อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “อ่อนค่า” ที่ระดับ 33.32 บาท/ดอลลาร์

19 ส.ค. 2564 | 00:24 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทแนวโน้มแกว่งตัวผันผวนจากโฟลว์ผู้ส่งออกบางส่วนทยอยขายดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์การขายทำกำไร Shorts ค่าเงินบาทของผู้เล่นในตลาด

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.32 บาทต่อดอลลาร์"อ่อนค่า"ลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.30 บาทต่อดอลลาร์

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์   นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงระหว่างวัน เราอาจจะเห็นค่าเงินบาทแกว่งตัวผันผวนจากโฟลว์การทำธุรกรรมของผู้ส่งออกบางส่วนที่กลับเข้ามาทยอยขายเงินดอลลาร์ได้ รวมถึงโฟลว์การขายทำกำไร Shorts ค่าเงินบาทของผู้เล่นในตลาด หลังจากที่ผู้เล่นบางส่วนเริ่มมองว่า สถานการณ์การระบาดในไทยใกล้จะถึงจุดเลวร้ายสุด

 

อย่างไรก็ดี เราคงมองว่าค่าเงินบาทยังมีโอกาสผันผวนและอ่อนค่าลงจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 รวมถึงโมเมนตัมขาขึ้นของเงินดอลลาร์ที่ยังมีอยู่จากทั้งความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย และแนวโน้มการทยอยลดคิวอีในปีนี้ของเฟด

 

ทั้งนี้ แนวต้านของค่าเงินบาทยังคงอยู่ในโซน 33.40-33.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเชื่อว่า ผู้ส่งออกส่วนใหญ่ต่างรอคอยที่โซนดังกล่าวเพื่อทยอยขายเงินดอลลาร์ ขณะที่ แนวรับสำคัญของเงินบาทจะอยู่ในช่วง 33 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งอาจเห็นผู้นำเข้า ทยอยเข้ามาซื้อเงินดอลลาร์ได้ หากระหว่างวันค่าเงินบาทมีการแข็งค่าเข้าใกล้โซนดังกล่าว (Buy on Dip)

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.25-33.40 บาท/ดอลลาร์

 

ตลาดการเงินโดยรวมยังคงถูกกดดันจากทั้งความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 และล่าสุด แนวโน้มเฟดทยอยลดคิวอีในปีนี้ หลังรายงานการประชุมเฟดล่าสุดได้ระบุว่า กรรมการส่วนใหญ่ต่างเห็นชอบให้เริ่มการปรับลดการอัดฉีดสภาพคล่องหรือคิวอีในปีนี้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจได้ฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องตามเป้าหมายของเฟด โดยเฉพาะเป้าหมายด้านเงินเฟ้อที่กรรมการเฟดต่างมองว่าได้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวแล้ว ส่วนเป้าหมายการจ้างงานก็ปรับตัวดีขึ้นใกล้จะถึงระดับที่น่าพอใจ

 

บรรยากาศการลงทุนที่กลับมาอยู่ในโหมดปิดรับความเสี่ยงของตลาด ส่งผลให้ในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดเดินหน้าขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงออกมา กดดันให้ ดัชนี Downjones และ ดัชนี S&P500 ปิดตลาดลดลงกว่า -1.1% ขณะเดียวกัน ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ก็เผชิญแรงกดดันจากความกังวลเฟดทยอยลดคิวอี ส่งผลให้ ดัชนี Nasdaq ก็ปิดตลาด -0.9%

 

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ย่อตัวลงกว่า -0.17% ตามแรงขายทำกำไร หุ้นในกลุ่ม Cyclical อาทิ กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย Louis Vuitton -5.2%, Kerings -3.6%, L’Oreal -1.7% กลุ่มยานยนต์ Daimler -1.2%, Volkswagen -1.1%, BMW -0.7%

 

