่อนคงที่นาน 7 ปีช่วยกลุ่มเปราะบางมีบ้าน ค่ายกรุงศรีจับมือโครงการพันธมิตรกระตุ้นกำลังซื้อกลุ่มไพร์ม และ LGBTQ เชื่อมั่นดีมานด์สูง

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2 ปี 2564 พบว่า ขยายตัวชะลอลงเล็กน้อยที่ 3.7% จากช่วงเดียว กันของปีก่อน (YoY) เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2563 ที่่ขยายตัว 3.8%  จากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ที่ขยายตัวลดลง ส่วนหนึ่งจากการเร่งใช้สินเชื่อในช่วงเดียวกันของปีก่อน ประกอบกับการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ที่เพิ่มขึ้นถึง 7.0% ในไตรมาสนี้ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าขยายตัวเพียง 1.2%

 

ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวที่ 5.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียว กันของปีก่อน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 5.3% โดยหลักๆ มาจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ยังคงขยายตัวได้ดีตามอุปสงค์ต่อที่อยู่อาศัยแนวราบที่ยังปรับเพิ่มขึ้น โดยมียอดคงค้างของสินเชื่อที่อยู่อาศัย ณ ไตรมาส 2 ปี 2564 ทั้งสิ้น 4.3 ล้านล้านบาท

 

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคาร อาคารสงเคราะห์(ธอส.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ความต้องการสินเชื่อที่อยู่อาศัยในช่วงที่เหลือหลังจากนี้ไปอีก 4 เดือน เริ่มเห็นสัญญาณบวก จากการที่คนเริ่มตื่นตัวไม่กลัวโรคโควิด-19 และปรับตัวให้อยู่กับโควิด-19 และจำนวนวัคซีนที่จะเข้ามามากขึ้น

ฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคาร อาคารสงเคราะห์(ธอส.)

ขณะเดียวกันนโยบายรัฐเริ่มจะเห็นผล ทำให้ความเชื่อมั่นกลับมา โดยกำลังซื้อที่เข้ามาในบ้านระดับราคา 3-7 ล้าน และราคา 3-10 ล้านบาท แต่ระดับราคา 3 ล้านบาทลงมา ยังได้รับผลกระทบ ดังนั้นด้วยคุณภาพของกำลังซื้อที่เข้ามาน้อย ทำให้ยอด การปฎิเสธสินเชื่อน้อยลงด้วย

 

สำหรับ “โครงการบ้านล้านหลัง” เพื่อรองรับกับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยคาดว่า จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ค.ร.ม.) ประมาณสัปดาห์หน้า เพื่อออกมาช่วยกลุ่มเปราะบาง ได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ด้วยเงื่อนไขผ่อนชำระในอัตราดอกเบี้ยคงที่นานถึง 7 ปี ดังนั้น ผู้กู้ไม่ต้องกังวลต่อภาระที่จะปรับเพิ่ม เพราะสามารถจะกำหนดค่าใช้จ่ายล่วงหน้าได้นาน

ยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัย

“ในมุมของธอส.ตัวเลข 8 เดือน สามารถปล่อยสินเชื่อได้สูงกว่าเป้าหมาย ด้วยปัจจัยดอกเบี้ยต่ำ ผู้ประกอบการลดราคา ซึ่งคนที่ไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สามารถเข้ามาซื้อในตลาดที่อยู่อาศัย เพราะได้ของถูกและมั่นใจว่า ทั้งปียอดปล่อยสินเชื่อจะเป็นไปตามเป้าหมายปล่อยสินเชื่อใหม่ปีนี้ที่ 215,641 ล้านบาท” นายฉัตรชัยกล่าว

 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาธอส.ได้เสนอต่อโครงการ “บ้านล้านหลัง” พร้อมปรับเงื่อนไข โดยขยายกรอบวงเงินจากเดิม 5 หมื่นล้านบาทเป็นปีละ 1.2 หมื่นล้านบาท ขยายระยะเวลาโครงการอีก 3 ปี (2565-2567) จากเดิมที่จะสิ้นสุดปีนี้ และลดดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำกว่า 3% คงที่ 3 ปี

นายณัฐพล ลือพร้อมชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร กรุงศรีอยุธยากล่าวว่า ช่วงที่เหลือของปี ธนาคารจับมือโครงการ-ดีเวลลอปเปอร์พันธมิตรเสนอแคมเปญพิเศษสำหรับลูกค้ากลุ่มไพร์ม ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพเติบโตสูง โดยลูกค้า “กรุงศรีไพรม์” มีเงินฝาก และเงินลงทุนตั้งแต่ 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 5 ล้านบาท ซึ่งกำหนดจัดสัมมนาปิดในเดือนกันยายนนี้ เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจร่วมกับดีเวลลอปเปอร์

ณัฐพล ลือพร้อมชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา

 

ขณะเดียวกันธนาคารยังเน้นทำตลาดกลุ่มเพศทางเลือก (LGBTQ) โดยแนวทางการทำตลาดของธนาคารจะเลือกกระตุ้นกำลังซื้อที่มีดีมานด์สูง โดยไม่ต้องการกระตุ้นความต้องกรที่จะสร้างปัญหาตามมาในอนาคต

 

“ภาพรวมสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ทั้งปีนี้คาดว่ าจะติดลบ 10%บวกลบช่วง 8-12% แนวโน้มดอกเบี้ยต่ำแต่ละแบงก์เสนออัตราแข่งขันใกล้เคียงกัน ไม่มีใครถอยค่อนข้างจะติดฟลอ เช่น บ้านใหม่โครงการใหญ่ดอกเบี้ยคงที่เฉลี่ยจะวิ่ง 2.5% โครงการเล็กจะอยู่ที่ 3.5% ขึ้นไป ซึ่งลูกค้าจะตัดสินใจเลือกจากแบงก์ที่ให้บริการเร็ว เพราะราคาต่างกันไม่ถึง 10 สตางค์ ฉะนั้น ถ้าใครมีความพร้อมช่วงนี้เป็นจังหวะเหมาะที่จะขอสินเชื่อเพื่อซื้อบ้าน” นายณัฐพลกล่าว

 

ส่วนแนวโน้มยังเป็นที่อยู่อาศัยในกลุ่มแนวราบ (บ้านเดี่ยว,ทาวน์เฮ้าส์) ส่วนคอนโดฯ เป็นช่วงปรับฐานระบายสต็อก ซึ่งผู้ประกอบการเสนอราคาปรับลดลงค่อนข้างมาก แม้ว่าครึ่งปีมูลค่าการโอนปรับลดลง แต่ในพื้นที่กรุงเทพ ยังกระจุกตัวในแนวราบ มูลค่าโอนเพิ่ม 7.5% แต่จำนวนยูนิตติดลบ 8.7 % ขณะที่จังหวัดใหญ่ เช่น นนทบุรี และปทุมธานี ซึ่งเป็นแหล่งรวมแนวราบทั้ง มูลค่าโอนและจำนวนยูนิตยังเพิ่ม

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,710 วันที่ 2 - 4 กันยายน พ.ศ. 2564