ทางด้านตลาดบอนด์ แม้ว่าบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวขึ้นถึงระดับ 1.29% ในช่วงเฟดเปิดเผยรายงานการประชุมล่าสุด ทว่า ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด จากความกังวลเฟดทยอยลดคิวอีในปีนี้ รวมถึง ความกังวลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หลัง COVID-19 ยังคงระบาดหนักในหลายพื้นที่ ยังคงกดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาย่อตัวลงใกล้ระดับ 1.26%

 

 

 

 

ทั้งนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจจะรอช่วงปลายเดือนสิงหาคม ที่เฟดจะมีงานสัมมนาวิชาการ Jackson Hole symposium เพื่อจับตาสัญญาณเกี่ยวกับการปรับลดการทำคิวอีในงานสัมมนาดังกล่าว ทำให้บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ มีโอกาสแกว่งตัวในกรอบต่อในระยะสั้น ก่อนจะถึงช่วงงานสัมมนาดังกล่าว และอาจมีทิศทางที่ชัดเจนขึ้น หากเฟดมีการส่งสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางการปรับลดคิวอี

 

ส่วนในฝั่งตลาดค่าเงิน โดยรวมเงินดอลลาร์ยังคงได้รับแรงหนุนจากความต้องการหลุมหลบภัยความผันผวนในตลาด (Safe Haven asset) ส่งผลให้เงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) เดินหน้าปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 93.22 จุด กดดันให้ สกุลเงินหลัก อาทิ เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.17 ดอลลาร์ต่อยูโร ซึ่งเรามองว่า เงินยูโรที่ระดับดังกล่าว เริ่มมีความน่าสนใจมากขึ้น เนื่องจากปัญหาการระบาดของเดลต้าในยุโรปไม่ได้มีความน่ากังวลมากนัก และเศรษฐกิจก็พร้อมจะกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้น

 

สำหรับวันนี้ ตลาดจะติดตามแนวโน้มสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก โดยในฝั่งประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อย่าง สหรัฐฯ และ จีน เนื่องจากสถานการณ์การระบาดที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น อาจกดดันให้ตลาดเข้าสู่สภาวะปิดรับความเสี่ยง ซึ่งภาพดังกล่าวอาจยิ่งหนุนให้ผู้เล่นในตลาดเพิ่มสถานะถือครองเงินดอลลาร์เพื่อหลบความผันผวนชั่วคราวได้

 

นอกเหนือจากประเด็นสถานการณ์การระบาดของเดลต้าทั่วโลก ในฝั่งสหรัฐฯ ตลาดจะจับตาสัญญาณการฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ที่คาดว่าจะมีแนวโน้มปรับตัวลดลงสู่ระดับ 3.8 แสนราย สอดคล้องกับมุมมองของเฟดที่ระบุว่า การจ้างงานมีพัฒนาการที่ดีขึ้นจนใกล้ถึงระดับที่เฟดพอใจ ซึ่งเรามองว่า ตลาดจะติดตามการรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่จะสะท้อนถึงภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด เนื่องจากตลาดแรงงานเป็นอีกปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจปรับลดคิวอีของเฟด

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท "อ่อนค่า"มาเคลื่อนไหวที่ระดับ 33.30-33.39 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (ล่าสุด 33.37 บาทต่อดอลลาร์ฯ ณ 9.37 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดวันก่อนหน้าที่ 33.29 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทอ่อนค่าลง ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนจากบันทึกการประชุมเฟด ซึ่งมีการหารือในเรื่องจังหวะการถอยจากมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน โดยกรรมการเฟดส่วนใหญ่ประเมินว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและตลาดแรงงานสหรัฐฯ กำลังฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งเนื้อหาจากบันทึกการประชุมเฟด ทำให้ตลาดตีความว่า หากแนวโน้มเศรษฐกิจยังมีความต่อเนื่องก็อาจเห็นเฟดเริ่มลดวงเงินซื้อสินทรัพย์ของมาตรการ QE ภายในปีนี้ 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 33.30-33.45 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยติดตาม ยังอยู่ที่สถานการณ์โควิดในประเทศ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน และผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย